โบรกชี้ ‘กำไร’กลุ่มปตท.โค้ง3ฟื้น 'ธุรกิจโรงกลั่น-ก๊าซธรรมชาติ'หนุน

โบรกชี้ ‘กำไร’กลุ่มปตท.โค้ง3ฟื้น   'ธุรกิจโรงกลั่น-ก๊าซธรรมชาติ'หนุน

“ปตท.” ไตรมาส2/66 กำไร 2.01 หมื่นล้าน ลดลง48% และบริษัทย่อย 6 บ.กำไรวูบ70%อยู่ที่ 1.73 หมื่นล้าน จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุธุรกิจปิโตรเคมีทรุด ราคาน้ำมันดิ่ง ส่งผลขาดทุนสต็อก “บล.กสิกรไทย-บล.หยวนต้า” คาดไตรมาส3ฟื้น  แรงหนุนธุรกิจโรงกลั่น-ก๊าซฯ-ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้น

บริษัทย่อยในกลุ่มปตท.ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 ออกมาครบแล้ว ประกอบด้วย บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) , บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) , บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) , บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) , บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) รวมมีกำไรสุทธิ 17,385.25 ล้านบาท ลดลง70.23% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 58,389.39 ล้านบาท และ ลดลง38.59% เมื่อเทียบกับไตรมาส1ปี 2566

โบรกชี้ ‘กำไร’กลุ่มปตท.โค้ง3ฟื้น   \'ธุรกิจโรงกลั่น-ก๊าซธรรมชาติ\'หนุน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนบมจ.ปตท. (PTT)แจ้งว่าไตรมาส2ปี 2566 PTT มีกำไรสุทธิ 20,106.88 ล้านบาท ลดลง 48.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 38,842.76 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น  ซึ่งธุรกิจการกลั่นมีผลการดำเนินงานลดลงจากผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันซึ่งไตรมาสนี้กลุ่มปตท.มีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน ประมาณ 4,000 ล้านบาท ,กำไรขั้นต้นจากการกลั่น(Market GRM) ลดลงจาก 21.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เร เป็น 4.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

รวมถึงผลดำเนินงานธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวลดลงโดยหลักจากกลุ่มโอเลฟินส์จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับลดลง ขณะที่กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานลดลงตามรายได้จากการขายที่ลดลง กลุ่มธุรกิจอื่นๆ มีผลการดำเนินงานลดลงจากการจำหน่ายธุรกิจถ่านหิน กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก รวมถึงกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีผลการดำเนินงานลดลงเช่นกัน 

 

 นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงโดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯที่มีราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีในตลาดที่ใช้อ้างอิงแม้ว่าปริมาณการขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจท่อส่งก๊าซฯลดลงจากการปรับอัตราค่าผ่านท่อ

สำหรับในไตรมาส 3 ปี 2566 ปตท.คาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 77 - 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากไตรมาส2 ปี 2566 น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 77.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอิงสิงคโปร์ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5.0 - 6.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความต้องการซื้อสินค้าปลายทางของผู้บริโภคที่ คาดว่าจะยังคงอ่อนแอ ประกอบกับราคาแนฟทาที่ยังคงปรับตัวลด

อย่างไรก็ตามศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจาก ไตรมาส2ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าคาดว่าจะยังคงหดตัวตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก 

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาล ใหม่ที่ล่าช้าอาจกระทบความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและการลงทุน ตลอดจนการใช้จ่ายภาครัฐในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัว ของเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดจากผลของการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ เข้มงวดของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักและสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง สงครามระหว่างรัสเซียและ ยูเครนที่ยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง ตลอดจนภาวะภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า งบไตรมาส 2 ปี2566 บริษัทลูกของปตท. ที่ออกมาดีกว่าคาด คือ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ในขณะที่บริษัทลูกของปตลท.ออกมาแย่กว่าคาด คือ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แต่ผลกระทบหักกลบกัน เชื่อ บมจ.ปตท.(PTT )ที่จะออกมาน่าจะเป็นไปตามคาด 

สำหรับมุมมองไตรมาส 3 ปีนี้ มองว่า ปรับตัวดีขึ้นจากบริษัทลูกในกลุ่มโรงกลั่นที่ค่าการกลั่นดีขึ้น และมีกำไรสต๊อกน้ำมัน อีกทั้ง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ PTT เองก็ปรับดีขึ้นตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ทยอยปรับลดลงตามราคา LNG ในตลาดโลก แต่ไตรมาส 4 เชื่อว่าอาจอ่อนตัวลงบ้างจากกำไรสต๊อกที่หายไป แต่กำไรปกติน่าจะทรงตัวในระดับสูงตามปัจจัยฤดูกาล

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ‌กล่าวว่า กลุ่มปตท.ประกาศงบไตรมาส 2 ปี2566 ทุกตัวใกล้เคียงที่คาดไว้ รวมถึงปตท.

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 3 ปีนี้ มองว่า ธุรกิจโรงกลั่น น่าจะยังปรับตัวดีขึ้น จากราคาค่าการกลั่นเริ่มปรับตัวขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมานี้ ทำให้มีความน่าสนใจในการลงทุนระยะ 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี ยังไม่ฟื้นตัวจากราคาน้ำมันที่ยังมีปัจจัยกดดันจากสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด