OR เผยไตรมาส 2/66 กำไร 2.75 พันล้าน เหตุราคาน้ำมันลด ‘ธุรกิจ Lifestyle- Global’ โต

OR เผยไตรมาส 2/66 กำไร 2.75 พันล้าน เหตุราคาน้ำมันลด ‘ธุรกิจ Lifestyle- Global’ โต

OR เผยไตรมาส 2 ปี 66 กำไรสุทธิ 2.75 พันล้าน ลดลง 58% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังราคาจำหน่ายน้ำมันลดตามความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่ “กลุ่มธุรกิจ Lifestyle - Global” เติบโตเด่นทั้งค้าปลีก - อาหาร - เครื่องดื่ม

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า มีกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ที่ 2,756.46 ล้านบาท ลดลง 58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,567.81 ล้านบาท

เนื่องจากมีรายได้ขายและบริการ 187,708 ล้านบาท ลดลง 9,706 ล้านบาท (-4.9%) จากไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักจากราคาจำหน่ายน้ำมันที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกจากความกังวลต่อการเกิดสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้ไตรมาสนี้รายได้ขาย และบริการของกลุ่มธุรกิจ Mobility ลดลง 6.2% โดยมีปริมาณจำหน่ายรวมลดลง 1.4% จากตลาดพาณิชย์

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้น 5.9%โดยเพิ่มขึ้นจากปริมาณจำหน่ายของทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหาร และเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Global ก็ปรับเพิ่มขึ้น 14.9% ตามปริมาณจำหน่ายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ โดยรวม 29.4%

โดย EBITDA ใน 2Q/66 มีจำนวน 5,210 ล้านบาท ลดลง 717 ล้านบาท (-12.1%) เมื่อเทียบกับ 1Q/66 โดยลดลงจากกลุ่มธุรกิจ Mobility จากภาพรวมกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่อ่อนตัวลง โดยหลักจากน้ำมันอากาศยานที่ปรับลดลง สำหรับกลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้นจากทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหาร และเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ

สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global เพิ่มขึ้นจากภาพรวมกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจำหน่าย โดยหลักจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยภาพรวมของค่าใช้จ่ายดำเนินงานสุทธิเพิ่มขึ้น (+11.9%) จากการลดลงของรายได้อื่นโดยหลักจาก PTT Group Supply Chain Collaboration สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน (Share of gain from investments) อ่อนตัวลง โดยในไตรมาสนี้แม้ว่าจะมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์จะมีกำไรเพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับผลดำเนินงานงวด 6 เดือน OR มีกำไรสุทธิจำนวน 5,732 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4,681 ล้านบาท (-45.0%) โดยหลักจากรายได้ขาย และบริการ และ EBITDA ที่ลดลง 3,600 ล้านบาท และ 5,570 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยหลักเป็นผลมาจากราคาจำหน่ายน้ำมันที่ลดลง ซึ่งสวนทางกับปริมาณขายน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน สำหรับกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรของกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global ปรับลดลง รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสุทธิเพิ่มขึ้น 10.9% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้างบุคคลภายนอก และค่าส่งเสริมการขาย

สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปี 66 โดยเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อการจ้างงานรวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากที่หดตัวในช่วงปลายปี 2565

สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ด้าน อัตราเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทานจากค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในกรอบ 2-4% ในไตรมาสนี้ตามการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจส่งผ่านไปสู่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ที่มีความไม่แน่นอน และตลาดการเงินโลกที่ผันผวน

 เศรษฐกิจโลก ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อุปสงค์โลกที่ลดลงจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและต้นทุนของภาคธุรกิจ ราคาพลังงานโลกยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น และการฟื้นตัวในภาคการผลิตของจีนที่ช้ากว่าคาด ท่ามกลางความพยายามในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมของกลุ่ม OPEC+ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เริ่มก่อให้เกิดผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คาดการณ์การขยายตัวที่ 2.4% ใน 2Q/66จาก 1Q/66 ที่ขยายตัว 2.0%

โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคที่ยังแข็งแกร่ง การใช้จ่ายภาครัฐ และภาคเอกชนขยายตัว เศรษฐกิจจีน 2Q/66 ฟื้นตัวดี GDP ขยายตัว 6.3%ขยายตัวเร็วขึ้นจากระดับ 4.5% ใน1Q/66 แต่ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในตลาดที่ทยอยฟื้นตัวอุปทานการผลิตยังคงเพิ่มขึ้น การจ้างงานและราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปทรงตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์