BCP เผยไตรมาส 2/66 กำไรสุทธิวูบเหลือ 458.06 ล้าน เหตุค่าการกลั่นลดลง

BCP เผยไตรมาส 2/66 กำไรสุทธิวูบเหลือ 458.06 ล้าน เหตุค่าการกลั่นลดลง

BCP เผยไตรมาส 2 ปี 66 กำไรสุทธิ 458.06 ล้านบาท ลดลง 91% เหตุจากค่าการกลั่นลดลง งวด 6 เดือน กำไร 3,199 ล้านบาท ลุ้นฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ตามค่าการกลั่น และราคาน้ำมันที่ซัพพลายเริ่มตึงตัว

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า มีกำไรสุทธิ 458.06 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,276.22 ล้านบาท ลดลง 91.32% งวด 6 เดือน ปี 66 มีกำไรสุทธิ 3,199.05 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,632.54 ล้านบาท ลดลง 66.78%

โดยในครึ่งแรกของปี 2566 แม้ต้องเผชิญกับความท้าทาย และได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในครึ่งแรกของปี 2566 อยู่ที่ 78.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจาก 102.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในครึ่งปีแรกของปี 2565 และมี Inventory Loss จำนวน 2,952 ล้านบาท กลุ่มบริษัทบางจากยังสามารถรักษาผลการดำเนินงาน และทำรายได้ต่อเนื่อง โดยบริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขาย และการให้บริการ 148,403 ล้านบาท คิดเป็น EBITDA 17,620 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น และการค้าน้ำมัน มี EBITDA รวม 5,402 ล้านบาท จากค่าการกลั่นพื้นฐาน (Operating GRM) ปรับลดลงจาก 15.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในครึ่งแรกของปี 2565 มาอยู่ที่ 8.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สาเหตุหลักมาจาก Crack Spread ของทุกผลิตภัณฑ์ปรับลดลงตามภาวะตลาดโลก โดยในครึ่งแรกของปีมีการรับรู้ Inventory Loss 3.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือเทียบเท่า 2,443 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ยังคงอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยที่สูงในระดับ 121,700 บาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 101 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น

กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA รวม 1,290 ล้านบาท โดยค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถปรับราคาขายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุนน้ำมันได้มากขึ้น ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 3,191 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของน้ำมันอากาศยาน รวมถึงการผลักดันยอดจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA รวม 1,841 ล้านบาท โดยหลักเป็นผลจากการทยอยสิ้นสุด Adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ และการรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป. ลาว ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการหยุดผลิตไฟฟ้าเพื่อเตรียมขายไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม ทั้งนี้ BCPG ได้มีการประกาศเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 4 โครงการในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เพิ่มกำลังการผลิตจาก 390.7 เมกะวัตต์เป็น 968.7 เมกะวัตต์

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 245 ล้านบาท โดยธุรกิจผลิต และจำหน่ายไบโอดีเซลมีกำไรขั้นต้นปรับลดลงจากราคาขายไบโอดีเซล กลีเซอรีนดิบ และกลีเซอรีนบริสุทธิ์ที่อ่อนตัว ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลมีรายได้จากการขาย และกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากราคาขายเอทานอลเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Products (HVP) มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวกับการดูแล และส่งเสริมสุขภาพภายใต้แบรนด์ B nature+

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA รวม 9,115 ล้านบาท ปริมาณจำหน่ายของ OKEA เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 93 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณจำหน่ายน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลวที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายมากกว่ากำลังการผลิตตามสัญญาอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 1 ของปี 2566 และการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มครึ่งแรกของปี 2566 จากแหล่งผลิตที่รับโอนกิจการมาจาก Wintershall Dea ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและให้บริการ 68,023 ล้านบาท EBITDA 6,628 ล้านบาท มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 458 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.24 บาท โดยในไตรมาส 2 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันได้รับปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์ที่ปรับลดลงต่อเนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกถูกกดดัน และมีอุปทานส่วนเกินล้นตลาด ส่งผลให้มี Inventory Loss 1,036 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติมีปริมาณการผลิตใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปี 2566 แต่ปริมาณจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายมากกว่ากำลังการผลิตตามสัญญาอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นมีปริมาณการจำหน่ายสูงขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศ สปป.ลาว ได้เริ่มดำเนินการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในเดือนมิถุนายน 2566

กลุ่มบริษัทบางจากได้จัดทำโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” รับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วที่ปั๊มบางจาก และจุดรับซื้อต่างๆ เพื่อมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วรายแรก และรายเดียวในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สะท้อนรูปธรรมที่ชัดเจนของการดำเนินงานตามแผน BCP 316 NET เพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2593

สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นจากสภาวะอุปทานในตลาดตึงตัว และอุปสงค์น้ำมันจากจีนที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3 ของปี 2566 ค่าการกลั่นของโรงกลั่นประเภท Cracking ที่สิงคโปร์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปีตามปัจจัยหนุนจากตลาดน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น

โดยบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และติดตาม และประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการบริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และการทำงาน

ทั้งนี้ ตามที่บริษัทได้ประกาศเข้าซื้อหุ้นในบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จากบริษัท ExxonMobil Asia Holding Pte. Ltd. ขณะนี้บริษัทได้รับความเห็นชอบแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้รวมธุรกิจเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินการรวมธุรกิจ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566

เมื่อการทำธุรกรรมเสร็จสิ้น จะเป็นการช่วยเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจน้ำมันให้กับกลุ่มบริษัทบางจาก ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลดีต่อประเทศ ทั้งการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน และส่งต่อประโยชน์สู่ทั้งคู่ค้า และผู้บริโภค

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์