เส้นทาง ‘ชนินทร์’ โอนเงินพันล้าน คดีหุ้น STARK สะเทือนถึง ‘เครดิต สวิส’

เส้นทาง ‘ชนินทร์’ โอนเงินพันล้าน คดีหุ้น STARK สะเทือนถึง ‘เครดิต สวิส’

เปิดเส้นทางโอนเงิน “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตบอร์ด STARK คดีมหกรรมฉ้อโกงนับหมื่นล้าน พบโอนเงินกว่า 1.4 พันล้านบาท ผ่านบัญชี “เครดิต สวิส” เริ่มทยอยโยกออกตั้งแต่เดือนมี.ค.ช่วงที่ผู้สอบบัญชีเริ่มสงสัยงบการเงิน 

ดูเหมือนว่าคดี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่กำลังจะกลายเป็น “มหกรรมฉ้อโกง” ผู้ลงทุนครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ “วงการตลาดทุน” เท่านั้น

เพราะจากหลักฐานที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้มา คงต้องตั้งคำถามดังๆ ไปยัง “แวดวงการเงิน” โดยเฉพาะองค์กรกำกับดูแลอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่าทำไมจึงปล่อยให้มีเงินจำนวนมากถูกโอนออกนอกประเทศในนามของ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงเงินจาก STARK นับพันล้านบาท โดยที่เงินจำนวนนี้ถูกโอนออกจากสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง “เครดิต สวิส” จึงเป็นอีกบริษัทที่ควรต้องตอบคำถามกับสังคม

หลักฐานที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้มาพบว่า มีเงินจำนวนกว่า 41.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,400 ล้านบาท ถูกโอนออกจากบัญชีของ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตประธานบอร์ด STARK ในช่วงระหว่างเดือนมี.ค.-มิ.ย.2566 ซึ่งเป็นการโอนออกจากบัญชีธนาคารเครดิต สวิส เลขที่บัญชี 37049

เท่าที่ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจได้ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของบัญชีนี้ พบข้อสงสัยมากมาย เพราะนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2565 ไปจนถึงเดือนก.พ.2566 บัญชีนี้แทบไม่มีการเคลื่อนไหวหรือมีธุรกรรมการเงินใดๆ เกิดขึ้น

จนกระทั่งเดือนมี.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้สอบบัญชีเริ่มพบพิรุธในงบการเงินของ STARK จนบริษัทต้องเลื่อนกำหนดการส่งงบการเงินปี 2565 ออกไป ก็พบว่า บัญชีนี้เริ่มมีการโอนเงินออกนอกประเทศอย่างผิดปกติ

- เดือน มี.ค.2566 มียอดโอนเงินออกรวม 19,010,596 ดอลลาร์ หรือประมาณ 646.4 ล้านบาท

- เดือน เม.ย.2566 มียอดเงินโอนออกรวม 8,000,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 272 ล้านบาท

- เดือน พ.ค.2566 มียอดเงินโอนออกรวม 13,085,136 ดอลลาร์ หรือประมาณ 444.9 ล้านบาท

- เดือน มิ.ย.2566 มียอดเงินโอนออกรวม 1,501,154 ดอลลาร์ หรือประมาณ 51 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าว กลายเป็นคำถามว่าทำไม เครดิต สวิส สถาบันการเงินระดับโลกจึงยอมให้มีการโอนเงินจำนวนมากออกนอกประเทศทั้งที่ช่วงเวลาดังกล่าว STARK กำลังเป็นคดีดังที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมในเรื่องการฉ้อโกง และยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริหารของ STARK ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) แล้วด้วย

ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจึงยอมปล่อยให้มีเงินจำนวนมากถูกโอนออกจากบัญชีของผู้กระทำผิดไปยังต่างประเทศจำนวนมากเช่นนี้

แหล่งข่าวรายหนึ่งในแวดวงสถาบันการเงิน ตั้งคำถามกับทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจว่า การโอนเงินจำนวนมากท่ามกลางข้อครหาจากสังคมเกี่ยวกับคดีทุจริต สะท้อนว่าหน่วยงาน คอมไพลอันซ์ ของธนาคาร ซึ่งต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสถาบันการเงินมีความประมาทเลินเล่อหรือบกพร่องต่อการทำหน้าที่ของตัวเองหรือไม่

ประเด็นที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นคำถามที่นำไปสู่ระบบการทำงานของทั้งแวดวงตลาดทุนและตลาดเงินว่า ทำไมทั้ง ก.ล.ต. ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน และ ธปท. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน จึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมาได้ ที่สำคัญคดีฉ้อโกงใน STARK มีมูลค่ารวมกันหลายหมื่นล้านบาท มีผู้เสียหายนับหมื่นคน และกำลังส่งผลเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจไทยด้วย

สำหรับความคืบหน้าคดี STARK ล่าสุด DSI ได้ออกหมายจับผู้ต้องหารวม 3 ราย คือ 1.นายชนินทร์ ซึ่งได้หนีออกนอกประเทศไปแล้ว 2.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และ 3.นางสาวยศบวร อำมฤต ซึ่งทั้ง นายศรัทธา และ นางสาวยศบวร ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แต่ปฎิเสธทุกข้อกล่าวหาและมีการขอประกันตัวออกไป

ส่วนในสัปดาห์นี้ทาง DSI ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 3 ราย คือ 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าป่วยซึ่งมีหนังสือรับรองแพทย์มาแสดง 2.นายชินวัฒน์ อัศวโภคี และ 3.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม