ล้วงกลยุทธ์ ‘มาสเตอร์’ โต ตุนเงินสด 2 พันล. จ่อปิดดีลพันธมิตรเพิ่มฐานลูกค้า

ล้วงกลยุทธ์ ‘มาสเตอร์’ โต ตุนเงินสด 2 พันล. จ่อปิดดีลพันธมิตรเพิ่มฐานลูกค้า

ล้วงกลยุทธ์ “มาสเตอร์ สไตล์” เติบโต สะท้อนผ่านกระแสเงินสดในมือ 2 พันล้าน พร้อมจ่อปิดดีล “พันธมิตรใหม่” หวังเพิ่มฐานลูกค้า มั่นใจปีนี้รายได้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 40% หนุนประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ ผลักดันธุรกิจศัลยกรรมโต

ในปัจจุบันอุตสาหกรรม “ศัลยกรรมเสริมความงาม” กลายเป็นเรื่องที่ “เข้าถึงง่าย” สอดคล้องกับทิศทางของอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของคลินิกเสริมความงามมากมาย และรายล้อมอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ด้วยพฤติกรรมของคนที่เริ่มหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพ และสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อรูปลักษณ์ และความงามมายิ่งขึ้น ! 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมศัลยกรรมก็ต้องมาคู่ “มาตรฐานความปลอดภัย” ดังจะเห็นจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) ที่มีการขอจัดตั้งสถานพยาบาลแห่งใหม่ หรือ กรณีขอเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการสถานพยาบาลเพิ่มบริการห้องผ่าตัด ให้สามารถกระทำได้เฉพาะ “ห้องผ่าตัดเล็ก” หลังเกิดเหตุเสียชีวิตจากการทำศัลยกรรม... 

ดังนั้น ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ ! กำลังบอกกลายๆ ว่า การทำศัลยกรรมอะไรก็ตามที่ต้องมีการดมยา , การผ่าตัดที่ใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงขึ้นไป จะต้องดำเนินการใน “ห้องผ่าตัดใหญ่” เท่านั้น นั่นก็แปลว่าจะต้องทำในระดับ “โรงพยาบาล !!”  

“นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ เนื่องจากมองว่าจะเป็นการช่วย “ยกระดับอุตสาหกรรมศัลยกรรม” ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงขึ้น... ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพใหญ่ และยังสร้างความเชื่อมั่นทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติ สะท้อนผ่านปัจจุบันลูกค้ากลุ่มประเทศในกลุ่มอาเซียนนิยมเข้ามาทำศัลยกรรมในไทย 

โดยภาพในอนาคต “คลินิกขนาดเล็ก” ก็จะต้องขยับตัวขึ้นมาเป็นระดับโรงพยาบาล ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวกำลังส่งผลดีต่อ “มาสเตอร์ สไตล์” เนื่องจากคลินิกหรือโรงพยาบาลขนาดเล็กจะต้องปรับตัวขึ้นมาเป็นโรงพยาบาล 4 ส่วนที่ต้องมีประกอบด้วย “เงินลงทุน-การบริหารจัดการต้นทุน-เครื่องจักรหาเงิน (แพทย์)-ทีมการตลาด” 

สารพัดปัจจัยดังกล่าวเป็น “จุดแข็ง” ที่ มาสเตอร์ สไตล์ มีพร้อม... ซึ่งถือเป็นจุดดึงดูดให้มี “พันธมิตร” แสดงความสนใจอยากร่วมทุนด้วย สะท้อนผ่านยุทธศาสตร์ปี 2566 บริษัทอยู่ระหว่างสะสมขุมกำลังทางธุรกิจผ่านการขยายเครือข่ายธุรกิจแบบลงทุนเติบโตในธุรกิจเดิม (Organic Growth) และ ร่วมกับพันธมิตรเติบโต (Inorganic Growth) 

ดังนั้น เกมธุรกิจจากนี้สเต็ปต่อไปจะเป็นเกมการเติบโตทั้งธุรกิจเดิม และการเติบโตเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือร่วมลงทุน (JV) เพื่อให้เกิดการ Synergy (ผนึกกำลัง) เพื่อสร้างการโตพร้อมกับเพื่อนใหม่ !! โดยมองเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ที่จะสร้างความแข็งแกร่งไปด้วยกัน 

สำหรับเป้าหมายของการเข้าลงทุนร่วมกับพันธมิตรใหม่ แบ่งกลยุทธ์ออกเป็น “3 กลุ่ม” คือ 1.Cross-selling เป็นการลงทุนในกิจการที่ทำธุรกิจเหมือนกัน หรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งผลประโยชน์จากการควบรวมแบบนี้คือ เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลดคู่แข่ง รวมไปถึงการเกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และเพื่อให้เกิดจากการแชร์เทคโนโลยี ทรัพยากร และบุคลากรร่วมกัน 

2.Cross-border เป็นการลงทุนที่มีโลเคชั่นต่างกัน และเป็นธุรกิจที่เป็นเจ้าตลาดในพื้นที่นั้น โดยมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและมีชื่อเสียงในพื้นที่ดังกล่าว และ 3.Cross-Synergy เป็นการลงทุนในธุรกิจที่มีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เดียวกัน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และจัดการกระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้น  

ดังนั้น การจะใช้เงินลงทุนอะไรบริษัทจะต้องมีทีมงานที่คอยดูในรายละเอียดก่อนตัดสินใจเข้าลงทุนเสมอ ซึ่งการตัดสินใจลงทุนจะดูว่า การเข้าไปลงทุนไม่ใช่แค่การสร้างกระแสข่าว แต่เป็นการเข้าไปลงทุนต้องได้สิ่งที่ดีจริงๆ และโฟกัสลงทุนแล้วสร้างรายได้และการเติบโตให้ธุรกิจได้ และที่สำคัญต้องเป็นธุรกิจที่ดีและเจ้าของมีความตั้งใจทำให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง 

สะท้อนผ่านการเข้าลงทุนในเข้าซื้อหุ้น บริษัท มีแพลนดี จำกัด (มีแพลนดี) ผู้ดำเนินกิจการคลินิกเสริมความงามภายใต้ชื่อ “WIND Clinic” ในสัดส่วน 40% โดยคาดดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าลงทุนจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2566 และล่าสุด เข้าลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (Term Sheet) กับ บริษัท แอดวานซ์ เมดิคอล คลินิก จำกัด , นายแพทย์สุทธิพงษ์ ตรีรัตน์ และแพทย์หญิงรัตตินันท์ ตรีรัตน์ เพื่อเข้าลงทุนในกิจการคลินิกเสริมความงาม ภายใต้ชื่อ “Rattinan Medical Center” เงินลงทุน 70 ล้านบาท

โดยการเข้าถือหุ้น ในสัดส่วน 20% วงเงินประมาณ 38.85 ล้านบาท และให้เงินกู้ยืมอีก 31.15 ล้านบาท ซึ่งมีข้อตกลงให้บริษัทมีสิทธิขอแปลงหนี้เป็นทุนได้ โดยรวมแล้วบริษัทจะถือหุ้นใน Rattinan ไม่เกิน 36%

บริษัทมีแผนการใช้เงินเพื่อไปใช้ในการขยายกิจการ Rattinan ให้เป็น “โรงพยาบาลศัลยกรรม” ที่มีทำเลอยู่ใกล้โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เพียง 100 เมตร ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งอนาคตจะเปลี่ยนชื่อเป็น “เดอะวัน ฮอสพิทอล” 

ล้วงกลยุทธ์ ‘มาสเตอร์’ โต ตุนเงินสด 2 พันล. จ่อปิดดีลพันธมิตรเพิ่มฐานลูกค้า

“นายแพทย์ระวีวัฒน์” บอกต่อว่า หลังจากบริษัทระดมทุนในตลาดหุ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือระดับ 2,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมวงเงินกู้จากธนาคาร (แบงก์) ที่ยังไม่ได้ใช้ และเครื่องมือระดมทุนต่างๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทรับปากกับผู้ถือหุ้นไว้ว่า 

“เราจะไม่ใช้เงินแบบลูกคนรวย แต่เราจะทำงานหนักแบบลูกคนจนที่ทำงานตลอดเวลาประหนึ่งเหมือนคนติดหนี้”

โดยปัจจุบันบริษัทมีการใช้เงินจากไอพีโอในการลงทุนขยายห้องผ่าตัด ซึ่งตอนนี้ห้องผ่าตัดที่ลงทุนมากกว่าที่แจ้งไว้ในไฟลิ่ง 10 ห้อง รวมทั้งขยายพื้นที่จอดรถยนต์เพิ่ม มีการขยายพื้นที่ในแต่ละแผนกเพิ่มขึ้นจากเดิม 300 ตารางเมตร กลายเป็น 600 ตารางเมตร และสร้างอาคารใหม่เพิ่ม โดยอาคารดังกล่าวจะเพิ่มแผนกผู้ชาย และแผนกทำตาสองชั้น

สำหรับ ในปีนี้บริษัทยังคงเป้ารายได้เติบโต “ระดับ 40%” หลังเพิ่มห้องผ่าตัดสำหรับทำศัลยกรรมจำนวนมากกว่า 10 ห้อง เพิ่มเตียงผู้ป่วยในสำหรับค้างคืน เพิ่มเตียงพักฟื้นซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดิม รวมทั้งยังมีรายได้เพิ่มจากการเข้าลงทุนในคลินิกใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา 

ท้ายสุด “หมอระวีวัฒน์” บอกไว้ว่า ในปีนี้เป็นปีของการลงทุน ซึ่งจะเห็นเราจะสามารถปิดดีลลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง แต่ในปีหน้าคงจะเป็นปีของการเก็บเกี่ยวสิ่งที่บริษัทเข้าลงทุนไปแล้ว ดังนั้น จะส่งผลมายังผลประกอบการปีหน้าจะเติบโตมากกว่าในปีนี้อย่างแน่นอน