'DSI' เร่งสางคดี STARK พบแล้วเส้นทางเงินหุ้นกู้ -เพิ่มทุน "หาย" หมื่นล้าน

'DSI' เร่งสางคดี STARK  พบแล้วเส้นทางเงินหุ้นกู้ -เพิ่มทุน "หาย" หมื่นล้าน

ตะลึง “เส้นทางเงิน” STARK ฮุบหุ้นกู้ – PP 14,037 ล้าน ปล่อยกู้ “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” 10,297 ล้าน ทำเนียนกระจายเงินสร้างหลักฐานปลอมลูกหนี้ – เจ้าหนี้ ผ่าน “เอเชีย แปซิฟิกฯ” และ “ไทย เคเบิ้ล” เพื่อผ่องถ่ายเงินออกไป จนสุดท้ายจนแต้มเหลือเงินติดบัญชี 485 ล้าน ไม่พอซื้อ LEONI จนต้องล้มดีล

   

      มหากาพย์การ "ทุจริต" และ "ผ่องถ่ายเงิน"  บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ในเชิงลึกยังต้องรอข้อเท็จจริงจากผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (extended-scope special audit) รายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  หรือ ก.ล.ต. ปรากฎ STARK ได้เลื่อนการส่งข้อมูลออกไปจาก 17 ก.ค. 2566 เป็น 29 ก.ย 2566  

    เรื่องดังกล่าว "กรุงเทพธุรกิจ" ได้เปิดเผยเส้นทางการทำธุรกรรมปกปิดและผ่องถ่ายเงินออกไปผ่านช่องทาง บริษัทย่อย หรือ Non Stark ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)  และ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (APDE)  ซึ่งทั้งหมด ก.ล.ต. ได้อายัดทรัพย์สินไว้เป็นเวลา 180 วัน

     โดยเฉพาะ”เฟ้ลปส์ ดอด์จ” เป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม STARK  ดำเนินการโยกเงินในบัญชีของ ”เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ที่มี 10,297 ล้านบาทออกไป   ผ่านการจัดทำรายการปลอมชำระหนี้ค่าสั่งซื้อวัตถุดิบให้กับ 3 ราย  คือ คู่ค้าที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ,คู่ค้าที่ ประเทศญี่ปุ่น และ คู่ค้าที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่มีทำธุรกรรมดังกล่าว

      เงินดังกล่าวได้ถูกนำไปเข้า “เอเชีย แปซิฟิก ฯ”  หลังจากนั้นมีการเบิกเงินออก  7,423 ล้านบาท  กลับไปเข้าบัญชีธนาคารของ ”เฟ้ลปส์ ดอด์จ” อีกทีโดยไม่มีการธุรกรรมกันจริง แต่ทำรายการปลอมว่าเป็นการชำระจากลูกหนี้การค้า 12 ราย ที่สั่งซื้อสินค้าและยังค้างชำระเงินอยู่

     ขณะที่เงินใน “เอเชีย แปซิฟิก ฯ”   อีก 2,478 ล้านบาท  นำเข้าบัญชี “ไทย เคเบิ้ลฯ“  เพื่อดำเนินการนำเงินดังกล่าวโอนกลับไปยัง ”เฟ้ลปส์ ดอด์จ ฯ” พร้อมระบุว่าเป็นรายการลูกหนี้การค้า 2 รายที่สั่งซื้อสินค้าและยังค้างชำระเงินอยู่ ระบุว่าเป็น  “ไทย เคเบิ้ลฯ“ และคู่ค้าอีก 1 ราย   

      และสุดท้ายเงินก้อนที่เหลือใน “เอเชีย แปซิฟิก ฯ” อีก 947 ล้านบาท เข้าบัญชีส่วนตัวผู้กระทำการและผู้มีส่วนรู้เห็น

เส้นทางเงินดังกล่าวมีการกระทำในช่วง  6 -30 ธ.ค. 2565  ด้วยการทำรายการโยกเงินออกจากบัญชีธนาคาร ”เฟ้ลปส์ ดอด์จ ฯ” ไปยัง “เอเชีย แปซิฟิก ฯ” จำนวน 48 ครั้ง   และได้มีการเตรียมกันด้วยการลงนามอนุมัติให้ขยายวงเงินในการเบิก - ถอน บัญชี  “เอเชีย แปซิฟิก ฯ” จากไม่เกินวันละ 5 ล้านบาทเป็นวันละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

        “เอเชีย แปซิฟิก ฯ” มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ  “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” และมีกรรมการบริษัท 2 ราย หนึ่งในนั้นคือ “ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ”

        \'DSI\' เร่งสางคดี STARK  พบแล้วเส้นทางเงินหุ้นกู้ -เพิ่มทุน \"หาย\" หมื่นล้าน

       เมื่อย้อนไปยังเส้นทางการเงินของ  ”เฟ้ลปส์ ดอด์จ”  พบว่าได้รับเงินผ่านการให้กู้จาก STARK เองหลายครั้งรวมจำนวน 10,930 ล้านบาท   และ  STARK  นำไปไปชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้และหนี้อื่นๆ จำนวน 1,736 ล้านบาท  

       เนื่องจาก  STARK ได้รับเงินจากการระดมทุนออกหุ้นกู้และหุ้นเพิ่มทุน จากสถาบันการเงินและประชาชนรวม  14,037 ล้านบาท  แบ่งเป็นเดือนพ.ค. 2565  ได้เงิน 4,523 ล้านบาท  พ.ย. 2565 ได้เงิน 3,934 ล้านบาท  และหุ้นเพิ่มทุน (PP) 5,580 ล้านบาท  

        ตามวัตถุประสงค์จากการระดมทุนในครั้งนี้ STARK ต้องกันเงินในบัญชีดังกล่าวไว้เฉพาะเพื่อนำไปซื้อกิจการ LEONI Kabel GmbH ซึ่งเป็นบริษัทในเยอรมนี และ LEONIsche Holding Inc ที่เป็นบริษัทในรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐ ผู้ผลิตสายไฟสำหรับรถยนต์และสายไฟสำหรับ EV Charging Solutions มูลค่าการซื้อขายรวม 560 ล้านยูโร หรือราว 20,588.90 ล้านบาท กลายเป็นว่าเงินดังกล่าวภายใต้บัญชี STARK ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 เหลืออยู่เพียงแค่ 485 ล้านบาท

       ด้วยเม็ดเงินดังกล่าวทำให้การเข้าซื้อ LEONI มูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท  จึงเป็นไปไม่ได้แล้วทำให้มีการประกาศยกเลิกดีล LEONI เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2565

       นอกจากเส้นทางการเงินแล้วด้านการถือครองหุ้น STARK มีนัยสำคัญ เนื่องจาก “วนรัชต์” มีการขายหุ้นออกไป 3 ครั้งเพื่อเพิ่มฟลีโฟลต  ครั้งที่1จำนวน 402 ล้านหุ้น  (พ.ค. 2563)  ครั้งที่ 2 จำวน2250 ล้านหุ้น ( 28 ต.ค. 2563) และครั้งที่ 3  จำนวน 952 ล้านหุ้น (17 มี.ค. 2564 )    และยังมีการถือหุ้นผ่าน Stark Investment  Corporation  ,Credit  Suisse AG และ Mr.  Vonnarat  Tang karavakoon

       เช่นเดียวกับ  “ชนินทร์ เย็นสุดใจ”  เป็นประธานกรรมการบริษัท และ ประธานกรรมการบริหาร STARK มีการถือครองหุ้นผ่าน Credit  Suisse   แต่มีการขายและนำเงินออกจากบัญชีปี 2565

        โดยเดือนมี.ค. นำเงินจากการขายออกไปจากบัญชี 19 ล้านดอลลาร์  เดือน เม.ย. นำเงินออกจากบัญชี 8 ล้านดอลลาร์  เดือน พ.ค. นำเงินออกจากบัญชี 13 ล้านดอลลาร์ และเดือนมิ.ย. นำเงินออกจากบัญชี  1.5 ล้านดอลลาร์  และเหลือมูลล่าหุ้น STARK ที่ 6 ล้านดอลลาร์

        แหล่งข่าวใกล้ชิดกับหนึ่งในผู้ถูกกล่าวโทษ  “ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ”  คาดการณ์ว่าทาง STARK ได้ดำเนินการฟ้องร้อง “ชนินทร์”  “ศรัทธา” และพวก  ถึงการดำเนินการทุจริตและฉ้อฉล  แต่ไม่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น  เมื่อดูตามเส้นทางการเงินดังกล่าวพบกว่ามีการนำเงินเข้ามาในบริษัทและกระจายไปยัง Non Stark   9,000 กว่าล้านบาท  กลับไม่มีเส้นทางการเงินออกไป

        ขณะที่เงินเกือบ 1,000 ล้านบาท  ที่มีการทุจริมีเส้นทางเอาเงินออกไป ซึ่งตามปกติวิสัยของการกระทำทุจริตย่อมต้องหวังผลก้อนใหญ่ ไม่ใช้ ผลตอบแทนเล็กน้อย จึงมองว่าเป็นการกระทำรู้เห็นของหลายบุคคล

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะเปิดแถลงความคืบหน้าคดีหุ้นสตาร์ค ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดการกระทำผิดด้วย