PHG มั่นใจเทรดวันแรกราคายืนเหนือจอง 21 บาท พร้อมชูพื้นฐานธุรกิจแกร่งโตเด่น

PHG มั่นใจเทรดวันแรกราคายืนเหนือจอง 21 บาท พร้อมชูพื้นฐานธุรกิจแกร่งโตเด่น

“แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป” มั่นใจเทรดวันแรก (6 ก.ค.) ยืนเหนือราคาจอง 21 บาท ชูพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง-โอกาสเติบโตโดดเด่น เผยผู้ถือหุ้นเดิมขาย "บิ๊กล็อก" ให้บุคคล-สถาบันตามไฟลิ่งเท่าราคา IPO สะท้อนความแกร่ง

นายรณชิต แย้มสอาด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค.66) หุ้น PHG เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะสามารถยืนเหนือราคาจอง 21 บาทต่อหุ้น เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนน่าจะดี เพราะว่าปัจจัยบวกในประเทศในเรื่องของการเมืองเริ่มมีความชัดเจน และกำลังเดินหน้าตามกระบวนการ สะท้อนจากการเลือกประธานสภาแล้ว และต่อไปก็จะเลือกนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และโอกาสในการเติบโตในอนาคต เนื่องจากธุรกิจของบริษัทเป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์ ดังนั้น บริษัทก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องในการเข้าทำการซื้อขายวันแรก

“เรามีความพร้อมในทุกด้านสำหรับการนำ PHG เข้าซื้อขายพรุ่งนี้วันแรก ในราคา 21 บาท จำนวน 54 ล้านหุ้น ซึ่งจากกระบวนการต่าง ๆ ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน”

สำหรับ โครงสร้างรายได้ของ PHG มีความแข็งแกร่งมาจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ 51.17% ซึ่งประกอบไปด้วยลูกค้าเงินสด ลูกค้าที่ใช้สิทธิประกัน และลูกค้าคู่สัญญาและรายได้จากกลุ่มลูกค้าภายใต้สวัสดิการภาครัฐที่ 48.17% โดยหลักๆ ประกอบไปด้วยลูกค้าในโครงการประกันสังคม ถือว่ามีโครงสร้างรายได้ที่มีความมั่นคง และถ่วงดุลที่ดีจากทั้งสองกลุ่มลูกค้า ซึ่งภายหลังจากการเสนอขาย IPO แล้วนั้น PHG จะสามารถเพิ่มศักยภาพ และสร้างโอกาสในการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ PHG เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในจังหวัดปทุมธานี และได้รับความนิยมอันดับต้นๆ มีศูนย์โรคหัวใจ 24 ชั่วโมง และเป็นรพ.เอกชนแห่งเดียวที่เป็นศูนย์รับส่งต่อการทำหัตถการรักษาหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวนระดับ 1 ของ สปสช. เขต 4 ซึ่งวัตถุประสงค์ในการระดมทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ของ PHG จะช่วย เพิ่มศักยภาพการให้บริการรักษาผู้ป่วย OPDและ IPD, ศูนย์ฟอกไต, เพิ่มโควต้าสปส. และขยายศูนย์แพทย์เฉพาะทางในเชิงลึกครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็ง, โรคเวชกรรมฟื้นฟู และโรคทางนรีเวช ของ PHG ซึ่งจะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

โดย PHG ประกอบธุรกิจหลักคือให้บริการทางการแพทย์ภายใต้ กลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ซึ่งประกอบไปด้วย โรงพยาบาลจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแพทย์รังสิต โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 และโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต มีจำนวนเตียงจดทะเบียนรวมทั้งหมด 270 เตียง

และที่สำคัญกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิตยังมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะทางแม่และเด็ก โดยโรงพยาบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและต่อยอดศักยภาพทางการแพทย์ด้านโรคเฉพาะทางผู้สูงอายุและ โรคผู้หญิง หรือโรคทางนรีเวชกรรม อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของการรักษาแบบตติยภูมิ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการนำเงินระดมทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการช่วงปี 2566-2569 ได้แก่ 1.เพื่อเป็นเงินทุนในโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถภายในปี 2567 2.เพื่อเป็นเงินทุนในโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 1 ภายในปี 2567 3.เพื่อเป็นเงินทุนในโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 2 ภายในปี 2569

4.เพื่อเป็นเงินทุนในการซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในปี 2567 5.เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงินบางส่วนภายในปี 2566 และ 6.เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจภายในปี 2566

นายรณชิต บอกต่อว่า กรณีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 4 ราย ยืนยันที่จะทำรายการขายหุ้น PHG บิ๊กล็อตในวันแรกที่เข้าเทรดตามที่กำหนดไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) จำนวนหุ้น 29,205,000 หุ้น ในราคา 21 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับการเสนอขายหุ้น IPO ให้กับนักลงทุนทั่วไป โดยผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย ได้แก่ 1) นายกมลกฤช ตระกูลช่าง 2) นางสาวธนัญชภัสสร เศรษฐาตินันทน์ 3) นางสาวจุฑาบงกช แย้มสอาด และ 4) พญ.นลนภัส แย้มสะอาด

โดยผู้ถือหุ้นทั้ง 3 รายจะขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่นักลงทุน 5 ราย ได้แก่ (1) บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) 5% (2) นางสาวสุดา อัศวโภคิน 3.38% (3) นายสมยศ สกุลอิสริยาภรณ์ 0.47% (4) บมจ. ทิพยประกันภัย ในเครือ บมจ.ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TIPH) 0.33% และ (5) บล.ดาโอ (ประเทศไทย) 0.05% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO

หากผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ขายหุ้นให้แก่นักลงทุนไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ข้างต้น จำนวนหุ้นที่ไม่ได้ขายจะถูกจำกัดการขายโดยความสมัครใจเป็นระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันที่หุ้นสามัญเริ่มซื้อขายวันแรก (Voluntary IPO Lockup) รวมทั้งนอกจากหุ้นสามัญของผู้ถือหุ้นเดิมที่ติด Silent Period จำนวน 165,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 55% ของหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO หุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมที่เหลือ 29,854,909 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.95% จะถูก Voluntary IPO Lockup ตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน

ทั้งนี้ การขายหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 3 รายจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน โครงสร้างคณะกรรมการ และโครงสร้างการจัดการของบริษัทฯ แต่อย่างใด โดยหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว บริษัทจะยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนการใช้เงินภายหลังระดมทุน ได้แก่ สร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ 1 และอาคารจอดรถภายในปี 67, สร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 2 ภายในปี 69, เพื่อเป็นเงินทุนในการซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในปี 67, ชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนภายในปี 66 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจภายในปี 66

การเดินหน้าขยายธุรกิจถือเป็นการต่อยอดพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ รองรับการให้บริการผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่และบริการทางการแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตที่ต่อเนื่องและยั่งยืน และที่สำคัญคือการตอกย้ำการเป็นสถานพยาบาลเอกชนชั้นนำที่ให้บริการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง