ผันผวนสูง

ผันผวนสูง

สภาวะการณ์ลงทุนในเดือน มิ.ย. เรียกง่ายๆ ลุ่มๆดอนๆ หรือจะปรับให้เป็นภาษาทางการหน่อย คือผันผวนครับ โดยส่วนใหญ่ที่สร้างความผันผวนยังเป็นเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่มีโอกาสสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นได้ตลอดทั้งปีครับ

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศต้องยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่า ปากกาหักหมดตั้งแต่คิดว่าจะมี Election rally ก็ผิดกันหมดแล้วละครับ พอข้ามเดือนมารัฐบาลตามโผที่ว่าค่อนข้างชัวร์ด้วยจำนวน ส.ส. เกิน 300 คน ดูยังไม่ลงตัวนัก รวมไปถึงเศรษฐกิจไทยที่ดูเหมือนจะดีจากการท่องเที่ยวแต่การส่งออกที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยก็เริ่มออกอาการไม่ค่อยจะดีนักซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก รายละเอียดยังไง เรามาคุยกันทีละประเด็นครับ

ภาพรวมในช่วงต้นเดือน ก็ดูอารมณ์ดีหลังสหรัฐฯบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯชะลอตัวลงต่อเนื่องทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่คลายความกังวล และคาดหวังว่าเฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างถาวรในไตรมาสถัดไป รวมทั้งความเสี่ยงต่อสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจน่าจะถูกเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า

 

ทั้งหมดก็เป็นไปตามตัวเลขเศรษกิจที่ประกาศออกมาช่วงต้นเดือนกับปลายเดือนที่ผ่านมา โดยรวมแล้วถือว่าออกมาค่อนข้างดีทำให้มีการปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปีนี้เพิ่มขี้นเป็น 1% ผมมองว่าโดยโมเมนตัมขนาดนี้รวมทั้งระดับราคาพลังงานที่ปรับตัวลงผมก็ว่าคงมีโอกาสได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯได้อีกในไตรมาสถัดไป

ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้น 4.3% ในเดือน มิ.ย.(ถึง 28 มิ.ย.) โดยดัชนีรายภูมิภาคต่างปรับตัวขึ้น ได้แก่ ดัชนี MSCI Asia ex Japan ขึ้น 2.7%, MSCI Europe ขึ้น 0.9%, และ MSCI USA เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 0.31% เป็น 4.71% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น .07% เป็น 3.71% ส่งผลให้ ส่วนต่างระหว่าง พันฐบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี มีส่วนต่างเพิ่มขึ้นเป็น 1.0% จากเดือนก่อนที่ 0.76% 

สะท้อนว่าผู้ลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดพันธบัตรประเมินความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจากการที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 0.50% ซึ่งตลาดทองคำก็ตอบรับในทิศทางเดียวกันโดยราคาทองคำปรับตัวลดลง 2.6% เป็น 1,907 ดอลลาร์ต่อออนซ์

มาที่ประเทศไทยครับ ประเด็นหลักตอนนี้คือความกังวลต่อความล่าช้าของการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่ดูเหมือนจะไม่เป็นมิตรต่อตลาดทุน ภาพเศรษฐกิจถูกกระทบจากการลดลงของการส่งออก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยกดดันภาวะการลงทุนโดยเฉพาะ ตลาดหุ้นไทย เดือน มิ.ย. ตลาดหุ้นไทยทำจุดต่ำสุดที่ 1,466.93 จุด ปรับตัวลง -4.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ก่อนที่จะปรับตัวกลับขึ้นมาปิด เหนือระดับ 1,500 จุด ได้ในวันสุดท้ายของเดือน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 1.2% ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทยประมาณหมื่นล้านบาท และตลาดตราสารหนี้ ประมาณ หมื่นล้านบาทเช่นกัน และการที่เงินทุนไหลออกส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบ USD อ่อนค่าลง 1.4% เป็น 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยที่น่าติดตามในเดือน ก.ค. ต้องให้น้ำหนักปัจจัยในประเทศมีผลต่อนักลงทุนไทยมากกว่าเรื่องราวในต่างประเทศ นั่นคือปัจจัยทางด้านการเมือง โดยเฉพาะการนำเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจะเป็นการแถลงนโยบายของรัฐบาล ส่วนประเด็นหลักที่จะตามมาจะเป็นเรื่องของการพิจารณางบประมาณโดยเฉพาะในส่วนของการลงทุน มีความเป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนในทุกโครงการซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาใช้งบลงทุน

ยิ่งไปกว่านั้นภาวะการลงทุนในเดือน ก.ค. จะทวีความผันผวนมากขึ้นไปอีกหากการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จะทำให้ประเด็นในการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลกลับมาเป็นประเด็นหลัก ความผันผวนดังกล่าวนี้ถือเป็นเหตุให้นักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก และความผันผวนดังกล่าวอาจจะคงอยู่ไปตลอดในช่วงไตรมาสนี้ก็เป็นได้ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวผมขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อนโดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น เป็นต้น

คำแนะนำในการจัด พอร์ตการลงทุน สำหรับเดือน ก.ค. จะขอกล่าวเพิ่มว่าการจัดพอร์ตการลงทุนในครั้งนี้ได้คำนึงถึงโอกาสที่เฟด ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี และ กนง.ของเราก็น่าจะมีโอกาสขยับอัตราดอกเบี้ยตามขึ้นไปบ้าง ส่วนประเด็นเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะไม่มีตัวช่วยจากการท่องเที่ยวและการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

 การจัดพอร์ตในครั้งนี้ไม่รวมปัจจัยทางการเมืองในประเทศ หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญขอสงวนสิทธ์เปลี่ยนแปลงคำแนะนำทั้งหมดครับ พอร์ตการลงทุนลงทุนในเดือน ก.ค. น้ำหนักการลงทุนในหุ้นยังคงไว้ที่ 45% โดยแบ่งเป็น สหรัฐฯและ จีน รวมกันไม่เกิน 15% เนื่องจากประเด็นเรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้น ญี่ปุ่น คงน้ำหนักไว้ที่ 10% ประเทศไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade ประมาณ 10% ตลาดเงิน 10% ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันประมาณ 15% โดยเน้นไปที่ REIT