DSI อายัดทรัพย์ STARK แล้วกว่า100 ล้าน ลั่นอีก 2 สัปดาห์ รู้ตัวผู้กระทำความผิด

DSI อายัดทรัพย์ STARK แล้วกว่า100 ล้าน ลั่นอีก 2 สัปดาห์ รู้ตัวผู้กระทำความผิด

DSI สั่งอายัดทรัพย์ คดีSTARKแล้วกว่า 100 ล้านบาท ขีดเส้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ออกหมายจับผู้กระทำผิด  เปิดสายด่วน 1202 รับเรื่องร้องเรียนผู้เสียหาย ด้าน ก.ล.ต. กล่าวโทษ “อภิมุข-เฮียม้อ” พร้อมพวกอีก 30 คน ฐานปั่น “หุ้นมอร์” ฟันเงิน 800 ล้าน

จากมูลค่าความเสียหายกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่สูงกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เร่งดำเนินการตรวจสอบหาผู้กระทำความผิดและยึดอายัดทรัพย์สินของบริษัทกลับคืนมา        

พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบความผิดปกติงบการเงิน STARK กับกรุงเทพธุรกิจ ว่า DSI อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก หลังจากเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)  ,ตำรวจสอบสวนกลาง ,กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(ปอศ.) ในการกำหนดแนวทางดำเนินการกรณีของ STARK

โดย DSI จะเร่งขอเอกสารเพิ่มเติมจาก STARK และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเร่งพิจารณาพยานหลักฐาน เรื่องเส้นทางการเงิน เอกสารการจัดซื้อสินค้าต่างๆ ว่ามีหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ระดับไหน ซึ่งหากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ก็จะพิจารณาว่าผู้ที่กระทำผิดมีใครเกี่ยวข้องบ้าง หรือเกี่ยวข้องในระดับใด โดยทาง DSI จะดำเนินการตรวจสอบให้ครอบคลุมทั้งหมด

ทั้งนี้ได้กำหนดว่าภายใน 2  สัปดาห์จากนี้ จะต้องรู้ว่าผู้กระทำผิดมีใครบ้าง ที่อยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา หรือออกหมายจับบางส่วนก่อน

“กรณี STARK มีผู้เสียหายจำนวนมากนั้น ซึ่งเดิมจะต้องใช้เวลาตรวจสอบหลายเดือน ก่อนที่จะรับเป็นคดีพิเศษ แต่จากที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะตำรวจสอบสวนกลาง ทำให้ใช้เวลาตรวจสอบเพียง 1 เดือนเท่านั้น แล้วรับเป็นคดีพิเศษ  ซึ่งทางDSI เร่งดำเนินการแข่งกับเวลาอยู่ เพราะอยากดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด"

อายัดทรัพย์ได้แล้ว100กว่าล้าน

พ.ต.ต. สุริยา กล่าวว่า ประเด็นที่ DSI มีความกังวล คือ ทรัพย์สินของSTARKที่กลุ่มผู้กระทำผิดมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไปนั้น  ซึ่งทางDSI ได้หารือ ก.ล.ต. ว่าจากอำนาจหน้าที่ของก.ล.ต.ในการยึดอายัดทรัพย์นั้น ก.ล.ต.จะเร่งดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ซึ่งทางก.ล.ต.ให้ความร่วมมืออย่างดี ในการเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ในส่วนของ DSI ได้มีการสืบทรัพย์ และเมื่อวันที่  26 มิ.ย. 2566 นั้นได้มีการยึดอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นมูลค่า 100 กว่าล้านบาท แต่การยึดอายัดทรัพย์ภาพรวมทั้งหมดนั้นยังจะต้องเร่งสืบว่ามีทรัพย์อยู่ที่ใดบ้าง  โดยผู้ที่มีหลักฐานนั้นอยากให้เข้ามาแจ้งข้อมูลกับทาง DSI เพื่อดำเนินการอายัดทรัพย์ต่อไป 

สำหรับมูลค่าความเสียหายจากการทุจริตทรัพย์สินของSTARKเบื้องต้นอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท แต่สุดท้ายแล้วความเสียหายอยู่ที่เท่าไรนั้นยังต้องสืบสวนต่อไป ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณี STARK ทยอยเข้ามาแจ้งความเสียหายและเข้ามาเป็นพยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

เปิดสายด่วนแจ้งความเสียหาย

โดยทาง DSI ได้เปิดสายด่วน 1202 เพื่อให้ทางผู้ที่ได้รับความเสียหายกรณีของSTARK  สามารถติดต่อแจ้งความเสียหายเข้ามา ซึ่งทาง DSIก็จะให้คำแนะนำกับผู้เสียหายว่าจะต้องเตรียม หรือต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมถึงDSIจะได้ทราบว่ามีผู้เสียหายจากกรณีนี้เท่าไร 

ส่วนผู้ต้องสงสัยคดีทุจริตของSTARKนั้น ขณะนี้ทางDSI ก็ยังสามารถติดต่อได้  ซึ่งในกรณี STARK นั้นปัจจุบันผู้ต้องสงสัยยังเป็นผู้บริสุทธิ์  ยังไม่ได้กระทำผิด  ซึ่งทาง DSI นั้นเปิดโอกาส และให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องสงสัยให้เข้ามาชี้แจงข้อมูล แสดงหลักฐานต่างๆ แต่หากผู้ต้องสงสัยมีการหลบหนี ก็แสดงว่ายอมรับว่ามีการกระทำความผิด

 “จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรานั้น กรณีที่มีการทุจริตนั้น ผู้กระทำความผิดนั้นเขาตั้งใจมาโกง มีการเตรียมการมาแล้ว  และมีการโอนเงินไปต่างประเทศ ไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล กว่าเราจะรู้ผ่านมาสักระยะแล้วก็ถือว่าเป็นความท้าทายของเราในการดำเนินการตรวจสอบ”   

ก.ล.ต.กล่าวโทษ32รายปั่นหุ้นมอร์

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินการกล่าวโทษกลุ่มบุคคลรวม 18 ราย ในฐานะตัวการร่วม กรณีร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในการซื้อขายหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน)หรือ MORE ในวันที่ 10 พ.ย. 2565 อันทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์MORE ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 244/3 (1) ประกอบบทสันนิษฐานของมาตรา 244/5 และมาตรา 244/6 (แล้วแต่กรณี) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2566 นั้น

ทั้งนี้ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการกระทำความผิดเพิ่มเติม ในกรณีการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์MOREและพบข้อเท็จจริงรวมถึงพยานหลักฐานที่สนับสนุนให้เชื่อได้ว่า กลุ่มบุคคลรวม 32 ราย  ได้แก่ 1. นายอภิมุข บำรุงวงศ์  2.นายเอกภัทร พรประภา  3.นายอธิภัทร พรประภา  4.นางอรพินธุ์ พรประภา  5.นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล  6.บริษัท ตงฮั้ว แคปปิตอล จำกัด  7. บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด  8.นายสมนึก กยาวัฒนกิจ  9.นายโสภณ วราพร 

10.นายวสันต์ จาวลา 11.Mr. Shubhodeep Prasanta Das  12.นายประยูร อัสสกาญจน์  13.นางสาวจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ  14.นางสาวสุร์ศิริ ปรีดาสุทธิจิตต์  15.นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา  16.นางสาวอัยลดา ชินวัฒน์  17.นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ  18.นายมั่นคง เสถียรถิระกุล  19.นางสาวอรเก้า ไกยสิทธิ์  20.นายเกรียงศักดิ์ วงศ์โอสถพานิช  21.นางสาวสิริรัตน์ สมณาศรี  22.นายธีรพงศ์ ด่านวณิชวงศ์  23.นายวิศรุต เจียมจิตพลชัย  24.นายปรณัฐ นุชาชาติพงศ์  25.นายภูดิท สุจริตกุล  26.นายวัชรินทร์ ยังให้ผล  27.นายธนยุทธ ฤกษ์รักษา  28.นายธรรมนูญ เวชวิทยาขลัง  29.นายภัทร ฉัตรเจริญสุข 30. นายชยพล พันธุ์แพ  31.นายพิเชษฐ์ ผลสุวรรณชัย และ (32) นางศศินภา วราพร ได้ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์MOREในช่วงระหว่างวันที่ 18 ก.ค. 2565 – 10 พ.ย. 2565 

ผลประโยชน์ได้รับมูลค่า800 ล้าน 

ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว ทางเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงช่องทางและสถานที่ในการส่งคำสั่งซื้อขาย ได้แบ่งหน้าที่กันหรือตกลงร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ รวมทั้งส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน 

โดยมุ่งหมายให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์MORE ผิดไปจากสภาพปกติของตลาดอันเข้าข่ายเป็นฝ่าฝืนมาตรา 244/3 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 244/5 และมาตรา 244/6 (แล้วแต่กรณี) แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยผลประโยชน์ที่กลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งหมดได้รับหรือพึงได้รับ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 32 ราย ต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป 

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ 

ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมโดยประสานความร่วมมือกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดย บก.ปอศ. ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย