ตลาดหุ้นโหมด “เงียบกริบ” รายย่อยเวลท์หาย – รายใหญ่ทิ้งหุ้น

ตลาดหุ้นโหมด “เงียบกริบ”   รายย่อยเวลท์หาย – รายใหญ่ทิ้งหุ้น

ควันหลงการตั้งโต๊ะแถลงข่าวในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทยจาก 11 หน่วยงาน เพื่อชี้แจงการทุจริตที่เกิดขึ้นในงบการเงินปี 2564 - 2565 บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไข และปรับเกณฑ์คาดหวังให้ “เคสดังกล่าว” เป็นเคสสุดท้ายในตลาดทุนไทย

      จากการกำกับ – ดูแล และตรวจสอบตาม "มาตรฐานของแต่ละองค์กรเข้มแข็ง"  "แต่ไม่เชื่อมโยงกัน" ต่างฝ่ายต่างทำงาน ทำให้หากมีจุดไหนพลาด ทั้งจงใจจนถึงขั้นทุจริต “ระบบการเตือนภัย” จึงไม่ทำงานและหย่อนยานในการดูแลนักลงทุนรายย่อยอย่างที่เห็นในกรณี STARK

       11 หน่วยงานในตลาดทุนที่ออกหน้ามาเรียกความเชื่อมั่น ในครั้งนี้  3  หน้าที่ความรับผิดชอบ งานกำกับและตรวจสอบการซื้อขาย ภายใต้ ก.ล.ต. และ ตลท. ส่วนวิชาชีพที่หนุนทำให้ตลาดทุนเข้มแข็ง สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย – สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย – สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน – ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย

        และงานด้านการลงทุน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน  - สมาคมตลาดตราสารหนี้ และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

 จบการแถลงข่าวคือ การรื้อ และปรับเกณฑ์ทุกองค์กร เพราะเมื่องบการเงินถูกผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีที่มีผู้ดูแลจรรยาบรรณ "กลับไม่ส่งสัญญาณให้ผู้ใช้ข้อมูลได้ตระหนัก" ทำให้กลายเป็นการทุจริตครั้งใหญ่ที่ลากผู้เกี่ยวข้องไปเสียหายจำนวนมาก

          โดยเฉพาะบทบาทของสภาวิชาชีพทางบัญชี  ที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากในเวทีนี้    และยิ่งเป็นกลุ่ม Big4  ( PwC,EY, KPMG และ Deloitte )   จึงถูกถามเป็นพิเศษถึงความรับผิดชอบ  แม้ว่าตามมาตรฐานการทำงานสามารถเกิด “ความผิดพลาด” หรือ “จงใจรายบุคคล “ ย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งแม้จะลงโทษได้เพียง พัก  หรือ ยึดใบอนุญาต นับว่าจากนี้ไปจะมีการวางเส้นการดูแลให้ดีมากขึ้นกว่าเดิมไม่หละหลวม และปล่อยผ่านงบ ไปแบบง่ายๆ 

   

       ส่วนการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่สร้างผลเสียหาย และมีส่วนรู้เห็นกับการทุจริต ได้ดำเนินการไปถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แล้ว แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาและพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวกลายเป็นความคลางแคลงใจของนักลงทุนจะเชื่อมั่นข้อมูลอย่างบการเงินตลาดทุนไทยได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญจะมีการทุจริตทางบัญชีในบริษัทอื่นด้วยหรือไม่

      เรื่องดังกล่าวมีผลขยายวงกว้างไปเป็นที่เรียบร้อย จากบรรยากาศ “ตลาดหุ้นไทย” เข้าสู่ “โหมดเงียบกริบ “   มีตัวเลขที่สะท้อนได้ดีคือ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน  6 เดือนแรก ปี 2566 ลดลง

      เดือนม.ค. – ก.พ. ระดับ 60,000 ล้านบาท  จากนั้นเป็นการประคองเพราะลดลงต่อเนื่องจนเดือนมิ.ย. เกิดปัญหา STARK  ปะทุดุเดือด มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 44,000 ล้านบาท  เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการซื้อขายรายกลุ่มในช่วงเดียวกันพบว่า “แรงซื้อ” หรือ “ไล่เก็บหุ้น” หนักที่ฝั่งรายย่อย

     โดยกลุ่มสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 36,444.98 ล้านบาท  พอร์ตโบรกเกอร์ขายสุทธิ 4,347.27  ล้านบาท  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 108,771.88  ล้านบาท  และรายย่อยซื้อสุทธิ 76,674.17  ล้านบาท

     เมื่อรวมไปกับดัชนีหุ้นไทยหลุด 1,500 จุด  หุ้นเก็งกำไรเจอแรงเทขาย  นักลงทุนรายใหญ่เจอการถูกบังคับขาย หรือ Force sell  จากบัญชีมาร์จิ้น  และกระทบกับหุ้นใหญ่ที่ไร้ปัญหา หมายถึง นักลงทุนรายย่อย ต่างเผชิญเวลท์ในพอร์ตการลงทุนลดลงอย่างถ้วนหน้า ถ้าหากไม่มีการลงทุนในฝั่งอนุพันธ์ด้วยการซื้อสัญญา short  เพื่อมาทำการชดเชยเวลท์ที่หายไปแทบไม่เห็นกำไรพอร์ตในช่วงเวลานี้

 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์