บทเรียน STARK ความเห็นผู้สอบบัญชี ชี้วัด 'ความน่าเชื่อถือ' งบการเงินบริษัท

กรณีศึกษา ‘STARK’ หลัง ‘ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส’ ไม่ให้ความเห็นผู้สอบบัญชี

จากงบการเงินบริษัท STARK ที่เปิดเผยออกมาล่าสุด มีการแก้ไขงบฯ ปี 64 จากมีกำไรกลายเป็นขาดทุนแทน รวมถึงผู้สอบบัญชีก็ไม่มีความเห็น สิ่งนี้บ่งบอกอะไร และความเห็นที่ควรจะเป็น มีลักษณะอย่างไรบ้าง

Key Points

  • ในงบการเงินปี 2565 บริษัท STARK ขาดทุน 6,651 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของก็ติดลบ 4,404 ล้านบาท
  • ในงบการเงินปี 2564 บริษัทได้แก้ไขจากเดิมที่มีกำไร 2,794 ล้านบาท เปลี่ยนเป็น “ขาดทุน” 5,989 ล้านบาท
  • ในการเลือกลงทุนบริษัทใด ๆ สิ่งที่ควรเปิดอ่านก่อนงบการเงิน คือ “ความเห็นผู้สอบบัญชี” เนื่องจากผู้ตรวจสอบบัญชีจะเป็นผู้รับรองความถูกต้องของข้อมูล


เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้เปิดเผยงบการเงินปี 2565 แล้ว ผลปรากฏว่า บริษัทขาดทุน 6,651 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของ หรือส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบถึง 4,404 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้บริหาร STARK ชุดใหม่ตรวจสอบงบการเงินปี 2564 ก็พบความผิดปกติหลายรายการที่สะท้อนถึง “การตกแต่งบัญชี” จึงปรับแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนี้

ตัวอย่างรายการงบการเงินปี 2564 ที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างมาก

- ส่วนของเจ้าของ จากเดิม 6,591 ล้านบาท แก้ไขเป็น 2,844 ล้านบาท

- ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น จากเดิม 15,570 ล้านบาท แก้ไขเป็น 6,306 ล้านบาท

- รายได้จากการขาย จากเดิม 25,217 ล้านบาท แก้ไขเป็น 17,486 ล้านบาท

- กำไร/ขาดทุนสุทธิ จากเดิมมีกำไร 2,794 ล้านบาท แก้ไขเป็น “ขาดทุน” 5,989 ล้านบาท

 

บทเรียน STARK ความเห็นผู้สอบบัญชี ชี้วัด \'ความน่าเชื่อถือ\' งบการเงินบริษัท

- งบดุลบริษัท STARK ปี 2564 -

 

บทเรียน STARK ความเห็นผู้สอบบัญชี ชี้วัด \'ความน่าเชื่อถือ\' งบการเงินบริษัท

- งบกำไรขาดทุนบริษัท STARK ปี 2564 -

 

ดังนั้น เมื่อรวมการขาดทุนปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 5,989 ล้านบาท กับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 6,651 ล้านบาท จะเป็นการขาดทุนทั้งหมด 12,640 ล้านบาท

ความคลาดเคลื่อนทางตัวเลขบัญชีที่สูงจากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้ บริษัทผู้สอบบัญชีอย่าง ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส (PwC) ได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินปี 2565 ของบริษัท STARK “โดยไม่แสดงความเห็น” พร้อมระบุเหตุผลว่า ผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของผู้สอบบัญชีมีความสำคัญอย่างมากสำหรับนักลงทุนในการช่วยตัดสินใจลงทุนในหุ้นบริษัทนั้น ๆ และสำหรับบริษัทที่น่าเชื่อถือและลงทุนได้ ความเห็นผู้สอบบัญชีควรเป็นอย่างไร

 

  • ความเห็นผู้สอบบัญชี 4 แบบ

ในการเลือกลงทุนบริษัทใด ๆ สิ่งที่ควรเปิดอ่านก่อนงบการเงิน คือ “ความเห็นผู้สอบบัญชี” เนื่องจากผู้ตรวจสอบบัญชีจะเป็นผู้รับรองความถูกต้องของข้อมูล ความเห็นใด ๆ ที่ออกมาล้วนมีผลต่อความน่าเชื่อถือของงบการเงิน

ในทุกบริษัทของตลาดหุ้น ความเห็นผู้สอบบัญชี จะออกมาได้เป็น 4 แบบ ดังนี้

1. ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข หมายถึง ผู้สอบบัญชีมองว่าข้อมูลงบการเงินมีความถูกต้อง ไม่ว่าจากการตรวจตัวเลขบัญชีเทียบกับจำนวนสินค้าคงคลัง รายการซื้อขาย สัญญาต่าง ๆ ฯลฯ ล้วนสอดคล้องกันและถูกต้อง

2. ความเห็นแบบมีเงื่อนไข หมายถึง ผู้สอบบัญชีมองว่าบางรายการในงบการเงินมีความคลาดเคลื่อน แต่ยังไม่ได้กระทบต่อภาพงบการเงินโดยรวม

3. ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง หมายถึง ผู้สอบบัญชีมองว่าข้อมูลงบการเงินไม่ถูกต้องถึงขั้นอาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อนักลงทุนได้

4. ไม่แสดงความเห็น หมายถึง ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของบริษัท จนไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะตรวจสอบว่างบการเงินนี้ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตรงกับที่ PwC ให้เหตุผลในกรณี STARK

สำหรับความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข สะท้อนว่า บริษัทนี้สามารถพิจารณาลงทุนได้ เพราะงบการเงินถูกต้องและสอดคล้องกัน

ส่วนความเห็นแบบมีเงื่อนไข ควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน

ถ้ามีความเห็นงบการเงินไม่ถูกต้อง หรือผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น นักลงทุนควรอยู่ออกห่าง เพราะงบการเงินอาจมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น จนอาจส่งผลอันตรายต่อการลงทุน

 

  • “Big4” บริษัทผู้สอบบัญชี

นอกจากความเห็นผู้สอบบัญชี นักลงทุนควรพิจารณาจากบริษัทที่สอบบัญชี โดยหากมาจากบริษัทสอบบัญชีที่น่าเชื่อถือระดับโลก 4 บริษัทใหญ่หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Big4” ก็จะเสริมความน่าเชื่อถือของงบการเงินมากขึ้นได้ ดังนี้

1. บริษัท PwC (PricewaterhouseCoopers) มีลูกค้าเป็นบริษัทโทรคมนาคม True, บริษัทสินเชื่อศรีสวัสดิ์, บริษัทถ่านหินบ้านปู ฯลฯ

2. บริษัท EY (Ernst & Young Global Limited) มีลูกค้าเป็นบริษัทปตท., โรงพยาบาลกรุงเทพ, ห้าง HomePro ฯลฯ

3. บริษัท Deloitte (Deloitte Touche Tohmatsu) มีลูกค้าเป็นบริษัทธนาคารกรุงเทพ, บริษัทโทรคมนาคม AIS, บริษัท KTC บัตรกรุงไทย

4. บริษัท KPMG (KPMG International Limited) มีลูกค้าเป็นธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, บริษัทปูนซีเมนต์ SCG ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้สอบบัญชีจะมาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก 4 แห่งนี้ แต่นักลงทุนควรพิจารณาร่วมกับการเยี่ยมชมกิจการบริษัท สอบถามลูกค้าบริษัท ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท มากกว่าการพิจารณาจากข้อมูลทางงบการเงินเพียงอย่างเดียว ก็จะช่วยกลั่นกรองบริษัทในการลงทุนให้ดียิ่งขึ้นได้ 

อ้างอิง: setaccountinginvestopediakaohoon