เส้นตายเพดานหนี้สหรัฐฯ ความเสี่ยงใหม่ที่ไม่อาจมองข้าม

เส้นตายเพดานหนี้สหรัฐฯ ความเสี่ยงใหม่ที่ไม่อาจมองข้าม

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐ สร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี ต่างจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ หลังเงินเฟ้อปรับตัวลงต่อเนื่องจากระดับสูงสุดในปีที่แล้วที่ราว 9% ลงมาสู่ 4.9% ในเดือนเม.ย.

ทำให้ตลาดคาดวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยได้สิ้นสุดแล้ว และมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ราคาหุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเติบโตปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น โดยดัชนี NASDAQ ซึ่งประกอบด้วยหุ้นเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ให้ผลตอบแทนถึงเกือบ 20% มากกว่าดัชนี S&P 500 ที่บวกเพียง 9% กดดันจากกลุ่มพลังงานและการเงินที่ปรับตัวลง (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค.)

ภายใต้ตลาดที่เริ่มผ่อนคลายจากความกังวลเรื่องความมั่นคงของภาคธนาคารสหรัฐ กลับต้องเผชิญความเสี่ยงเรื่อง “เพดานหนี้” โดยเพดานหนี้สาธารณะถูกกำหนดขึ้นในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1917 เพื่อให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อการใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี เพดานหนี้ได้ถูกยกระดับขึ้นมากกว่า 100 ครั้ง ทำให้สหรัฐไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ในครั้งนี้หนี้ของรัฐบาลสหรัฐ แตะระดับ “เพดานหนี้” ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เดือนม.ค. 2023 ทำให้รัฐบาลไม่สามารถออกขายพันธบัตรใหม่เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายได้ และกระทรวงการคลังต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองที่คาดว่าจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายและชำระหนี้ได้ถึงช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น

แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ แต่หากปล่อยให้ใกล้เส้นตายมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ของสหรัฐฯ และจะทำให้ตลาดเรียกร้องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเมื่อชดเชยความเสี่ยง ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011 ที่สหรัฐฯ ผ่านกฏหมายขยายเพดานหนี้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะถึงกำหนดเส้นตาย ส่งผลให้ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจาก AAA เป็น AA+ และทำให้ตลาดหุ้น(ดัชนี S&P500) ดิ่งลงกว่า -15% ในเวลาไม่กี่วัน สะท้อนความตื่นตระหนกของนักลงทุน

ครั้งนี้ แม้ตลาดหุ้นจะยังไม่ได้ปรับตัวลงแรงอย่างในปี 2011 แต่เริ่มมีสัญญาณลบจากราคาตราสารอนุพันธ์ของ 1-Year US credit default swap, CDS (ทำหน้าที่คล้ายกับประกัน โดยผู้ออก CDS จะจ่ายเงินชดเชยให้นักลงทุนเมื่อผู้กู้ยืมไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือคืนหนี้)ที่พุ่งขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม สะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก การจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนๆ อีกทั้งในตอนนี้มีหลายปัจจัยที่คล้ายกับช่วงปี 2011 คือเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเป็นคนละพรรค

 ทำให้การผ่านกฏหมายเพิ่มยกระดับเพดานหนี้มีความยากลำบาก จากความเห็นที่ขัดแย้งกัน ล่าสุดในวันที่ 26 เม.ย.รัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้อีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีเงื่อนไขว่าพรรคเดโมแครตต้องลดค่าใช้จ่าย 4.8 ล้านล้านดอลลาร์  ภายใน 10 ปี แต่พรรคเดโมแครตยืนกรานว่าจะไม่ลดค่าใช้จ่ายลง แม้ตอนนี้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงต่อระบบการเงินจากปัญหาสภาพคล่องในภาคธนาคาร คล้ายกับปี 2011 ที่ยุโรปมีปัญหาหนี้สาธารณะ

สถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้สูงสุดในครั้งนี้ คือ การเจรจาจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 2 พรรคจะยืดเยื้อ และในท้ายที่สุดจะบรรลุข้อตกลงยกระดับเพดานหนี้ได้ทันเวลาก่อนที่สหรัฐ จะผิดนัดชำระหนี้ แต่ทั้งนี้ยังมีความเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้าม แม้จะมีความเป็นไปได้ต่ำ นั่นคือ รัฐสภาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ได้ทันกำหนดเวลา ทำให้สหรัฐฯ ต้องเลือกจ่ายหนี้เพียงบางส่วนก่อน ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและสร้างความผันผวนแก่ตลาดการเงิน

ดังนั้น ในช่วงนี้ทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้จะมีความผันผวนสูง เคลื่อนไหวตามเงื่อนไขและความคืบหน้าของการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ในรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวน กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้จึงยังไม่ควรรีบเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น และเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับตลาดโดยรวมต่ำ อย่างกองทุน Hedge Funds โดยกลยุทธ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ Hedge Fund ที่อาศัยโมเดลการคำนวนทางคณิตศาสตร์ ในการซื้อ (Long) และขาย (Short) หุ้นสหรัฐฯ จึงสามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง