หุ้นเล็ก - Corner วิกฤติหนัก ฟองสบู่แตก “ราคาดิ่ง”

หุ้นเล็ก - Corner  วิกฤติหนัก ฟองสบู่แตก “ราคาดิ่ง”

ตลาดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาหุ้นเล็ก – ประเด็นใหญ่ ต่างพาเหรดแสดงเหตุ พาราคาหุ้นร่วงกันระนาวจนทำให้ภาวะการซื้อขาย ในตลาดหุ้นที่ซบเซาด้วยวันหยุดยาวอยู่แล้วยิ่งทำให้ลดลงอีก จากเฉลี่ยลงมาอยู่ที่ 30,000 ล้านบาทต่อวัน

สาเหตุมาจากความ ไม่เชื่อมั่นในการลงทุนเพราะข้อมูลไม่ชัดเจน – ผู้บริหารชี้แจงไม่รอบด้าน และสำคัญที่สุดความผิดพลาดจากการบริหารงานที่กระทบผลประกอบการไปจนถึงแนวโน้มธุรกิจในอนาคต

สาหัส และยังไม่รู้แนวทางชัดเจน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เผชิญความผิดปกติจากงบการเงินไตรมาส 4 ปี 2565 จนผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้จนต้องหลุดจากทำเนียบ SET 100 และหุ้นขึ้น หยุดพักการซื้อขาย SP ตั้งแต่ 28 ก.พ.2566

หลังจากนั้นกลายเป็นภาคต่อ เพราะเริ่มมีความกังขาถึงงบการเงินที่ผ่านมาทั้งภาระหนี้ที่สูง แต่กระแสเงินสดต่ำ  ยอดขายไม่มีจริง และเงินเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาท ได้รับจากกองทุน และสถาบันเพื่อนำไปซื้อกิจการ LEONI Kabel GmbH ซึ่งเป็นบริษัทในเยอรมนี และ LEONIsche Holding Inc ที่เป็นบริษัทในรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐ ผู้ผลิตสายไฟสำหรับรถยนต์ และสายไฟสำหรับ EV Charging Solutions มูลค่าการซื้อขายรวม 560 ล้านยูโร หรือราว 20,588.90 ล้านบาท รวมเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือบางรายการ (Intercompany Financing Receivables) เมื่อ 13 ธ.ค.2565 จนเกิดคำถาม..แล้วเงินจำนวนดังกล่าวหายไปไหน ?

ปัญหาขาดสภาพคล่องจนกระทบหุ้นกู้มูลค่า 9,200 ล้านบาท จนที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ต้องจำใจกัดฟันให้โหวตผ่านยกเว้นเหตุผิดนัดส่งงบปี  2565   พร้อม "ตั้งเงื่อนไขใหม่ระบุบริษัทห้ามผิดนัดส่งงบไตรมาส 1/2566 อีก  มิฉะนั้นต้องเรียกประชุมใหม่" " มีสิทธิเรียกชำระหนี้ทั้งหมด 9,200 ล้านบาททันที"  รวมไปถึงการที่บริษัทเตรียมเข้าชี้แจงก.ล.ต.วันที่ 3 พ.ค.2566 นี้ด้วย

    หุ้นเล็ก - Corner  วิกฤติหนัก ฟองสบู่แตก “ราคาดิ่ง”

 

หุ้นกลุ่ม corner บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ JMART  ที่เจอวิกฤติไม่แตกต่างกันจากปัญหางบการเงินบริษัทย่อย ทั้ง บริษัท ซิงเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ขายสินค้าไฟฟ้า และ บริษัท เอสจี แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC   ปล่อยสินเชื่ออุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรากฏหนี้เสีย (NPL)เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565

ที่ตอกย้ำความไม่ปกติคือการตบเท้าลาออกของซีอีโอ SINGER “กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ” ทั้งที่เป็นผู้ที่เข้ามาฟื้นชีพธุรกิจ SINGER จนแสดงความเลขกำไรเติบโตช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  การแก้ไขสถานการณ์ JMART กรรมการมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เพื่อบริหารทางการเงิน

วงเงินโครงการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 400 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนไม่เกิน 16 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็นจำนวนไม่เกิน 1.10% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด กำหนดระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.-15 มิ.ย.2566 หลังราคาร่วงลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

รวมไปถึง SINGER และ SGC เตรียมแถลงดึงความเชื่อมั่นกลับคืนด้วยการเปิดตัวผู้บริหารชุดใหม่พร้อมแผนธุรกิจทั้งหมดในวันที่  9 พ.ค.2566 นี้

เรียกได้ว่าหุ้น 2 บริษัททำให้นักลงทุนเกิดความกังวล และไม่เชื่อมั่นต่อธุรกิจ และงบการเงินจนทำให้ต้องเทขายหุ้นลดความเสี่ยงหรือหนีจากประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนออกมาก่อน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นหุ้นเล็กที่สร้างผลกระทบด้านราคาหุ้นเช่น บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL  เดิมมีปัญหาสภาพคล่องกระทบจ่ายหนี้หุ้นกู้ จนการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 27 เม.ย.ล้มลงหลังไม่ครบองค์ประชุมทำให้ไม่ผ่านงบQ1/2566  -วาระเสนอออกหุ้นกู้ และหุ้นเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง (PP)  จนต้องนัดประชุมใหม่ 10 พ.ค. 2566

บริษัท ไดแมท(สยาม) จำกัด (มหาชน) หรือ DIMET เกิดอลหม่านหลังฟ้องร้องการประชุมผู้ถือหุ้น จากคำร้องกรรมการ บริษัท ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้น DIMET ถูก “เหอ จือ หวง” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DIMET ที่ลาออกไปตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2566 ได้นำคะแนนเสียง 56,250,000 หุ้น ตามใบหุ้นเลขที่ 09660100000078 ซึ่งเป็นของ ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี และผู้ถือหุ้นอื่นอีก 5 ราย มารวมคำนวณเพื่อใช้สิทธิลงคะแนนเสียงโดยไม่อนุญาตให้ ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี ได้ใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมสามัญประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.66 ที่ผ่านมา จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งยังเป็นการฝ่าฝืน และขัดต่อข้อบังคับ ข้อที่ 38 ที่กำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ถือว่าหุ้นหนึ่งมีหนึ่งเสียง ส่งผลให้มติที่ประชุมในครั้งดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด และผู้ถือหุ้นรายย่อยได้รับความเสียหาย เพราะหากไม่นำหุ้นจำนวน 56,250,000 หุ้น มารวมคำนวณเป็นคะแนนแล้ว มติในวาระที่ 1 วาระที่ 3 วาระที่ 4 วาระที่ 5 และวาระที่ 7 เชื่อว่าจะเป็นมติที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมทั้งหมด

ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัดและผู้ถือหุ้นอีก 5 ราย ดำเนินการยื่นฟ้อง DIMET ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.947/2566 เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566 ในทุกวาระการประชุมฯ โดยศาลกำหนดนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ในวันที่ 26 มิ.ย.2566 เวลา 13.30 น.

เฉพาะหุ้นดังกล่าวที่ส่อเห็นถึงปัญหา และยังไร้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าสาเหตุอะไร และจะมีการแก้ไขในรูปแบบไหน เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนต่างชะงักการลงทุน และเมินหุ้นเล็กราคาก้าวกระโดดได้เหมือนกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์