‘กั๋ว กวงฉาง’ เศรษฐีจีนขายสินทรัพย์นับพันล้านดอลล์ ดัน ‘หุ้น-บอนด์’ รีบาวด์

‘กั๋ว กวงฉาง’ เศรษฐีจีนขายสินทรัพย์นับพันล้านดอลล์ ดัน ‘หุ้น-บอนด์’ รีบาวด์

“กั๋ว กวงฉาง” นักธุรกิจพันล้านชาวจีน และผู้ครองฉายา “วอร์เรน บัฟเฟตต์เมืองจีน” ลุยขายสินทรัพย์บริษัทตัวเองกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท) หวังหนุนธุรกิจหลักด้านการอุปโภคบริโภค หลังจากก่อนหน้านี้หุ้นบริษัทดิ่งลง 95%

Key Points

  • “กั๋ว กวงฉาง” นักธุรกิจพันล้านชาวจีนตัดสินใจขายสินทรัพย์กว่า 2 พันล้านดอลลาร์ หนุนธุรกิจหลัก
  • ก่อนหน้านั้น Fosun International Ltd. ปรับตัวลดลงมากถึง 95% จากวิกฤติด้านสินเชื่อ (Credit Crisis) ของประเทศจีน
  • “กั๋ว กวงฉาง” ชี้ไม่ใช่เรื่องน่าสงสาร ถ้ายังมีคนอยากซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวอยู่
  • อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมีมุมมองด้านลบต่อการเติบโตของ Fosun International Ltd. ในปีนี้ 

“กั๋ว กวงฉาง” (Guo Guangchang) นักธุรกิจพันล้านชาวจีนกำลังนั่งจิบ “ไป๋จิ่ว” สุราชั้นยอดของประเทศจีน ขณะที่เขาตัดสินใจขายสินทรัพย์กว่า 2 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท) ของบริษัท ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดสำหรับเขาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

โดยวิธีการคัดเลือกเหล้าของกวงฉาง (Shede Spirits Co. แบรนด์เหล้าภายใต้พอร์ต Fosun International Ltd. ของเขา) นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง คือเลือกตามหลักคิด “She De” หรือที่หมายความว่า “ปล่อยวาง” ในภาษาไทย

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว กำไรของ Fosun International Ltd. ปรับตัวลดลงมากถึง 95% จากวิกฤติด้านสินเชื่อ (Credit Crisis) ของประเทศจีน จนกระทั่งบริษัทฯ จำเป็นต้องขาย (Offload) สินทรัพย์บางส่วนซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 4.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.584 แสนล้านบาท) ตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งขายการถือครองในบริษัทแม่ของ Nanjing Iron & Steel Co. ด้วย 

ทั้งนี้กลุ่มบริษัท (Conglomerate) ของกวงฉางกำลังอยู่ในขั้นตอนหาผู้ที่จะเข้าซื้อกิจการ ตั้งแต่ธุรกิจการเงินในยุโรปไปจนถึงบริษัทยาที่อินเดีย

การเร่งขายสินทรัพย์ขนาดใหญ่ครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณว่าบริษัทฯ “ตกอยู่ในอันตราย” ทว่าแนวคิดแบบปฏิบัติจริงของกวงฉางที่ประกาศขายสินทรัพย์ที่เคยประสบความสำเร็จดูเหมือนจะได้ผล เพราะหลังจากนั้นหุ้นและหุ้นกู้ของ Fosun International Ltd. ดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดของเดือน ก.ย. 

โดยจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ปรับตัวลดน้อยลงอย่างมาก หลังจากก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายท่านเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าบริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้แน่นอน

กวงฉางกล่าว ณ​ งานประชุมผู้บริหารเดือน มี.ค. ว่า “ไม่ใช่เรื่องน่าสงสารแต่อย่างใดที่เราจำเป็นต้องขายสินทรัพย์จำนวนมากออกไป แต่จะเป็นเรื่องที่น่าสงสารทันทีหากไม่มีใครต้องการซื้อสินทรัพย์ของเรา”

ที่มาฉายา ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เมืองจีน

บางครั้งบรรดานักลงทุนก็เรียก กวงฉาง ว่าเป็น “วอร์เรน บัฟเฟตต์ของจีน” จากการเลือกซื้อสินทรัพย์ที่มีคุณภาพด้วยความเฉียบแหลม และการกระจายความเสี่ยงอย่างแน่นหนา 

รวมทั้งในช่วงวิกฤติทางการเงินในจีนช่วงที่ผ่านมาแม้ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์หลายคนที่ลงจากตำแหน่งหรือเกษียณอายุออกไป ทว่าเขากลับเป็นหนึ่งในผู้บริหารไม่กี่ท่านที่ยังยืนหยัดและตั้งหน้าตั้งตา “คุมหางเสือ” อยู่เช่นเดิม 

ในทางตรงกันข้าม ขณะที่จาง อี้หมิง (Zhang Yiming) จากไบต์แดนซ์ (ByteDance Ltd.) โคลิน หวง (Colin Huang) จากพีดีดี โฮลดิงส์ (PDD Holdings Inc.) และ อู๋ หยาจุ้น (Wu Yajun) จากลองฟอร์ กรุ๊ป โฮลดิงส์ (Longfor Group Holdings Ltd.) ลาออกจากบริษัทที่พวกเขาก่อตั้งขึ้นในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเงินของจีนช่วงที่ผ่านมา ส่วน แจ็ค หม่า (Jack Ma) ก็น่าจะเป็นนักธุรกิจชาวจีนที่มีชื่อเสียงที่สุดที่หายตัวไปจาก “เวทีสาธารณะ” หลังจากที่เขาวิจารณ์หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางปังกิ่งในปี 2563 ซึ่งทำให้บริษัทแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group Co.) ตกอยู่ภายใต้การจับตาของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจชาวจีนต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมในการประกอบกิจการที่ยากลำบากมากขึ้น ส่วนใหญ่เพราะการปราบปรามผ่านกฎระเบียบจากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแสวงหา "ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" หรือ Common Prosperity ของสี จิ้นผิง (Xi Jinping) และขับไล่นักลงทุนต่างชาติออกจากประเทศ

ทั้งนี้ หากกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงถึงกวงฉาง เขาอยู่ในภาคธุรกิจจีนมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ และไม่ใช่ “มือใหม่” ในการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยย้อนกลับไปในปี 2558 เขาหายตัวไปช่วงสั้น ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ด้านการสืบสวนคดี ซึ่งคล้ายกับการหายตัวไปของเปา ฟาน (Bao Fan) ดีลเมกเกอร์ชื่อดังชาวจีน และผู้ก่อตั้งไชนาเรเนสซองส์โฮลดิงส์ (China Renaissance Holdings) วาณิชธนกิจสัญชาติจีน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ในช่วงวิกฤติทางการเงินปัจจุบันของจีน ท่าทีของกวงฉางที่มีต่อรัฐบาลกลางปักกิ่งค่อนข้างเป็นที่น่าจับตา เพราะในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา รองประธานบริษัท Fosun International Ltd. เข้าพบผู้กำกับดูแลท้องถิ่นของรัฐวิสาหกิจ  (A Local Supervisor of State-owned Enterprises) เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อหาแนวทางร่วมมือกันในอนาคต

ด้าน บรอค ซิลเวอร์ส (Brock Silvers) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ ไคหยวน แคปปิตอล (Kaiyuan Capital) ในฮ่องกงกล่าวว่า 

“จากเหตุการณ์การปราบปรามนักธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า กวงฉาง จะรอดพ้นจากการตรวจสอบของรัฐบาลจีนมาได้ ในขณะที่เพื่อนเก่าหลายคนของเขาต้องถูกตรวจสอบ ซึ่งมีเหตุผลอยู่สองประการคือบริษัทของเขาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสร้างธุรกิจที่มีศักยภาพได้อย่างคุ้มค่า และเมื่อมีข้อเรียกร้องให้ดีเลเวอร์เรจ (Deleverage) เขาก็ทำตามนโยบายของภาครัฐได้อย่างดี”

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) พบว่า Fosun International Ltd. ปรับพอร์ตการลงทุนและเทขายหุ้นบริษัทประกันของจีน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภคออกแล้ว และสินทรัพย์มูลค่ามากกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.221 แสนล้านบาท) อยู่ในกระบวนการประกาศขาย 

โดยขณะนี้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า การเติบโตของ Fosun International Ltd. ในช่วงนี้อาจเข้าเกณฑ์ “โตแบบชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป” (Soft-landing) ในขณะที่ธุรกิจอื่นประสบกับสถานการณ์แบบตรงกันข้าม โดยหนึ่งในหน่วยงานหลักของบริษัทดังกล่าวได้รับเงินกู้ 1.2 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.61 หมื่นล้านบาท) จากธนาคาร 8 แห่งเมื่อต้นปี 2566

ทั้งนี้ ตัวแทนของ Fosun International Ltd. ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทฯ ยังมุ่งหน้าขายสินทรัพย์เพื่อพยุงธุรกิจหลัก (Core Businesses) ในภาคการบริโภคในครัวเรือนต่อไป

 ความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า

หากอ้างอิงตามรายงานของดัชนีมหาเศรษฐีบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) ในตอนที่หุ้นของ Fosun International Ltd. ดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในเดือน ก.ย. ความมั่งคั่งของกวงฉางก็เพิ่มขึ้นประมาณ 60% มาอยู่ที่ระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.28 หมื่นล้านบาท) เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ Jiangsu Shagang Group Co. ฟ้องกลุ่มบริษัทของกวงฉาง หลังยุติข้อตกลง (Terminate its Agreement) ในการซื้อหุ้นจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท) ในบริษัทแม่ของ Nanjing Iron & Steel แล้วไปร่วมกับบริษัท Citic Ltd. แทน โดยข้อพิพาทดังกล่าวทำให้ดีลธุรกิจกับ Citic Ltd. ตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะท้ายที่สุด กวงฉาง อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ยุติข้อตกลงในตอนแรก

ทว่า ตัวแทนของ Fosun International Ltd. กล่าวว่ากลุ่มบริษัทไม่ได้ละเมิดข้อตกลงกับ Jiangsu Shagang Group Co. และการฟ้องร้องจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท

ด้าน บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5% ของรัฐบาลจีนอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของ Fosun International Ltd. ลดลง โดยมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's Investors Service) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ปรับลดระดับของ Fosun International Ltd. ลง โดยอ้างว่า “ข้อมูลไม่เพียงพอ” ในขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์ (S&P Global Ratings) มีมุมมองเชิงลบต่อบริษัทฯ

โคลอี้ วัง (Chloe Wang) ผู้อำนวยการเอสแอนด์พี กล่าวว่า “ แนวโน้มงบดุลของ Fosun International Ltd. มีทิศทางปรับตัวลงอีก ท่ามกลางวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ต้องการมุ่งเป้าไปที่การเติบโตของธุรกิจหลัก โดยนำเงินมาจากการขายสินทรัพย์ ทว่าประเด็นเรื่องการขายกิจการยังไม่มีความแน่นอน” พร้อมกล่าวเสริมว่า “เงินกู้ธนาคารที่ค้ำประกันในเดือน ม.ค. มีแนวโน้มไม่พอสำหรับครอบคลุมหนี้ทั้งหมด  ดังนั้นบริษัทฯ จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างเงินทุนซึ่งนั้นต้องใช้เวลา”