ดาวโจนส์พลิกดีดบวกในกรอบแคบ 22 จุด ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน

ดาวโจนส์พลิกดีดบวกในกรอบแคบ  22 จุด ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(21เม.ย.)พลิกดีดตัวสู่แดนบวกในกรอบแคบ 22 จุด ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 22.34 จุด หรือ 0.07% ปิดที่ 33,808.96 จุด

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 0.09% ปิดที่ 4,133.52 จุด

ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวขึ้น 0.11%  ปิดที่  12,072.46 จุด

 

บรรยากาศการซื้อขายถูกกดดัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และผลประกอบการที่ซบเซา

ข้อมูลจาก Refinitiv IBES ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะรายงานตัวเลขกำไรลดลง 5.2% ในไตรมาส 1/2566 หลังจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 1.4% ในไตรมาสดังกล่าว

ตลาดพันธบัตรสหรัฐ เกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 6 เดือน ดีดตัวเหนือระดับ 5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับตัวขึ้นเหนือ 4% และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นายคริส วัตลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Longview Economics ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ว่าสหรัฐใกล้ที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย และนักลงทุนจะต้องเตรียมรับมือผลกระทบจากการดิ่งลงของตลาดหุ้น

ทั้งนี้ นายวัตลิงกล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box Europe ของสถานีข่าว CNBC ในวันนี้ว่า เขาเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบ่งชี้จากดัชนี Leading Economic Index (LEI) ที่ย่ำแย่วานนี้

Conference Board เปิดเผยวานนี้ว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ร่วงลง 1.2% สู่ระดับ 108.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563

Conference Board ระบุว่า ดัชนีบ่งชี้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่องค์ประกอบหลายตัวของดัชนีต่างปรับตัวอย่างอ่อนแอ และแสดงสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเริ่มตั้งแต่กลางปี 2566

ทั้งนี้ ดัชนี LEI ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึงราคาหุ้น คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต การอนุญาตสร้างบ้าน ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

นอกจากนี้ นายวัตลิงกล่าวว่า การที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ก็เป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นายวัตลิงเปิดเผยว่า โดยทั่วไปแล้ว เศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้น หลังเกิดภาวะ inverted yield curve ราว 1 ปี โดยตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ครั้งแรกในเดือนมี.ค.2565 และเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในหลายเดือนต่อมา

"ทุกครั้งที่คุณเห็น inverted yield curve ก็จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐตามมา ผมคิดว่ามันจะมาแน่ อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น" นายวัตลิงกล่าว

นอกจากนี้ นายวัตลิงระบุเตือนว่า ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

"เมื่อเกิดเศรษฐกิจถดถอย กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็จะถูกกระทบ ซึ่งผมคิดว่าตัวเลขคาดการณ์กำไรอยู่สูงเกินไปในขณะนี้ และตลาดหุ้นจะถูกกระทบจากปัจจัยดังกล่าว" นายวัตลิง กล่าว