นโยบายเลือกตั้งหนุนอีวี หุ้นปังแนวโน้มสดใส

นโยบายเลือกตั้งหนุนอีวี  หุ้นปังแนวโน้มสดใส

หลังจากบรรยากาศสงกรานต์ของไทย ต่อด้วยบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่เริ่มเข้มข้นมากขึ้น วันเลือกตั้งที่กำหนด 14 พ.ค.2566 เน้นนโยบายของตนเองเพื่อดึงฐานเสียงมีเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) น่าสนใจ

เมื่อเจาะนโยบายด้านการหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของไทย น่าสนใจไม่น้อย เพราะพรรคแกนนำรัฐบาลเดิม พรรคพลังประชารัฐ ได้ผลักดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยเป็น News S curve  เพื่อดึงดูดฐานการผลิตมาไทย

ด้านพรรคอื่นหยิบยกนโยบายด้านพลังงานสะอาดมาใช้หาเสียงด้วยเช่นกัน พรรคภูมิใจไทยมี 2 โครงการที่มีความเชื่อมโยงกันคือ ฟรีโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ลดค่าไฟฟ้า หลังคาเรือนละ 450 บาท ต่อเดือน และการให้สิทธิซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในราคา 6,000 บาท ผ่อนจ่ายเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 งวด

      หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ สนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่มีแหล่งที่มาสำคัญคือ จากรถยนต์ ตั้งเป้าในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 30% ทั้งประเทศในปี 2030 ซึ่งรัฐบาลได้มีการขับเคลื่อนการใช้รถไฟฟ้าในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า และรถขนส่งมวลชนที่เป็นระบบไฟฟ้า EV ทำมาแล้ว และจะทำอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ยอมรับเลยว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ระดับโลก ด้วยการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จากในปี 2563 มีการผลิตอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก และได้วางเป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้ามีผลิตคิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย

ตัวเลขอุตสาหกรรมรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรม ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 ยอดผลิตรถยนต์ 327,939 คันเติบโต7%(YoY)  ยอดส่งออก175,311 คัน เติบโตสูง17% (YoY)  แรงหนุนปัญหาการขาดแคลนไมโครชิปผ่อนคลายแต่ตลาดในประเทศชะลอตัว137,130 คันลดลง 5%(YoY) 

คาดตัวเลขเดือนมี.ค. จะปรับตัวสูงขึ้นแรงหนุนจากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2023 ช่วง 22 มี.ค. - 2 เม.ย. ที่ผ่านมา เฉพาะค่ายใหญ่ค่ายรถยนต์โตโยต้าตั้งเป้าหมายตลาดรถยนต์รวมที่ปี 900,000 คัน เติบโต 6% (YoY  )

สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้าเดือนก.พ. มียอดขายที่สูงถึง  5,466 คันเติบโต 1,498% (YoY)  รวมสองเดือนแรกมียอดขาย 8,434 คัน เติบโต  1,292% (YoY)  แรงหนุนจากมาตรการของรัฐบาลจึงให้เงินอุดหนุนลดภาษีนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิตจะทำให้รถยนต์ BEV ถูกลงประมาณ 2.26 - 2.47 แสนบาทปี 2566  

ทั้งนี้จากยอดจองรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ งานมอเตอร์โชว์รอบต้นปี 2566 มียอดจองรวมทั้งสิ้น 45,983 คัน (+35.5%y-y) แบ่งเป็นรถยนต์ 42,885 คัน( +34.5%y-y) โดยการเติบโตหลักมาจากรถยนต์ไฟฟ้า 9,234 คัน  รอบเดียวกันปีก่อนที่ 1,520 คัน รถยนต์ทั่วไป 33,651 คัน  ช่วงเดียวกันปีก่อน 30,376 คัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย งาน Motor Show ปิดตัวเลขยอดจอง 42,885 คัน ส่วนใหญ่เป็นตลาดรถยนต์หลักของไทยกลุ่มที่ยังใช้น้ำมันยังคงแสดงให้เห็นถึงทิศทางการฟื้นตัวที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติอยู่พิจารณาจากตัวเลขยอดจองรถยนต์รวมหลังหักรถยนต์ BEV เกือบหมื่นคันออกแล้ว เหลือรถยนต์กลุ่มหลักที่ใช้น้ำมันเพียง 33,651 คัน ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 28,812 คัน

ทว่าหากเทียบกับยอดจองงานเดียวกันในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดที่มียอดจองรถยนต์กลุ่มนี้สูงถึง  37,769 คัน แล้วก็นับว่ายังห่างกันอยู่ระดับหนึ่ง

รวมไปถึงยอดจองรถหรูยังคงส่งสัญญาณที่ไม่ชัดเจน  โดยบางค่ายมียอดจองเพิ่มขึ้น ขณะที่บางค่ายมียอดจองลดลง ทั้งนี้น่าจะขึ้นอยู่กับจังหวะในการเปิดตัวรถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ BEV ของแต่ละค่ายซึ่งมีทั้งค่ายที่เปิดตัวไปก่อนงาน และค่ายที่อยู่ระหว่างเตรียมเปิดตัวหลังงาน

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ซื้อรถยนต์หรูบางส่วนน่าจะไปจองซื้อรถยนต์ BEV ของบางค่ายรถที่ไม่ได้เข้าร่วมงานแทนซึ่งก็จะกลายเป็นมาดึงยอดจองของกลุ่มรถหรูบางส่วนไป  และบางส่วนจะเป็นเพราะการจัดโปรโมชั่นราคาที่ดึงดูดได้อย่างน่าสนใจ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมที่ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบางเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงประมาณการเดิมของยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ไว้ที่  865,000 ถึง 895,000 คันหรือเพิ่มขึ้น1.8%ถึง 5.4%จากปี 2565

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า  คาดยอดผลิตรถเติบโต 4% ซึ่ง ไตรมาส 1 ปี 2566 คาดผลประกอบการยังเติบโต (YoY) จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นจึงผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายตลาด เช่น ตลาดเอเชียตะวันออกกลางแอฟริกายุโรป และอเมริกาเหนือ

ส่วนสถานการณ์ "ต้นทุนวัตถุดิบ" มองว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งวัตถุดิบหลายตัวคาดว่าจะปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อาทิ เม็ดพลาสติก และสารเคมี โดยใช้สมมติฐานราคาน้ำมัน ประมาณ 85 ดอลลาร์ต่อ บาร์เรล เทียบปีก่อนที่เฉลี่ย 96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่ตลาด EV เริ่มคึกคัก คาดเริ่มผลิตจริงจังในช่วง 2 ปีข้างหน้า ในปี 2566 คาดตลาด EV จะคึกคักมากขึ้น หลังจากที่ภาครัฐมีการออกมาตรการสนับสนุนต่อเนื่องให้ไทยเป็นฐานในการผลิต EV  โดยค่ายรถประกาศแผนเงินลงทุนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ผ่าน BOI เม็ดเงินราว 1.26 แสนล้านบาท ขยายกำลังการผลิต ราว 3.3 - 4.3 แสนคัน

เมื่อ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ครม. อนุมัติยกเว้นภาษีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ EV ในส่วนของรายได้ที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐฯ ตามนโยบายสนับสนุน EV ทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ขณะที่ส.อ.ท. รายงานตัวเลขยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV เดือนม.ค.66 ว่ามียอดจดทะเบียนใหม่จำนวน 4,707 คัน+650%YoY

 ขณะที่ตัวเลขจดทะเบียนสะสมมีจำนวนทั้งสิ้น 36,775 คันเพิ่มขึ้น 207% (YoY) ช่วงปีแรกยังเป็นการนำเข้ามาจำหน่าย ขณะที่ค่ายรถยนต์จะเริ่มการผลิตเต็มตัวในช่วง 2 ปีข้างหน้า  โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายเริ่มปรับกลยุทธ์รองรับตลาด EV ทั้ง AH - SAT -TRU และ STANLY เลือก AH เป็นหุ้นเด่น  คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มยานยนต์เท่ากับตลาด

แนวโน้มกำไร AH ปี 2566 ยังเห็นการเติบโตดีต่อเนื่อง   ขณะที่ราคาลงมาจากประเด็นข่าวลบเรื่องลูกค้า วินฟาสต์เลื่อนส่งมอบรถที่สหรัฐทำให้ตลาดกังวลก่อนหน้าว่าจะกระทบรายได้ของAH  แต่จากการสอบถามไปยังบริษัทปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบ  และด้วยกำไรปี 2565 ที่ดีกว่าคาดทำให้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรขึ้น 15% และปรับมูลค่าพื้นฐานขึ้นจากเดิมที่ 46.90 บาท เป็น 54.10 บาท   ราคาปัจจุบันถือว่ายังถูกซื้อขายที่ PER   5.8x

หุ้นรองลงมาราคายังถูก และปันผลน่าสนใจได้แก่  TRU (TP 9.40) และ SAT (TP25.30)

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์