โบรกเกอร์คาด ‘กลุ่มแบงก์’ ไตรมาส 1/66 ตั้งสำรองสูง 5 หมื่นล้าน กดกำไรโต 5%

โบรกเกอร์คาด ‘กลุ่มแบงก์’ ไตรมาส 1/66 ตั้งสำรองสูง 5 หมื่นล้าน กดกำไรโต 5%

โบรกเกอร์ ชี้ไตรมาส1/66 กลุ่มแบงก์ตั้งสำรองสูง กดดันกำไร บล.เอเซีย พลัส คาด 8 แบงก์ กำไร 5.4 หมื่นล้าน โต 5% เทียบกับไตรมาส 1/65 เหตุกันสำรอง 5 หมื่นล้าน หวั่นหนี้เสียเพิ่ม ด้าน บล.กสิกรไทย คงเป้าทั้งปี 1.7 แสนล้าน พร้อมแนะลงทุน เหตุได้ประโยชน์เศรษฐกิจไทยฟื้น - ดอกเบี้ยขาขึ้น

    

หลังจากสิ้นสุดไตรมาส 1 ปี 2566 เตรียมเข้าสู่ช่วงการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ซึ่งกลุ่มแรก คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) จะเริ่มทยอยแจ้งในช่วงสัปดาห์หน้า โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่ากำไรไตรมาส 1 มีแนวโน้มการเติบโตดี หากเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 แต่จะเพิ่มขึ้น 4 - 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการตั้งสำรองที่สูง 

 นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย  บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดกำไรกลุ่มแบงก์ ( 8 แบงก์) ไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 54,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากไตรมาส 4 ปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 40,485 ล้านบาท  เพราะรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่เพิ่มขึ้น จากดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น  และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลง   

ทั้งนี้หากเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 51,618 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเพียง 5% เพราะ การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น คาดอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท คิดเป็น  Credit Cost  1.4%  เป็นผลจากสัญญาณคุณภาพลูกหนี้ที่แย่ลงในไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะยังมีผลต่อเนื่องมาในไตรมาส 1 ปีนี้   ซึ่งคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 3.6% รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี)ที่ปรับตัวลดลง ตามมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ชะลอตัวลงถึง 30%

“แม้ไตรมาส 1 ปีนี้จะยังสำรองสูง แต่เชื่อว่าทั้งปีนี้ ยังคงอยู่ในกรอบที่แต่ละแบงก์คาดการณ์ไว้  และจากที่เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวที่ดีนั้น ทำให้ NPL ปีนี้จะยังอยู่ในกรอบเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.3-0.5% จากปีก่อน” 

 อย่างไรก็ตาม หากกำไรสุทธิแบงก์ในไตรมาส 1 ปีนี้เป็นตามคาด จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของประมาณการกำไรสุทธิแบงก์  ฝ่ายวิจัยคาดว่าปีนี้กลุ่มแบงก์จะมีกำไรสุทธิ ที่ 214,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 196,051 ล้านบาท โดยแนะนำหากนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้นแบงก์มองว่าในช่วงที่ขึ้น XD ราคาหุ้นลงมาเป็นโอกาสเข้าซื้อ จากมองว่าระยะกลางมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี จากราคาหุ้นไม่แพง และได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัว  

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย กล่าวว่า  คาดกำไรกลุ่มแบงก์ (7 แบงก์)ไตรมาส 1 ปีนี้  2566 อยู่ที่ 42,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ลดลง เช่น ค่ามาร์เก็ตติ้ง และค่าใช้จ่ายพนักงานในการจ่ายโบนัสช่วงปลายปีก่อน 

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 4%  เพราะส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่สาเหตุที่เพิ่มขึ้นไม่มากเป็นผลจากการตั้งสำรองที่ยังสูงราว  37,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้งสำรอง 33,400 ล้านบาท 

โดยสาเหตุมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หมด ทำให้แบงก์น่าจะปล่อยลูกหนี้ที่ไปไม่ไหวให้เป็น NPLมากขึ้น ทำให้ NPL เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จาก 3.5% ประกอบกับความไม่แน่นอนของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ และยุโรป ทั้ง SVB และเครดิตสวิส (CS)  ทำให้แบงก์ยังเลือกตั้งสำรองไว้ก่อน

 ส่วนทั้งปีนี้คาดว่ากลุ่มแบงก์มีกำไรที่ 170,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 160,000 ล้านบาท  ส่วน NPL ปีนี้คาดอยู่ที่ 3.9%เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 3.5% และคาดว่าการตั้งสำรองทั้งปีอยู่ระดับปกติที่ 1.3-1.4% ของสินเชื่อรวม เพราะที่ผ่านมา แบงก์ได้ตั้งสำรองพิเศษไปมากแล้ว 

 ดังนั้นฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย ยังคงให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด เพราะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ทำให้ NPLไม่ได้ปรับขึ้นมาก  และได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ที่จะทำให้มาร์จิ้นของกลุ่มแบงก์เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปีนี้

 สำหรับหุ้นที่แนะนำคือ แนะKTB และTTB เพราะราคาถูก P/BV ที่ 0.6 เท่า และไม่เน้นโตสินเชื่อมากนัก แต่เน้นเพิ่มมาร์จิ้น จากการปรับพอร์ตสินเชื่อที่ได้ดอกเบี้ยต่ำไปดอกเบี้ยสูง เช่น KTB ลดสินเชื่อภาครัฐบาล เพิ่มสินเชื่อรายย่อย ส่วนTTB ลดสินเชื่อรายใหญ่ไปเพิ่ม สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน ต่างจากแบงก์อื่นที่โตได้จากการปล่อยสินเชื่อสูงๆ รวมถึงมีสินเชื่ออยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ 2-3% ของสินเชื่อรวม และสามารถควบคุมคุณภาพลูกหนี้ได้ดี ทำให้มี NPLต่ำกว่าในกลุ่ม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์