'หุ้นไทย'วันนี้ปรับตัวขึ้น 1,615 – 1,620 จุด คลายกังวลธนาคารต่างประเทศ

'หุ้นไทย'วันนี้ปรับตัวขึ้น 1,615 – 1,620 จุด คลายกังวลธนาคารต่างประเทศ

โบรกคาด "หุ้นไทย" วันนี้ (30 มี.ค.2566) ปรับตัวขึ้นแนวต้าน 1,615 – 1,620 จุด ตาม sentiment บวกตลาดหุ้นรอบบ้านดีดตัวขึ้นหลังสถานการณ์ธนาคารต่างประเทศผ่อนคลายลง อีกทั้งกนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% ตามคาด

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ประเมินดัชนี "หุ้นไทย" วันนี้ (30 มี.ค.2566) ปรับตัวขึ้นแนวต้าน 1,615 – 1,620 จุด ตาม sentiment บวกตลาดหุ้นรอบบ้านดีดตัวขึ้นหลังสถานการณ์ธนาคารต่างประเทศผ่อนคลายลง อีกทั้ง กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% ตามคาดพร้อมเผยภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามควรระวังความผันผวนจากการเปลี่ยนซีรี่ย์ TFEX ในวันนี้ 

กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ : KCE HANA BE8 BBIK อานิสงส์ดัชนี NASDAQ ดีดตัวขึ้นแรง ขณะที่ BBL KTB KBANK SCB สถานการณ์ธนาคารต่างประเทศผ่อนคลาย และ BGRIM GULF GPSC เก็งข่าวประกาศผู้ได้คัดเลือกขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ประเด็นสำคัญวันนี้ที่ต้องติดตาม 

 (+) ดาวโจนส์บวกแรง จากแรงซื้อหุ้นกลุ่ม Tech และ กลุ่มธนาคาร: ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 323 จุด (+1%) ปิดที่ระดับ 32,718 จุด นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีรับข่าวบริษัทไมครอน เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐออกมาเปิดเผยแนวแนวโน้มผลประกอบการที่สดใสในระยะข้างหน้า นอกจากนี้นักลงทุนยังเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารคาดหวังปัญหาในภาคธนาคารจะทยอยคลี่คลายลง

  (+/-) กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาดแต่ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้และปีหน้าเล็กน้อย: กนง.มีมติเป็นเอกฉันฑ์ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.5% เป็น 1.75% ตามคาด แต่ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้และปีหน้าเป็น 3.6% และ 3.8% จากเดิม 3.7% และ 3.9% ตามลำดับ นักวิเคราะห์ Banking Sector ของเราคาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งเป็นครั้งสุดท้ายอีก 0.25% เป็น  2% ในการประชุมครั้งถัดไป (31 พ.ค.2023)

  (+/-) พรุ่งนี้ติดตามดัชนี PCE Price Index ของสหรัฐบ่งชี้ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด: หากดัชนี PCE Price Index ของสหรัฐเดือน ก.พ.ปรับตัวลงจะเป็นสัญญาณบวกกับตลาดและคาดหวังได้ว่าเฟดอาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยตามที่เคยประเมินไว้ เบื้องต้น Bloomberg Consensus คาด Headline PCE จะลดลงสู่ระดับ 5.1% จาก 5.4% ในเดือน ม.ค. ส่วน Core PCE คาดทรงตัวที่ระดับ 4.7% ตามเดิม