‘หุ้นรับเหมา’รับโชค! รัฐเร่งเคลียร์โปรเจกต์ค้างท่อ 7 แสนล้านบาท

‘หุ้นรับเหมา’รับโชค! รัฐเร่งเคลียร์โปรเจกต์ค้างท่อ 7 แสนล้านบาท

นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง หลังนายกฯ ประกาศเตรียมยุบสภาฯ ในช่วงต้นเดือน มี.ค. นี้ ซึ่งตามธรรมเนียมรัฐบาลจะเร่งผลักดันโครงการค้างท่อเข้าสู่ ครม. เพื่อพิจารณาทิ้งทวนก่อนที่จะพ้นวาระ และส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดใหม่

ทั้งนี้ แม้จะยุบสภา แต่รัฐบาลต้องรักษาการไปอีกราวๆ 4 เดือน ถึงต้นเดือน ส.ค. กว่าจะได้เห็นโฉมหน้าโฉมตาของรัฐบาลใหม่ ซึ่งระหว่างนี้รัฐบาลรักษาการ ยังสามารถเสนอโครงการให้ ครม. พิจารณาได้ แต่ต้องไม่เป็นโครงการที่ผูกพันกับ ครม. ใหม่

สำหรับหน่วยงานหลักที่ถูกจับตาหนีไม่พ้น “กระทรวงคมนาคม” ที่มีโครงการเมกะโปรเจกต์ค้างทอรอเสนอ ครม. อยู่อีกหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 7 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์กันว่าโครงการที่มีโอกาสถูกผลักดันออกมามากที่สุดจะเป็นจำพวกโครงการส่วนต่อขยายที่มีการใช้งบผูกพัน

ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 4 สาย ได้แก่ ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท, ตลิ่งชัน-ศิริราช 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท, รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท และ Missing link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท

รวมถึงโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 365 กิโลเมตร วงเงิน 300,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งตามแผนมี 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กิโลเมตร วงเงิน 275,301 ล้านบาท แต่เบื้องต้นคาดจะเสนอก่อน 3 เส้นทาง ได้แก่

ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,748 ล้านบาท, ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท และชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท

‘หุ้นรับเหมา’รับโชค! รัฐเร่งเคลียร์โปรเจกต์ค้างท่อ 7 แสนล้านบาท

ส่วนอีกโครงการใหญ่ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ วงเงิน 145,265 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ยังมีคดีความฟ้องร้องในชั้นศาลอยู่หลายคดี ทำให้ยังไม่สามารถเสนอผลการประมูลเข้า ครม. เพื่ออนุมัติงบประมาณได้

การอนุมัติโปรเจกต์ค้างท่อถือเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง จากโครงการลงทุนที่จะถูกผลักดันออกมา ขณะเดียวกันยังจะได้รับอานิสงส์จากรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เดินหน้าโครงการต่างๆ ตามที่ได้หาเสียงไว้

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การจัดสรรงบประมาณของภาครัฐเริ่มเห็นแนวโน้มการใช้จ่ายด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันไทม์ไลน์หลังยุบสภาในปี 2566 ที่ชัดเจนมากขึ้น บวกกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. รักษาการ จะไม่สามารถอนุมัติโครงการที่ผูกพัน ครม.ใหม่ได้

ซึ่งจากข้อจำกัดดังกล่าว ส่งผลให้หลายโครงการที่กระทรวงคมนาคมรอเสนอ ครม. จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนหมดวาระ ปัจจัยข้างต้นคาดว่าจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มก่อสร้าง รับเหมา อาทิ CK, STEC, TASCO, ITD เป็นต้น

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า รัฐบาลเตรียมเสนอโครงการลงทุนใหญ่ที่ยังค้างท่ออยู่เข้า ครม. ก่อนที่จะยุบสภา มูลค่าเบื้องต้นราว 7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ราว 5 แสนล้านบาทยังเป็นโครงการที่อยู่นอกเหนือจากทีมกลยุทธ์เคยรวบรวม ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมาอนุมัติโครงการลงทุนกว่า 2.7 ล้านล้านบาท หนุนภาพความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐานไทยระยะกลาง-ยาว โดยหุ้นที่มีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างชาติ ได้แก่ AMATA, WHA