IRPC เผยปี65 พลิกขาดทุน 4.36 พันล้าน จากปี 64 กำไรสุทธิที่ 1.45 หมื่นล้าน

IRPC เผยปี65 พลิกขาดทุน 4.36 พันล้าน จากปี 64 กำไรสุทธิที่ 1.45 หมื่นล้าน

IRPC เผยปี65 พลิกขาดทุน 4.36 พันล้าน จากปี 64 กำไรสุทธิที่ 1.45 หมื่นล้าน ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 65 มีผลขาดทุน 7.14 พันล้านบาท ลดลง 426% เหตุปิดซ่อมใหญ่โรงงาน-ขาดทุนสต๊อก

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลประกอบการปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 4,363.61 ล้านบาท ลดลง 130% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 14,504.62 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายสุทธิ 318,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 2564 จากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 43% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปริมาณขายลดลง 8% จากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผน (Major Turnaround) มี Market GIM อยู่ที่ 23,761 ล้านบาท (10.57 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล) ลดลง 20% เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวลดลง ประกอบกับต้นทุน Crude Premium ปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดยมีส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และเบนซิน หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2564 ที่ราคาเฉลี่ย 69.24 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล เป็น 96.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัท บันทึก Net Inventory Loss รวม 6,348 ล้านบาท หรือ 2.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบด้วยกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 4,384 ล้านบาท ขณะที่มี NRV 2,347 ล้านบาท และขาดทุนจาก Realized Oil Hedging 8,385 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มี Net Inventory Gain 11,104 ล้านบาท หรือ 4.92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัท มี Accounting GIM 17,413 ล้านบาท หรือ 7.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 23,279 ล้านบาท หรือ 10.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ขณะที่ บริษัทมีค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 12,813 ล้านบาท ลดลง 6% ส่งผลให้บริษัทมี EBITDA 3,987 ล้านบาท ลดลง 22,974 ล้านบาท หรือลดลง 85% และบันทึกค่าเสื่อมราคา 8,059 ล้านบาท ลดลง 6% ต้นทุนทางการเงินสุทธิ 1,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น

***ไตรมาส 4 ปี 65 ขาดทุน 7.14 พันล้าน 

สำหรับผลดำเนินงานไตรมาส 4/65 มีผลขาดทุน 7,149 ล้านบาท ลดลง 426% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 55,081 ล้านบาท ลดลง 32,231 ล้านบาท หรือ 37% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Turnaround) ประมาณ 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้สำรองสินค้าคงคลังเพื่อรองรับการจำหน่ายสินค้าในช่วงการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน ทำให้ปริมาณขายลดลงน้อยกว่าปริมาณการผลิตที่ลดลงโดยปริมาณขายลดลง 31% และราคาขาย เฉลี่ยลดลง 6% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง สำหรับโรงกลั่นน้ำมันมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 119,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 37%

บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 2,609 ล้านบาท (6.50 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล) ลดลง 42% จากสัดส่วนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผน

ไตรมาสนี้ บริษัทบันทึก Net Inventory Loss รวม 6,816 ล้านบาท หรือ 17.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบด้วยขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 3,826 ล้านบาท รายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับ (NRV) 1,905 ล้านบาท และขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง (Realized Oil Hedging) 1,085 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 70% ส่งผลให้บริษัท มีขาดทุนขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) 4,207 ล้านบาท หรือ 10.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับไตรมาส 3/65 ที่มีกำไร จาก Accounting GIM 465 ล้านบาท

ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานมีจำนวน 3,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% ทำให้บริษัท มีผลขาดทุนก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 7,836 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 180%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์