ดาวโจนส์บวก 205 จุด คลายกังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังจีดีพีสหรัฐสูงเกินคาด

ดาวโจนส์บวก 205 จุด คลายกังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังจีดีพีสหรัฐสูงเกินคาด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(26ม.ค.)พุ่งขึ้น 205 จุด ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่สูงเกินคาด

นอกจากนี้ นักลงทุนยังขานรับการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทเทสลา และสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 205.57 จุด หรือ 0.61% ปิดที่ 33,949.41 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 44.21 จุด หรือ 1.10%  ปิดที่ 4,060.43 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 199.06 จุด หรือ 1.76% ปิดที่ 11,512.41 จุด

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับจีดีพีประจำไตรมาส 4/2565 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.9% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.8% หลังจากขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 3

การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงสิ้นปี 2565

การเปิดเผยตัวเลขจีดีพีดังกล่าวช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากเศรษฐกิจหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1/2565 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ในปี 2565 หลังจากพุ่งแตะระดับ 5.9% ในปี 2564

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 5.6% ในเดือนธ.ค. หลังจากร่วงลง 1.7% ในเดือนพ.ย.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นเพียง 2.5% ในเดือนธ.ค.
ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนซึ่งพุ่งขึ้น 5.6% ในเดือนธ.ค. ถือเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนก.ค.2563 โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อเครื่องบิน

นอกจากนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเพิ่มขึ้น 10.5% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพรุ่งนี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ และสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะที่ครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)