ดาวโจนส์ปรับตัวในกรอบแคบ เพิ่มขึ้น 9.88 จุด รับข่าวผลประกอบการบริษัทแย่

ดาวโจนส์ปรับตัวในกรอบแคบ เพิ่มขึ้น 9.88 จุด รับข่าวผลประกอบการบริษัทแย่

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(25ม.ค.)ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 9.88 จุด ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังบริษัทจดทะเบียนเปิดเผยผลประกอบการที่ซบเซา โดยได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 9.88 จุด หรือ 0.03% ปิดที่ 33,743.84 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 0.73 จุด หรือ 0.02% ปิดที่ 4,016.22 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 20.91 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 11,313.36 จุด

ราคาหุ้น ของบริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป ดิ่งลง 4% หลังเปิดเผยคาดการณ์รายได้ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยไมโครซอฟท์เปิดเผยกำไรสูงกว่าคาดในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.2565 ซึ่งเป็นไตรมาส 2 ในปีงบการเงิน 2566 แต่รายได้ต่ำกว่าคาด

ไมโครซอฟท์ ระบุว่ามีกำไร 2.32 ดอลลาร์/หุ้น โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.29 ดอลลาร์/หุ้น

อย่างไรก็ดี บริษัทมีรายได้ 5.275 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.294 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์คาดการณ์ว่า รายได้ในไตรมาส 3 ของปีงบการเงิน 2566 จะขยายตัวราว 3% สู่ระดับ 5.05-5.15 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.243 หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนหุ้นของบริษัทโบอิ้งร่วงลงกว่า 1% หลังเปิดเผยว่า บริษัทประสบภาวะขาดทุนในไตรมาส 4/2565 สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าบริษัทมีกำไร ขณะที่รายได้ต่ำกว่าคาด โดยได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ โบอิ้งเปิดเผยว่า บริษัทประสบภาวะขาดทุน 1.75 ดอลลาร์/หุ้น สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่ามีกำไร 0.26 ดอลลาร์/หุ้น

 นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ 1.998 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.038 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน โบอิ้งเปิดเผยว่าบริษัทมีผลขาดทุน 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 แม้รายได้เพิ่มขึ้น 7% สู่ระดับ 6.66 หมื่นล้านดอลลาร์

นักลงทุนจับตาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 4/2565 ในวันนี้ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ และสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะที่ครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)