เปิด 3 ปมร้อน ก.ล.ต.แตก 'อาคม' โยนบอร์ดชี้ขาด ”รื่นวดี”- ส่ง สศค.เคาะปิดเอเชีย เวลท์

เปิด 3 ปมร้อน ก.ล.ต.แตก  'อาคม' โยนบอร์ดชี้ขาด ”รื่นวดี”- ส่ง สศค.เคาะปิดเอเชีย เวลท์

บอร์ด ก.ล.ต.ร้าวหนัก เสียงแตกประเด็นต่อวาระเลขาธิการ ก.ล.ต. หลังที่ประชุมเมื่อปลายธ.ค.เสียงส่วนใหญ่ส่อคัดค้านการต่อวาระ “รื่นวดี” เชื่อปมจากพิษหุ้นมอร์ - ปิดเอเชียเวลท์ - บิทคับ เหตุบอร์ดบางรายอาจมีส่วนได้เสีย ขณะที่ “อาคม” ชี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการชี้ขาด

แวดวงตลาดทุนกลับมาร้อนระอุ อีกครั้งหลังจากมีรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2565 ได้พิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่กำลังจะครบวาระในวันที่ 1 พ.ค.2566 แต่ที่ประชุมบอร์ด ก.ล.ต.ในวันดังกล่าว เกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างหนักถึงการต่อวาระของนางสาวรื่นวดี

แหล่งข่าวจาก บอร์ด ก.ล.ต. รายหนึ่ง กล่าวว่า การประชุมวันนั้นมีการถกเถียงอย่างหนัก ในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ และความเหมาะสม ตัวเองเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนและโหวตให้ นางสาวรื่นวดี ทำงานต่อไปอีกวาระหนึ่ง แม้ว่าจะมีอายุการทำงานในวาระที่สองได้แค่ 1-2 ปี เนื่องจากมีการทำงานที่เข้มข้น ตรงไปตรงมา และสร้างบรรทัดฐานในตลาดทุนได้อย่างดี แม้ว่าระหว่างทางจะมีปัญหาหลายอย่าง และจำเป็นต้องขับเคลื่อนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนองค์กรของ ก.ล.ต.ให้มีอำนาจในการสอบสวนคดีเช่นเดียวกับอัยการ 

นอกจากนี้ยังต้องเดินหน้าในส่วนของคดีที่เกี่ยวพันกับคริปโทเคอร์เรนซีใหญ่ เช่น บิทคับ และ ซิปเม็กซ์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก หรือคดีใหญ่ที่เกี่ยวพันกับกรณีหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และโบรกเกอร์ รวมถึงมีความเด็ดขาดในการสั่งปิดกิจการบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งแม้จะเกี่ยวพันกับบอร์ด ก.ล.ต.บางคนก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนให้ทำหน้าที่ต่อ

อย่างไรก็ตาม มีกรรมการหลายคนที่ไม่เห็นด้วยให้ต่ออายุ และควรเปิดให้สรรหาใหม่ ถ้า เลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน จะสมัครเพื่อทำงานต่อไป ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะเห็นว่า เลขาธิการ ก.ล.ต.เป็นคนแข็ง ยอมหักไม่ยอมงอ จนเกิดปัญหาการเมืองภายในองค์กร เกิดความขัดแย้ง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนบอร์ดแตกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุน ฝ่ายที่คัดค้านการต่ออายุของเลขาธิการ ก.ล.ต.และฝ่ายที่เสนอว่าควรพิจารณาประเด็นนี้ให้ถี่ถ้วน เพราะเกี่ยวพันกับจุดยืนการมีส่วนได้ส่วนเสีย และการทำหน้าที่ของบอร์ด ก.ล.ต.

อย่างไรก็ตาม กลับมีการแจ้งมติของการประชุมที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 4 ในการไม่ต่ออายุเลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน ซึ่งนำมาในเรื่องประเด็นการถกเถียงกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นว่าจะมีการฟ้องร้องคดีกัน ระหว่างเลขาธิการ ก.ล.ต.กับ บอร์ด ก.ล.ต. ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2566

ทว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นทางการ จากทางเลขาธิการ และ บอร์ด ก.ล.ต. แต่อย่างใด

เปิด 3 ปมใหญ่ ก.ล.ต.แตก

แหล่งข่าวจากบอร์ด ก.ล.ต. อีกรายยอมรับว่า ปัญหาความขัดแย้งใน ก.ล.ต.ระหว่างกรรมการกับเลขาธิการ ก.ล.ต. ในด้านความขัดแย้งทางความคิด และจุดยืนในการทำงานระหว่างเลขาธิการกับกรรมการเป็นเรื่องจริง โดยสาเหตุมาจาก 4 ประเด็นใหญ่ 

1.เป็นเรื่องจุดยืน และความสัมพันธ์ของคนในเรื่องการปิดบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สั่งอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องกว่า 24 ราย บัญชีทรัพย์สิน 30 รายการ มูลค่าราว 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้พัวพันไปถึง เส้นทางการเงินในอดีต และการโอนเงินในกลุ่มครอบครัวของผู้บริหาร และครอบครัวของผู้ถือหุ้น

“คดีของบล.เอเชีย เวลท์ ที่ ก.ล.ต.แจ้งความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และได้ส่งเรื่องให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ดำเนินคดีอาญา และเสนอให้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังพิจารณา เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบล.เอเชีย เวลท์ น่าจะเป็นประเด็นใหญ่สุด”

 2.เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและคาราคาซังมาจากคำสั่งของก.ล.ต.ในกรณีของกลุ่มบิทคับ ที่มีปัญหาเรื่องระบบปฏิบัติการ การให้บริการ การสร้างปริมาณเทียมราคาเหรียญ จนนำมาซึ่งคำสั่งเปรียบเทียบปรับ เรื่องคุณสมบัติเหรียญ KUB ที่นำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล

3.ปัญหาที่ต่อเนื่องมาจาก ซิปเม็กซ์ ที่ประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโทเคอร์เรนซี และเงินบาท จนก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาทเศษและปัจจุบันยังจ่ายเงินคืนให้นักลงทุนไม่ได้

“ทั้ง 3 ประเด็นที่ทาง ก.ล.ต.ทำมานั้น นำมาซึ่งความขัดแย้งกันอย่างหนัก จนการประชุมบางครามีกรรมการ ต้องเสนอให้กรรมการบางท่าน ที่เกี่ยวพันต้องออกจากห้องประชุมก็มี และทั้ง 3 เรื่องมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันจนนำมาซึ่งปัญหาการต่ออายุของเลขาธิการ ก.ล.ต.ซึ่งเรื่องนี้กระทบกับภาพพจน์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดทุนอย่างมาก”แหล่งข่าวชี้แจง

เบื้องหลังบอร์ดใกล้ชิดถือหุ้นเอเชีย เวลท์ 

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นางสาวรื่นวดี เลขาธิการ ก.ล.ต. และ นายพิชิต อัคราทิตย์ ในฐานะประธานบอร์ด ก.ล.ต. แต่ไม่สามารถติดต่อได้

ขณะที่กรรมการ ก.ล.ต.อีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า ในระเบียบของการถือหุ้นในบริษัทของกรรมการ ก.ล.ต.นั้น จะสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 5% แต่กรณีนี้มีคนใกล้ชิดกรรมการ ก.ล.ต.ท่านหนึ่งถือหุ้น 1% ในบล.เอเชีย เวลท์ ถือว่าไม่ผิด ยังถือหุ้นต่อไปได้ แต่ในกรณีนี้เมื่อมีการพิจารณากรณีเกี่ยวกับ บล.เอเชีย เวลท์ กรรมการท่านนั้นออกจากที่ประชุมทุกครั้ง

สำหรับปมขัดแย้งกรณี บล.เอเชีย เวลท์ เกิดจาก 17 พ.ย.2565 ก.ล.ต.สั่งระงับกิจการบางประเภท บล.เอเชีย เวลท์ ชั่วคราว เหตุนำเงินฝากลูกค้า 157 ล้านบาท ชำระค่าหุ้น MORE โดยไม่ได้รับการยินยอม และสั่ง บล.เอเชีย เวลท์ นำเงินมาคืนลูกค้าภายใน 20 พ.ย.2565 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ต่อมา 22 พ.ย.2565 ได้สั่งระงับกิจการ บล.เอเชีย เวลท์ ทุกประเภท เหตุดำรงเงินกองทุนไม่ได้ตามกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 29 ธ.ค.2565 ที่ประชุมบอร์ด ก.ล.ต. วาระต่ออายุเลขา ก.ล.ต. บอร์ดถกเถียงอย่างหนักต่อหรือไม่ต่อ ก่อนที่ 14 ม.ค.2566 ก.ล.ต. ปรับบล.เอเชีย เวลท์ กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 4 มาตรา รวม 5,295,000 บาท และปลาย ม.ค.2566 มีรายงานว่า ก.ล.ต.ส่งเรื่องให้คลังปิดกิจการ บล.เอเชีย เวลท์ 

“อาคม” โยนบอร์ด ก.ล.ต.ชี้ขาด

รายงานข่าวจากกรรมการที่เข้าที่ประชุมบอร์ด ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ยอมรับว่า บรรยากาศที่ประชุมมีความพยายามนำเสนอข้อมูลผ่านการเขียนจดหมายตอบโต้ไปมาระหว่างกรรมการกลุ่มเก่า และกลุ่มใหม่ที่มีความเห็นต่างกัน รวมถึงมีการให้ข้อมูลทางวาจาระหว่างการประชุมอย่างต่อเนื่อง 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีการต่อวาระหรือไม่ต่อวาระเลขาธิการ ก.ล.ต.นั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.เป็นผู้พิจารณา ส่วนการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ของ บล.เอเชีย เวลท์ นั้น ขณะนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กำลังพิจารณา 

รายชื่อบอร์ด ก.ล.ต.

สำหรับบอร์ด ก.ล.ต.มีรวมทั้งหมด 10 คน ไม่นับรวมตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งประกอบด้วย  1.นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ 2.นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง 3.นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ 4.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 5.นายสุภัค ศิวะรักษ์

6.นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย 7.นายวิพุธ อ่องสกุล 8.นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค 9.นายพรชัย ชุนหจินดา 10.นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล

ทั้งนี้กระบวนการคัดเลือกบอร์ด ก.ล.ต. ประกอบด้วย ประธานกรรมการ แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีตามคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีกรรมการโดยตำแหน่งจากภาครัฐ 3 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง , ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่า 4 คน แต่ไม่เกิน 6 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด และต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย การบัญชี และการเงิน ด้านละ 1 คนเป็นอย่างน้อย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์