ซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ต้องดูอะไรบ้าง

ซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ต้องดูอะไรบ้าง

ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินจากเข้มงวดเป็นผ่อนคลาย หนึ่งในสินทรัพย์ที่คาดว่าจะทำได้ดี คือ กลุ่มตราสารหนี้ โดยเฉพาะในวัฏจักรปัจจุบันที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นมามากแล้ว

และมีความเป็นไปได้สูงที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงท้ายของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และอาจรวมถึงประเทศในฝั่งเอเชียบ้านเราด้วย ทำให้นักวิเคราะห์และบริษัทจัดการกองทุนหลายๆ แห่งเริ่มมีการแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มเติม (Overweight) ในปีนี้ แต่ละแห่งก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันไปเนื่องจากสินทรัพย์ในกลุ่มตราสารหนี้มีความหลากหลายค่อนข้างมาก เช่น กลุ่มพันธบัตรรัฐบาล กลุ่มหุ้นกู้เอกชน หรือ กลุ่มพันธบัตรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งในสกุลเงินท้องถิ่นหรือสกุลเงินดอลลาร์

กองทุนตราสารหนี้ก็นับเป็นหนึ่งในทางเลือกของการลงทุนที่สะดวกและช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้นั้นมีความแตกต่างกับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงที่ผู้ลงทุนในบ้านเรามักจะถือจนครบกำหนด เช่น ในกลุ่มหุ้นกู้เอกชนที่เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นนักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณานโยบายการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งจะมีปัจจัยที่ต้องดูหลายๆ ด้าน นอกจากนั้นกองทุนรวมตราสารหนี้ส่วนใหญ่ (ยกเว้นกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาแน่นอน หรือมีการกำหนดอายุโครงการไว้อย่างชัดเจน หรือ Term Fund) ก็จะมีการตีราคาสินทรัพย์ (Mark-to-Market) อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดกำไรหรือขาดทุนในรูปของราคาของกองทุนได้ โดยหากพิจารณาลงทุนตราสารหนี้ 3 ปัจจัยสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ ได้แก่

ชนิดของตราสารหนี้ที่กองทุนมีนโยบายลงทุน ในขณะที่ตราสารทุนมีการแบ่งออกเป็นสไตล์ของการลงทุน เช่น เน้นมูลค่า (Value) เน้นเติบโต (Growth) หรือ ขนาดของหลักทรัพย์ เช่น ขนาดใหญ่ หรือ ขนาดเล็ก ตราสารหนี้จะแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ เป็นหลัก เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) หุ้นกู้เอกชนในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) หุ้นกู้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market Bond) ทั้งสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) หรือสกุลเงินดอลลาร์ หรือแม้แต่กลุ่มตราสารหนี้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ต่างๆ เช่น Mortgage-Backed Securities

ซึ่งแต่ละชนิดจะมีผลช่วงของผลตอบแทนที่แตกต่างกันสะท้อนระดับของความเสี่ยงที่แตกต่างกัน รวมถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลกระทบและเป็นปัจจัยสำคัญที่แตกต่างกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มหุ้นก็เอกชนซึ่งดอกเบี้ยนั้นหลักๆ กำหนดจาก ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล กับ Credit Spread (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยซึ่งขึ้นอยู่กับโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้และอันดับความน่าเชื่อถือ) ก็อาจจะเหมาะกับในช่วงที่ดอกเบี้ยโดยรวมลดลงและเศรษฐกิจยังดีอยู่เนื่องจากโอกาสผิดนัดชำระหนี้ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีหลายกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในภาพรวม (Aggregate Bond) ซึ่งก็จำเป็นจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่ามีการกำหนดนำหนักอย่างไร ลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง และเน้นลงทุนในภูมิภาคใดเป็นหลัก สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยและปัจจัยพื้นฐานที่เราคาดไว้หรือไม่

ช่วงอายุของตราสารหนี้ที่กองทุนตั้งเป้าจะลงทุน ช่วงอายุของตราสาร (สะท้อนจาก Duration) มีส่วนสำคัญต่อผลตอบแทนของกองทุนไม่แพ้ประเภทของตราสารหนี้ โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะมีนโยบายการลงทุนที่ตั้งเป้าว่าจะลงทุนในช่วงอายุของตราสารเท่าใด แม้จะมีกรอบที่สามารถปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามมุมมอง แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ตลอดเวลา ทำให้ราคาเกิดการเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยในตลาด และอายุของตราสารในกองทุนจะไม่ลดลงไปจนศูนย์ ซึ่งแตกต่างจากการซื้อพันธบัตรแล้วถือจนครบกำหนดที่อายุของตราสารจะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นราคาของกองทุนก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรของดอกเบี้ยซึ่งน่าจะเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา โดยยิ่งกองทุนลงทุนในตราสารอายุยาวก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยมากกว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารอายุสั้นกว่า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ดีจากหลายๆ มุม ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของดอกเบี้ยในตลาด หรือ ระดับความเสี่ยงที่รับได้ รวมถึงองค์ประกอบโดยรวมอื่นๆ ของสินทรัพย์ในพอร์ตด้วยว่าเหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่

สุดท้ายสิ่งที่ลืมไปไม่ได้คือนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ภายใต้สภาวะตลาดในปัจจุบันนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นมากอันเกิดจากส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่กว้างขึ้น รวมถึงความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมาและน่าจะยังคงผันผวนอยู่ต่อเนื่องเมื่อพิจารณาปัจจัยทางด้านมหภาคโดยรวม ดังนั้นนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนสุทธิของกองทุนรวมตราสารหนี้อย่างมาก ทำให้นักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณาในส่วนนี้ให้ดีประกอบไปด้วย

แม้ในปี 2022 จะเป็นปีที่ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในรอบหลายๆ สิบปี แต่ก็เป็นเพราะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นแม้ในภาพรวมความเสี่ยงจะยังมีเนื่องจากเงินเฟ้อยังอาจจะผันผวนและกดดันนโยบายการเงินได้อีก แต่นโยบายการเงินไม่น่าจะซ้ำรอบกับปีที่แล้วอีกแล้ว ทำให้ในภาพรวมของตราสารหนี้น่าจะดีขึ้นมาก และอาจจะเป็นโอกาสอันดีในการปรับสัดส่วนการลงทุนเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญนั่นเองครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด