เชือด 'บล.เอเชียเวลท์' พบส่อแววมีปัญหาสภาพคล่องมิ.ย.63 ก.ล.ต.ปรับ 5.29 ลบ.

เชือด 'บล.เอเชียเวลท์' พบส่อแววมีปัญหาสภาพคล่องมิ.ย.63 ก.ล.ต.ปรับ 5.29 ลบ.

ก.ล.ต. ตรวจสอบเชิงลึก 'บล.เอเชียเวลท์' พบไม่ปฎิบัติตามเกณฑ์ สั่งเปรียบเทียบปรับ 4 กรณี มูลค่ารวม 5.29 ล้าน เหตุ "มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องไม่มีประสิทธิภาพ- NC ไม่เป็นไปตามเกณฑ์-รายงานNCไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง - ไม่ได้จัดทำ และยื่นแผนแก้ไขNC"

key Points :

  • บล.เอเชีย เวลท์ ขาดสภาพคล่อง นำเงินบัญชีหลักทรัพย์เพื่อลูกค้า 157.99 ล้านบาท ไปใช้โดยที่ลูกค้าไม่ยินยอม เพื่อนำไปชำระค่าซื้อหุ้นMORE แทนลูกค้าที่ส่งคำสั่งซื้อแต่ไม่มีเงินจ่าย 
  • ก.ล.ต.สั่งเปรียบเทียบปรับบล.เอเชีย  เวลท์ 4 กรณี  รวมมูลค่า  5,295,000 บาท                                        
  • กรณีแรก ระหว่างวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 พบ โดยมีระบบงานในการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องไม่มีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน  2,110,000 บาท
  • กรณีที่ 2 เระหว่างวันที่ 23 ก.พ. 2564 ถึงวันที่ 25 พ.ค. 2564 บล. เอเชีย เวลท์  ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด  เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 582,000 บาท  
  • กรณีที่ 3 ไม่ได้รายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เมื่อต่ำกว่าเกณฑ์ และนำส่งรายงานการดำรง NC รายเดือนต่อก.ล.ต.ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง  เปรียบเทียบปรับ 1,086,000 บาท 
  • กรณีที่4 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 11 ก.พ.2565  บล. เอเชีย เวลท์  ไม่ได้จัดทำและยื่นแผนการแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เปรียบเทียบปรับ 1,517,000 บาท  

 ปัญหาลูกโซ่กรณี หุ้นMORE  หรือ 'บมจ. มอร์ รีเทิร์น' ที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายที่ราคาเปิด จำนวนมาก1,500 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.90 บาท คิดเป็นมูลค่าราว 4,300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565  จนทำให้นักลงทุนที่คีย์คำสั่งซื้อ ไม่สามารถชำระค่าซื้อหุ้นได้

ดังนั้นทำให้บริษัทหลักทรัพย์(บล.)หรือโบรกเกอร์ ฝั่งผู้ซื้อประมาณ 10 แห่ง ต้องควักเงินของบล.นำไปชำระค่าซื้อหุ้นแทนลูกค้า  ซึ่งหนึ่งโบรกเกอร์ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องหนักสุด คือ บล.เอเชีย เวลท์  ตัดสินใจนำเงินบัญชีเพื่อลูกค้า มูลค่า 157.99 ล้านบาท โดยที่ลูกค้าไม่ยินยอม ไปชำระค่าซื้อหุ้น MOREแทนลูกค้าที่สั่งคำสั่งซื้อที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นได้

ส่งผลให้คณะกรรมกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.)จึงสั่งบล.เอเชีย เวลท์ หยุดประกอบธุรกิจชั่วคราวจนกว่านำเงินมาคืนลูกค้าและจัดทำระบบงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก 

จากรณีดังกล่าวทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เข้าไปตรวจสอบบล.เอเชีย เวลท์ เชิงลึก พบมีปัญหาในเรื่องของระบบงานในการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องไม่มีประสิทธิ ภาพ ตั้งแต่มิ.ย.2563 จึงนำไปสู่การเปรียบเทียบปรับ

ทั้งนี้จากข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย ...ได้เปรียบเทียบปรับ( บล.) เอเชีย เวลท์  จำนวน 4 กรณี  มูลค่ารวม   5,295,000 บาท   โดยกรณีแรก เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน  2,110,000 บาท เนื่องจากระหว่างวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 บล. เอเชีย เวลท์ จำกัด กระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด โดยมีระบบงานในการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องไม่มีประสิทธิ ภาพ       

กรณีที่ 2 เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 582,000 บาท  เนื่องจาก ระหว่างวันที่ 23 ก.พ. 2564 ถึงวันที่ 25 พ.ค. 2564 บล. เอเชีย เวลท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด          

กรณีที่ 3  เปรียบเทียบปรับ 1,086,000 บาท    เนื่องจาก ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2564 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564  บล. เอเชีย เวลท์  ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ได้รายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เมื่อ บล. เอเชีย เวลท์ มี NC เท่ากับหรือน้อยกว่า 1.5 เท่าของ NC ขั้นต่ำที่ บล. เอเชีย เวลท์ ต้องดำรงไว้ และนำส่งรายงานการดำรง NC รายเดือนต่อสำนักงานไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง 

กรณีที่ 4  เปรียบเทียบปรับ 1,517,000 บาท  เนื่องจากระหว่างวันที่ 26 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 11 ก.พ.2565  บล. เอเชีย เวลท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ได้จัดทำและยื่นแผนการแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่อสำนักงานภายในเวลาที่กำหนด และไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในกรณีที่ไม่สามารถดำรง NC ได้ตามที่ประกาศกำหนด   

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาสภาพคล่อง บล.เอเชีย เวลท์ ได้มีการขายและโอนพอร์ตลูกค้ารายย่อย ให้แก่ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย)   เสร็จเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2565