BTS-BTSGIF พ้นจุดต่ำสุด "ผู้โดยสารฟื้น-จ่อขึ้นราคา"

BTS-BTSGIF พ้นจุดต่ำสุด "ผู้โดยสารฟื้น-จ่อขึ้นราคา"

“รถไฟฟ้าบีทีเอส” เป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนหลักของคนกรุง เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกทม. ปทุมธานี และสมุทรปราการ ระยะทางรวมเกือบ 70 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ได้แก่ สายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีคูคตถึงสถานีเคหะสมุทรปราการ

และสายสีสม เริ่มตั้งแต่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสถานีบางหว้า โดยทั้ง 2 สาย มีจุดเชื่อมต่อกันอยู่ที่สถานีสยาม นอกจากนี้ ยังมีสายสีทองที่เปิดเดินรถจากสถานีกรุงธนบุรีไปสถานีคลองสาน

โดยในวันที่ 5 ธ.ค. นี้ บีทีเอส จะเปิดให้บริการครบ 23 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นค่าบริการไปทั้งหมด 3 ครั้ง แม้ว่าตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้ทุกๆ 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานสูงสุดที่ 21.52-64.53 บาท

ทั้งนี้ บีทีเอสได้ปรับขึ้นค่าโดยสารครั้งล่าสุดเมื่อ 1 ต.ค. 2560 จาก 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท จากนั้นพยายามตรึงค่าโดยสารมาตลอด 5 ปี แต่ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งค่าไฟ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้า ฯลฯ ทำให้เริ่มแบกรับภาระไม่ไหว

ประกอบกับในช่วง 2 ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารลดลง หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 กระทบรายได้ในการให้บริการ ขณะเดียวกันยังมีหนี้ที่ทาง กทม. ยังค้างจ่ายอีกกว่า 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 2 หมื่นล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลอีก 2 หมื่นล้านบาท

ซึ่งผู้บริหารเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเหมือนทำงานแล้วไม่ได้เงินเดือน จนต้องส่งหนังสือไปทวงหนี้กับ กทม. และกรุงเทพธนาคม รวมทั้งอัดคลิปทวงหนี้บนรถไฟฟ้าถึง 2 รอบ แต่เรื่องก็ยังเงียบ

ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินค้าจ้างซึ่งควรจะได้รับก็ยังไม่ได้ ทำให้เอกชนไม่ไหวเหมือนกัน แต่ถ้าหยุดวิ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ เหมือนโยนภาระให้ประชาชน บริษัทจึงตัดสินใจขอปรับขึ้นค่าโดยสารสายสุขุมวิท หมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยายสายสีลม กรุงธนบุรี และวงเวียนใหญ่ในรอบ 5 ปี จาก 16-44 บาท เป็น 17-47 บาท จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

BTS-BTSGIF พ้นจุดต่ำสุด \"ผู้โดยสารฟื้น-จ่อขึ้นราคา\"

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจค่อยๆ ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย จำนวนผู้ใช้บริการเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนปีหน้าเตรียมเปิดให้บริการเส้นทางใหม่สายสีชมพูและสายสีเหลือง หนุนยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า การปรับขึ้นราคาค่าโดยสารในครั้งนี้เป็นประโยชน์ทั้งกับ BTSGIF และ BTS ที่สัมปทานกว่าจะหมดอายุในปี 2572 เพราะรายได้ค่าโดยสารมีโอกาสจะปรับขึ้นหลังอัตราค่าโดยสารปรับขึ้น โดยเฉพาะปีหน้าที่จะได้ประโยชน์เต็มปี ทั้งนี้ BTSGIF เป็นผู้บริหารสัมปทานโดยตรง และบริษัทแม่คือ BTS ถือหุ้นในกองทุนฯ สัดส่วน 1ใน 3

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะจำกัดในประเด็น 1. ผู้โดยสารสามารถใช้โปรโมชั่นมาเป็นส่วนลดได้ และ 2. ผู้โดยสารอยู่ในช่วงการฟื้นตัว หลังโรคระบาดคลี่คลาย การดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติ รถไฟฟ้ามีความจำเป็นในการเดินทาง ซึ่งการปรับขึ้นค่าโดยสารเพิ่มขึ้นในอัตราไม่ได้สูงมาก ไม่น่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านบล.กรุงศรี ประเมินว่า อาจมีการประท้วงขึ้นค่าโดยสารโดยสมาคมผู้บริโภค แต่ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า BTS จะขึ้นค่าโดยสารได้สำเร็จเพราะเงื่อนไขเป็นไปตามสัมปทาน โดย BTS จะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการปรับขึ้นค่าโดยสารรอบนี้เพราะเส้นทางหลักของรถไฟฟ้าดำเนินการโดย BTSGIF (BTS ถือหุ้น 33.3% ใน BTSGIF) 

ซึ่งจากการศึกษาการปรับขึ้นค่าโดยสารในอดีตของฝ่ายวิจับยพบว่ามีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในเดือน มี.ค. 2550 ที่จำนวนผู้โดยสารลดลงจากการขึ้นค่าโดยสาร แต่การขึ้นค่าโดยสาร 2 ครั้งล่าสุด ในเดือน มิ.ย. 2556 และ ต.ค. 2560 จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น 

ทั้งนี้ หากใช้สมมติฐานว่าจำนวนผู้โดยสารยังเท่าเดิมหลังการปรับขึ้นค่าโดยสารจะทำให้มูลค่าของ BTSGIF เพิ่มขึ้นประมาณ 10.5% ยังคงแนะนำซื้อและประเมินราคาเป้าหมายที่ 11.30 บาท แม้ว่าผลประกอบการของ BTSGIF จะมีแนวโน้มดีขึ้นในปี 2566 แต่จะยังน้อยกว่าผลกระทบจากผลการดำเนินงานที่แย่เกินคาดของ VGI ดังนั้น จึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2566 ลง 13% แต่ยังคงประมาณการกำไรปี 2567ไว้เท่าเดิม