"4 กลุ่มหุ้นบริโภค”ในประเทศ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ- ดัชนีปี 66

"4 กลุ่มหุ้นบริโภค”ในประเทศ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ- ดัชนีปี 66

เทศกาลการแห่งการจับจ่ายเงินกลับมาคึกคักและมีตัวเลขที่สะท้อนได้ชัดเจนว่าเป็นการกลับมา “ฟื้นตัวการบริโภคภาคประชาชน” และ “การท่องเที่ยว” กลายเป็นสัญญาณบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตแม้จะมีความกังวลเศรษฐกิจถดถอย แต่นาทีนี้การฟื้นตัวของเอเชียกลับมีออร่ามากขึ้น

ปัจจัยการประท้วงของประชาชนชาวจีนที่ไม่พอใจนโยบาย zero covid   ลุกลามในหลายเมืองใหญ่ ถึงขั้นเรียกร้องให้ ประธานาธิบดี สี เจิ้งเผิง ลาออกจากตำแหน่งเพราะดำเนินนโยบายมีผลต่อชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจกำลังทำให้รัฐบาลต้องผ่อนปรนกำแพงโควิดลงจน “โกลด์แมน แซคส์” คาดรัฐบาลจีนอาจจะยุติ  zero covid ก่อนเม.ย. 2566  ซึ่งให้เป็นไปได้ 30% ก่อนถึงไตรมาส 2/2566 และ 60% จะยุตินโยบายดังกล่าว ไตรมาส 2/2566

ฝั่งเศรษฐกิจที่เจอผบกระทบอย่างหนักจากเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างสหรัฐ ก็ยังมีกำลังซื้อไม่น้อย หลังมีการเปิดเผยตัวเลขจาก “อะโดบี อนาลิติกส์”  ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลในเครือบริษัทอะโดบี  (26 พ.ย.) ว่า ยอดใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์ใน วันแบล็กฟรายเดย์ (Black Friday) ซึ่งเป็นเทศกาลชอปปิงของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 9.12 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงก็ตาม

รายงานระบุว่า ยอดขายออนไลน์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทะยาน 221% เมื่อเทียบกับวันธรรมดาในเดือนต.ค. ส่วนยอดขายของเล่นพุ่งขึ้น 285% และยอดขายอุปกรณ์ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น 218% นอกจากนี้ อะโดบียังคาดการณ์ว่า วันไซเบอร์มันเดย์ (Cyber Monday) จะมียอดใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์

ฝากฝั่งของไทยไม่น้อยหน้าเพราะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ประจำเดือนพ.ย. 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยภูมิภาคที่ปรับตัวมากที่สุด ภาคตะวันออกดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 80.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

รองลงมาดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 79.0 โดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเพิ่มขึ้น และในภาคการลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการภาคบริการในบางพื้นที่มีการขยายกิจการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร

ดังนั้นแทบจะคาดการณ์ได้เลยว่าช่วงปลายปีจนถึงต้นปีหน้าภาพการออกมาสังสรรและใช้จ่ายรับกับช่วงคริสต์มาส เทศกาลปีใหม่ และยาวไปจนถึงตรุษจีน  จะกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในไทยอย่างต่อเนื่อง

รวมไปถึงลุ้นมาตรการครม.เคาะวันนี้ (29 พ.ย.) แม้จะส่งสัญญาณแล้วว่าไม่ต่อ “คนละครึ่งเฟส 5” แน่นอนแล้วเพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน แต่มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ”  ยังอยู่ในการพิจารณามีโอกาสประกาศ คาดว่าจะเพิ่มเติมจากเดิมที่ให้นำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท แต่รอบนี้จะเพิ่มสำหรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้อีก 10,000 บาท

ทั้งนี้ รายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการที่นำมาใช้สิทธิตามมาตรการได้ หลัก ๆ ก็จะเหมือนมาตรการครั้งที่ผ่านมา คือ ค่าซื้อสินค้าและบริการ โดยจะยกเว้นค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการอีบุ๊ก ค่าที่พักโรงแรม ค่าไกด์นำเที่ยว ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าเบี้ยประกัน

มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ถือว่าประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2560  จากชื่อมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” จูงใจด้านลดหย่อนทางภาษี ทำให้เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์ได้มาก จากเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจากร้านค้าและห้างต่างๆ ออกโปรโมชั่นมาช่วยกระตุ้นยอดขาย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ไอร่า การประชุม ครม. คาดมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีหนุนทิศทางหุ้นกลุ่มค้าปลีก (CPALL, CRC, MAKRO และ BJC) ปรับตัวขึ้นได้ต่อ

รวมทั้งยังชอบหุ้นกลุ่มโฆษณา (PLANB และ VGI) ที่คาดผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและฟื้นตัวขึ้นโดดเด่นตั้งแต่ช่วง ไตรมาส 3 ปี 2565 คาดจะหนุนทิศทางราคาฟื้นตัวกลับขึ้นได้ต่อ อีกทั้งคาดหุ้นกลุ่มบริการสถานีน้ำมัน (BCP, OR และ PTG) คาดจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นได้อีกครั้ง ตามการเข้าสู่ช่วงวันหยุดในเทศกาลปีใหม่ หนุนการเดินทางมากขึ้น เป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อทิศทางหุ้นใน กลุ่มดังกล่าว                          

อีกทั้งแนะนำติดตามการประชุม กนง. ของไทย คาดมีโอกาสที่คณะกรรมการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ที่ระดับ 0.25% ขึ้นสู่ระดับ 1.25% มองเป็นจิตวิทยาเชิงบวกหนุนทิศทางหุ้นกลุ่มธนาคาร (KBANK, BBL และ SCB) ปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง