เปิดประวัติ-งบการเงิน บล.เอเชีย เวลท์ ก่อนโดนพิษหุ้นMORE -หยุดประกอบธุรกิจชั่วคราว

เปิดประวัติ-งบการเงิน บล.เอเชีย เวลท์ ก่อนโดนพิษหุ้นMORE -หยุดประกอบธุรกิจชั่วคราว

เปิดประวัติ-งบการเงิน "บล.เอเชีย เวลท์" ก่อน ก.ต.ท.สั่งหยุดประกอบธุรกิจชั่วคราว เหตุ โยกเงินลูกค้าจ่ายค่าหุ้น MORE ด้านผลดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกปี65 "ขาดทุน 15.98 ล้าน - ผลขาดทุนสะสม 25.57 ล้าน -มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 97.81 ล้าน"

หากเอ่ยชื่อ"หุ้นMORE" หรือ บมจ.มอร์ รีเทิร์น ในภาคตลาดเงิน ตลาดทุน ขณะนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่สร้างความเสียหายมหาศาล อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) มูลค่าสูงกว่า  4,000 ล้านบาท 

 ด้วยการส่งคำสั่งซื้อขายจำนวนมากถึง1,500 ล้านหุ้น และไม่สามารถที่จะจ่ายค่าซื้อหุ้นกับโบรกเกอร์กว่า 10 แห่ง ส่งผลกระทบต่อโบรกเกอร์ที่เป็นฝั่งผู้ซื้อต้อง "ควักเงิน" ของบริษัทออกมาจ่าย  

หนึ่งในโบรกเกอร์ที่ได้รับความเสียหายจาก หุ้น MORE  คือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด หรือ AWS ที่ลูกค้าผิดนัดชำระค่าซื้อหุ้น และด้วยสภาพคล่องทางการเงินอาจตึงตัว ซึ่งงวดครึ่งปีแรก 2565 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพียง  97.81 ล้านบาท  อาจมีผลทำให้ต้องทำให้ต้องแหกกฎ โยกเงินของลูกค้า จากบัญชีหลักทรัพย์เพื่อลูกค้า  มูลค่า 157.99 ล้านบาท

เพื่อนำไปชำระค่าซื้อหุ้น MORE แทน ให้กับทางสำนักหักบัญชี หรือ TCH  โดยที่ลูกค้าไม่ยินยอม และนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์  ดังนั้นคณะกรรมกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.)จึงสั่งหยุดประกอบธุรกิจชั่วคราวจนกว่านำเงินมาคืนลูกค้าภายในวันที่ 20 พ.ย.และจัดทำระบบงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก 

สำหรับ บล.เอเชีย เวลท์ เป็นโบรกเกอร์หมายเลข 43 มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัทเอเชีย เวลท์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 99.99%  โดยเริ่มแรกจดทะเบียนภายใต้ชื่อ บล.เอกชาติ จำกัด และวันที่ 27 ต.ค.2541 เปลี่ยนเป็นจดทะเบียนชื่อ หลักทรัพย์ บีเอ็นพี ไพร์ม พีรีกริน (ประเทศไทย) จำกัด  และวันที่ 23 ส.ค. 2543 เปลี่ยนชื่อเป็น บล. บีเอ็นพี พารีบาส์ พีรีกริน (ประเทศไทย) จำกัด และวันที่ 9 ก.ค. 2556 เข้าซื้อบล. ซีไอเอ็มบี-จีเค (ประเทศไทย) จำกัด หรือCIMB-GK และเปลี่ยนชื่อเป็น บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด  

ในช่วงเริ่มต้น บล.เอเชีย เวลท์ ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ในวันที่  21 ต.ค.2556 และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์   โดยวันที่4 ธ.ค.2556 ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า   หลังจากนั้นได้รับใบอนุญาตกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์(SBL) (เฉพาะ Principal) เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2557  ขณะที่ในวันที่  11 มิ.ย.2557 ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล หลังจากนั้นได้รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในวันที่11 พ.ค.2558และวันที่  25 มิ.ย.2558 ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจค้าหลักทรัพย์

 
สำหรับผลการดำเนินงาน บล.เอเชีย เวลท์ ย้อนหลัง 5 ปี (2560-2564) และล่าสุดครึ่งปีแรก 2565  พบว่า

  • ปี 2560 มีรายได้รวม 521.56 ล้านบาท  ขาดทุนสุทธิ 88.72 ล้านบาท
  • ปี 2561 มีรายได้รวม 606.54 ล้านบาท มีผลขาดทุนสุทธิ 34.49 ล้านบาท  
  • ปี 2562 มีรายได้รวม 182.87 ล้านบาท  ขาดทุน 124.18ล้านบาท  
  • ปี 2563 มีรายได้รวม 156.73 ล้านบาท  ขาดทุนสุทธิ 111.43 ล้านบาท   
  • ปี 2564 มีรายได้รวม 257.50 ล้านบาท  มีกำไร 34.20 ล้านบาท  

ส่วนผลดำเนินงานในงวดครึ่งปีแรก2565 มีรายได้รวม 93.49 ล้านบาท และมีผลขาดทุน 15.98 ล้านบาท  และมีผลขาดทุนสะสมที่ 25.57 ล้านบาท  

 ขณะที่มีสินทรัพย์รวม 652 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 232.76 ล้านบาท  และมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่ 97.81 ล้านบาท 

เปิดประวัติ-งบการเงิน บล.เอเชีย เวลท์ ก่อนโดนพิษหุ้นMORE -หยุดประกอบธุรกิจชั่วคราว

 อย่างไรก็ตามจากการสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้รับคำยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีโบรกเกอร์รายอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกรณี หุ้นMORE และฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง

รวมถึงยังไม่มีโบรกเอร์รายใดที่มี NCR ลดลงอย่างน่ากังวล แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีโบรกเกอร์ ที่ประสบปัญหาเหมือน กับบล.เอเชีย เวลท์ อีกหรือไม่