AWC ปรับธุรกิจสู้ “ดอกเบี้ยขาขี้น” เตรียมเพิ่มสภาพคล่องรับมือ

AWC ปรับธุรกิจสู้ “ดอกเบี้ยขาขี้น” เตรียมเพิ่มสภาพคล่องรับมือ

"เอดับบลิวซี" ปรับทัพสู้ดอกเบี้ย "ขาขึ้น" เตรียมเพิ่มกระแสเงินสด-ผนึกพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงการ พร้อมเผยศึกษาซื้อโรงแรม หลังมีผู้มาเสนอขายทั้งในกทม.-ต่างจังหวัด

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ! ส่งผลกระทบรุนแรงมากในอุตสาหกรรม “ท่องเที่ยว-โรงแรม” จากการยกเลิกเที่ยวบินและการปิดประเทศ (Lockdown) เดิมประเทศไทย เคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนปีละกว่า 40 ล้านคน แต่ในปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาอยู่ที่ 6.70 ล้านคน ลดลง 83% เปรียบเทียบกับปี 2562

หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบหนัก คงต้องยกให้ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เป็นหนึ่งในกลุ่มทีซีซี กรุ๊ป ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ประกอบธุรกิจโดยถือหุ้นบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ประกอบด้วย “กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ” (Hospitality) “กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์” (Retail and Commercial) ซึ่งกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail & Wholesale) และ “กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน” (Office)

       วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เล่าให้ฟังว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงแรมที่มีสัดส่วนรายได้เกิน 50% และหากดูในส่วนกำไรส่วนที่เป็นเงินสด (EBITDA) ธุรกิจโรงแรมเข้ามาเกิน 50% ของกระแสเงินสด ทว่าในช่วงโควิด-19 กระแสเงินสดพอร์ตธุรกิจโรงแรมกลายเป็น “ติดลบ” ทันที แต่โชคดีบริษัทยังมีพอร์ตธุรกิจรีเทล-ออฟฟิศช่วยบาลานซ์อยู่ !!

เมื่อการระบาดของโควิด-19 กำลังผ่านพ้นไป ภาคการท่องเที่ยวอุตสาหกรรมหลักของประเทศเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวแล้ว สะท้อนผ่านตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมในไทย ดังนั้น การผลักดันเรื่องการเติบโตอย่าง “ก้าวกระโดด” อีกครั้ง ! เนื่องจากวันนี้พอร์ตธุรกิจโรงแรมกลับมา จึงกลายเป็นทั้ง “3 พอร์ตธุรกิจ” จะสร้างความมั่นคง และสร้างความแข็งแกร่ง บ่งชี้ผ่านโรงแรมมีห้องเพิ่ม 62% ก็จะเป็นการกลับมา “ตอบโจทย์” ว่าจะกลับมาสร้างกระแสเงินสดแข็งแกร่งอีกครั้ง 

AWC ปรับธุรกิจสู้ “ดอกเบี้ยขาขี้น” เตรียมเพิ่มสภาพคล่องรับมือ สำหรับปี 2566 สิ่งที่บริษัทกำลังเตรียมดำเนินการนอกเหนือจากมุ่งเน้นสู่ “ความยั่งยืน !” คือ การทรานส์ฟอร์มทรัพย์สินปัจจุบันของบริษัทให้เข้าสู่ “การประหยัดพลังงานรูปแบบใหม่ !” โดยบริษัทกำลังเปลี่ยนการบริหารจัดการทั้งหมด เพื่อลดขยะ ลดผลกระทบพลังงานต่างๆ และการสร้างคุณค่ากลับสู่ชุมชน... ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ธุรกิจสู่ความยั่งยืนของกลุ่มบริษัทอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปีหน้ามองเห็น “ความท้าทาย” ในภาพใหญ่ นั่นคือ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” สะท้อนผ่านปัจจุบันดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบธุรกิจของบริษัท ตั้งแต่งบลงทุนด้าน “งานก่อสร้าง-การดำเนินงาน” ฉะนั้น บริษัทกำลังบริหารจัดการว่าจะสามารถ “ผนึกพันธมิตร” นำบางโครงการที่เตรียมพัฒนามาประเมิน และพิจารณาต้นทุนในการก่อสร้างใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และความเหมาะสมของฐานะการเงินของบริษัท รวมทั้งกำลังดูสามารถของการสร้าง “กระแสเงินสด” เพื่อรักษา “สภาพคล่อง” ให้แข็งแกร่ง 

วัลลภา บอกต่อว่า เป็นสิ่งที่บริษัทต้องเตรียมไว้ก่อน !! เพื่อแผนการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.7 เท่า ดังนั้น บริษัทยังสามารถสร้างสภาพคล่องเพิ่มได้อีกด้วย สะท้อนผ่านมี “สินเชื่อวงเงินกู้” (OD) จากสถาบันทางการเงิน (แบงก์) ประมาณ “30,000 ล้านบาท” เป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจและเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้ทันทีในปีหน้า แต่เป็นสิ่งที่บริษัทเตรียมตัวไว้ก่อน 

“ปีหน้า เราต้องไปผลักดันให้มีนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น และจากคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีหน้าอยู่ที่ 20 ล้านคน เราเชื่อว่าจะช่วยผลักดันผลประกอบการปีหน้าให้ได้เท่ากับ หรือโตเกินปี 2563” 

ขณะที่ แผนการลงทุน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) วางไว้อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท !! ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการต่อเนื่องจำนวน 15 โครงการ คิดเป็นมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 60,000 ล้านบาท ส่วนอีก 40,000 ล้านบาท เพื่อมองโอกาสในการเข้า “ซื้อกิจการ” (เทคโอเวอร์) รวมถึงการลงทุนเน้นการพัฒนาสู่ความยั่งยืนพร้อมบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ดีลซื้อกิจการโรงแรมศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะมีผู้ยื่นเสนอขาย มีทั้งที่บรรลุข้อตกลงแล้วในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนปรับปรุงธุรกิจเดิมให้ดีขึ้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และรองรับลูกค้านักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศ

สำหรับปีหน้ามีแผนขยายโรงแรมใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล และ โรงแรม อินน์ไซด์ กรุงเทพ สุขุมวิท โดยทั้ง 2 แห่ง จะมีห้องพักรวม 400 ห้อง จากปัจจุบันที่มีจำนวนห้องพักภายใต้การบริหารรวม 5,000 ห้อง ซึ่งโรงแรมใหม่ทั้ง 2 แห่ง ยังเป็นโครงการที่ก่อสร้าง โดยคำนึงถึงมาตรฐานอาคารสีเขียว และได้รับการรับรองมาตรฐาน EDGE อีกด้วย

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจโรงแรมในเครือของ AWC จำนวน 19 แห่งในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 โดยเฉพาะในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2565 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นท่องเที่ยวไทย เห็นสัญญาณบวกจากการจองล่วงหน้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 60% จากระดับ 50% ช่วงไตรมาส 3 ปี2565 ซึ่งฟื้นตัวต่อเนื่องมาจากระดับ 30-40% ช่วงต้นปี 2565 มาจากอานิสงส์การเปิดประเทศ และคาดว่าจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นอีกในปีหน้า

ส่วนโรงแรมใหม่ที่กำลังก่อสร้างอื่นๆ ได้แก่ โรงแรมในพัทยามี 4 แห่ง ประกอบด้วย เจดับบลิว แมริออท เดอะ พัทยา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา , พัทยา แมริออท มาร์คีส์ , อควาทีค พัทยา ออโตทราฟ คอลเลคชัน, พัทยา แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา แอท จอมเทียนบีช และในกรุงเทพมี โรงงานเดอะ ริทช์-คาร์ลตัน แบงค็อก เดอะ ริเวอร์ไซต์ (ล้ง 1919) , โรงแรม เจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ โฮเทล เอเชียทีค กรุงเทพ , ดิ เอเชียทีค แบงค็อก ออโตทราฟ คอลเลคชัน และ อินน์ไซต์ กรุงเทพ สุขุมวิท

สุดท้าย “วัลลภา” บอกไว้ว่า เรามั่นใจว่าธุรกิจ AWC จะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมอีก หลังที่ผ่านมามีการเตรียมความพร้อมมาแล้ว สอดรับธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว สะท้อนเห็นสัญญาณบวกจากการจองล่วงหน้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก หลังเปิดประเทศคาดจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นอีกในปี 2566