สแกนหุ้น TRUE วัดผล ก่อนการควบรวม “สำเร็จ”

สแกนหุ้น TRUE วัดผล ก่อนการควบรวม “สำเร็จ”

ยาวนานสำหรับการพิจารณาดีลใหญ่ข้ามปีระหว่างการควบรวมธุรกิจบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จะสิ้นสุดลงวันที่ 20 ต.ค. 2565 หรือไม่

            ด้วยการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ 5 รายที่พึ่งถูกแต่งตั้งอย่างเป็นทางการช่วงเดือนเม.ย. 2565 นับช่วงเวลาแล้ว กินระยะเวลาพิจารณา 7 เดือน แต่ถ้านับตั้งแต่ประกาศดีลของทั้ง 2 บริษัทตั้งแต่เดือนก.ย.2564 เท่ากับใช้เวลานานถึง  14 เดือน   !!

            การควบรวมกิจการในครั้งนี้ถือว่าเป็นดีลที่สร้างอิมแพคชัดเจนทั้งในอุตสาหกรรม  และผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และหน่วยงานรัฐ  จากธุรกิจโอเปอเรเตอร์มูลค่าแสนล้านบาทต่อปี แต่มีผู้ประกอบการเอกชนที่มีศักยภาพแข่งขันจริงๆ 3 ราย และ  2 ใน 3 จะรวมกันเหลือเพียง 2 รายในตลาด

           ด้านหนึ่งจึงถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจชัดเจนเพราะที่ผ่านมา กลุ่มสื่อสารเผชิญแข่งขันมาตลอดตั้งแต่มีการประมูลคลื่น 4G และตามมาด้วย 5G และกลายเป็นจุดอ่อนจากบางรายจำนวนคลื่นนำไปแข่งขันน้อยกว่าคู่แข่ง   เกิดมูลค่าหนี้มหาศาลจากการกู้ การประมูลคลื่นกลายเป็นภาระผ่อนชำระรายปีต่อ กสทช. ทำให้ต้องเร่งสร้างเครือข่ายสู้กับคู่แข่งขัน เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มกระแสเงินในมือ

            รวมไปถึงรูปแบบการรวมกิจการที่ใช้บริษัทแม่ของทั้ง TRUE - DTAC แทนที่จะนำบริษัทลูกที่เป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นความถี่ที่ประมูลไปทำดีลก็สะท้อนได้ระดับหนึ่งว่าต้องการให้การรวมกิจการในครั้งนี้อยู่เหนือกฎเกณฑ์ และอำนาจของ กสทช.

            ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่า กสทช.ชุดใหม่จำเป็นต้องรอบคอบ รอบด้านแม้จะถูกต่อว่าช้าแต่ขอชัวร์ไว้ก่อนในการพิจารณาดีลดังกล่าว ตั้งแต่ตรวจสอบทางกฎหมายถึงอำนาจหน้าที่มีอยู่ และยังให้หน่วยงานทางกฎหมายอย่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกด้าน

            ด้านข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเพื่อนำมาใช้พิจารณาต้องตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด และประชาพิจารณ์เพื่อศึกษาผลทั้ง 4 ด้าน  คือ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี ด้านกฎหมาย และด้านคุ้มครองผู้บริโภค  รวมไปถึงล่าสุดขอข้อมูลเปรียบเทียบในต่างประเทศที่เกิดดีลการควบรวมกิจการในลักษณะเดียวกันเพื่อนำมาตัดสินใจ

            อย่างไรก็ตาม หลากหลายเสียงสะท้อนที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมกิจการในครั้งนี้ทั้งด้านการสูญเสียเม็ดเงินทางเศรษฐกิจจากการแข่งขันที่น้อยลง  ผู้ประกอบการรายใหม่ที่แข็งแรงเพียงพอเกิดขึ้นได้ยาก  ผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบจากราคาค่าบริการที่ไม่ต้องมาหั่นราคากันเอง กลายเป็นแบ่งกัน 

            หากแต่ในทางธุรกิจตามกฎหมายการรวมกิจการ ถือว่าผ่านได้แบบไม่ต้องสงสัยจึงกลายเป็นดีลที่ผ่านได้แต่พ่วงมาด้วยเงื่อนไขพิเศษที่ต้องรอดูการทำงานของ กสทช. นั้นเอง

            ภายหลังเกิดการรวมกิจการได้นำไปสู่ตั้งบริษัทใหม่ “ซิทริน โกลบอล “ การเริ่มเสนอซื้อหลักทรัพย์แบบสมัครใจ (VTO) และการรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน หรือ Vote No และไม่ยอมขาย VTO  ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวถูกเลื่อนเวลาออกไปตามผลมติจาก กสทช.

            ภายใต้บริษัทใหม่ที่ยังต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย 3 ปี ทำให้เปรียบเทียบความน่าสนใจกลายเป็น TRUE ได้ภาษีดีกว่า  บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักที่หุ้น TRUE ท่ามกลางรายงานผลขาดทุนสุทธิหลักไตรมาส 3 ปี 2565 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 3.1 พันล้านบาท (จากขาดทุน 2.4 พันล้านบาท ใน 2Q65) จากรายได้ที่ลดลง (เงินเฟ้อสูง และการแข่งขันที่รุนแรง) และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

         ทั้งนี้ หาก TRUE และ DTAC ไม่สามารถควบรวมกิจการได้ภายใน ไตรมาส 1 ปี 2566  หนี้ที่สูง และกระแสเงินสดอิสระติดลบอาจบีบให้ TRUE ต้องขายหุ้น DIF เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดอีกครั้ง

          โดย TRUE มีกำหนดจะรายงานผลประกอบการไตรมาสดังกล่าวในวันที่ 15 พ.ย.นี้ การควบรวมกิจการเกิดได้ช้าอาจบีบให้ TRUE ขายหุ้น DIF อีก TRUE ได้ระดมเงินสด 1.39 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้น DIF สี่ครั้งนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี2562 จึงเชื่อว่า TRUE อาจจะตัดสินใจขายหุ้นบางส่วนใน DIF อีก (ปัจจุบัน TRUE ยังถืออยู่ 20.6%

         หากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE - DTAC ล่าช้าเกิน 1Q66 เนื่องจากมองว่า 1) อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA สูงจะถึง 4.4 เท่า ณ สิ้นปี 2565 และ 2) หาก TRUE ยังคงเป็น บริษัทเดี่ยว กระแสเงินสดอิสระต่อองค์กร (FCFF) จะติดลบ 3.5 พันล้านบาทในปี  2566 ที่ผ่านมา TRUE เคยขายหุ้น DIF ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ส่งผลให้เกิด sentiment ด้านลบต่อราคา หน่วยลงทุน DIF

         ผลการศึกษาล่าสุดโดย SCF Associates พบว่าการควบรวม TRUE - DTAC จะทำให้ค่าบริการมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งมองว่าเรื่องนี้จะส่งผลให้คณะกรรมการ กสทช. เสนอมาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นต่อการควบรวมกิจการในวันที่ 20 ต.ค. จากนั้น TRUE และ DTAC จะต้องเจรจากับ กสทช. เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในมาตรการดังกล่าว ทำให้ การควบรวมกิจการมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นใน ไตรมาส 1 ปี 2566 มากกว่าไตรมาส 4 ปี 2565

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์