TOP รุกลงทุนต่างประเทศ ดันรายได้โต เคาะราคาขายหุ้นเพิ่มทุน 20 ก.ย. นี้

TOP รุกลงทุนต่างประเทศ ดันรายได้โต เคาะราคาขายหุ้นเพิ่มทุน 20 ก.ย. นี้

“ไทยออยล์” มุ่งขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะ “อินโดนีเซีย-เวียดนาม-อินเดีย” เหตุเป็นตลาดที่มีอัตราการโตระดับสูง พร้อมลงทุนธุรกิจใหม่ที่เป็นนิวเอสเคิร์ฟ-กองทุนและสตาร์ตอัป คาดเคาะราคาสุดท้ายขายหุ้นเพิ่มทุน 20 ก.ย. นี้ จากช่วงราคา 52-54 บาท

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่าปัจจุบันบริษัทกำลังวางรากฐานสำคัญเพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่ (New Round of Growth) โดยปรับกลยุทธ์องค์กรเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต โดยอาศัยรากฐานที่มั่นคงจากธุรกิจหลักอย่างธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจอะโรเมติกส์ต่อยอดการเติบโตสู่ธุรกิจปิโตรเคมี (โอเลฟิน) 

โดยสะท้อนผ่าน 3 ยุทธศาสตร์คือ การต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าจากธุรกิจโรงกลั่นสู่ธุรกิจปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์ โอเลฟิน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (HVP) เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้ผลิตภัณฑ์ การขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค เน้นตลาดในประเทศ อินโดนีเซีย , เวียดนาม และอินเดีย เนื่องจากมองทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวมีอัตราการเติบโตระดับสูง และประชากรยังมีอายุน้อย รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ๆ อีก

ทั้งนี้คาดว่าในปี 2030 บริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศและส่งออกอยู่ที่ 33-34% และ การเติบโตสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงของผลกำไร เช่น ธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve เช่น การลงทุนในธุรกิจน้ำมันอากาศยาน และการลงทุนผ่านกองทุน หรือสตาร์ตอัป เน้นกลุ่มเมกะเทรนด์แห่งอนาคต ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนผ่าน 5 สตาร์ตอัปไปแล้ว

สำหรับปัจจุบันโครงการสำคัญที่ดำเนินการอยู่ ได้แก่ การลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถรับน้ำมันดิบชนิดหนักได้มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาเป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซล ส่งผลให้มีส่วนต่างกำไร (Margin) สูงขึ้นพัฒนาประสิทธิภาพโรงกลั่นไทยออยล์ให้อยู่ในระดับ 1st Quartile ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคาดว่าจะสามารถทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567 และเดินเครื่องผลิตได้เต็มรูปแบบในปี 2568 

นายวิรัตน์ กล่าวว่า  บริษัทยังมีการลงทุนธุรกิจโอเลฟินใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ซึ่งตอบโจทย์การทรานฟอร์มสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสการลงทุนธุรกิจอื่น ๆ ในตลาดที่มีศักยภาพ ปัจจุบัน CAP มีกำลังการผลิตรวม 4.23 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างพิจารณาการลงทุนโครงการ CAP2 ภายในปีนี้ เพื่อขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 8.10 ล้านตันต่อปี โดยหากตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม คาดว่าจะเริ่ม COD ตามแผนได้ในปี 2569

TOP รุกลงทุนต่างประเทศ ดันรายได้โต เคาะราคาขายหุ้นเพิ่มทุน 20 ก.ย. นี้ ทั้งนี้ ทิศทางราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในครึ่งปีหลัง จะปรับตัวลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากมีความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ค่าการกลั่น คาดว่าจะย่อตัวจากครึ่งปีแรก แต่ยังถือว่าค่าการกลั่นยังทรงตัวในระดับสูง 

นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี TOP กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะกำหนดราคาสุดท้ายในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ จากช่วงราคาที่ 52-54 บาทต่อหุ้น โดยจะประกาศบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทและแจ้งต่อตลาดหลัหทรัพย์ฯ ซึ่งบริษัทคาดจะได้รับเงินเข้ามาราว 11,500 ล้านบาท โดยจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนธุรกิจโอเลฟินใน CAP ซึ่งจะช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E) ให้น้อยกว่า 1 เท่า และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment grade) ทำให้โครงสร้างเงินทุนแข็งแกร่งและคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงคาดว่าจะช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายให้กับบริษัทลงได้ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้น (Dilution Effect) ภายหลังจากการเพิ่มทุนจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2-3% โดยหุ้นเพิ่มทุนที่ออกมาใหม่นั้นมีสัดส่วนแค่ 9.5-9.8% ของหุ้นเดิมของ TOP อีกทั้งมั่นใจว่าการเพิ่มทุนของ TOP ในครั้งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน พร้อมคาดว่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายในช่วงเดือน ก.ย.นี้