ผ่า 7 หุ้น IPO น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ห้วง 1 เดือน ร่วงยับดับยกแผง 

ผ่า 7 หุ้น IPO น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ห้วง 1 เดือน ร่วงยับดับยกแผง 

หุ้น IPO ช่วงเดือนต.ค. - พ.ย. 66 มีด้วยกัน 7 หลักทรัพย์ ที่ราคาต่ำจอง หุ้น MCA ร่วงมากสุด -50.30% "โบรกเกอร์" เผย ตั้งราคาพรีเมียม จัดสรรหุ้นให้นักลงทุนไม่บาลานซ์ และหุ้นอาจไม่ได้อยู่ในกระแสการเติบโต

มนต์เสน่ห์หุ้น IPO หมดลงแล้วหรืออย่างไร? หลังจากที่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยสะบักสะบอมจากหลายปัจจัยเข้ามารุมเร้า ส่งผลให้หุ้นน้องใหม่ที่เข้าตลาดในช่วงนี้พากันเปิดเทรดต่ำจองกันเป็นว่าเล่น นักลงทุนต่างบอบช้ำกันระนาว 

แต่ทว่า “กูรู” ต่างมอง 2 - 3 ปัจจัยส่งผลกระทบต่อหุ้น IPO มาจากการตั้งราคาที่พรีเมียมสะท้อนกิจการในอนาคตมากเกินไป หรือเรียกได้ว่า ตั้งราคาแพงเกินไป รวมถึงหากเป็นกิจการที่ไม่ได้อยู่ในเทรนด์อาจไม่ได้รับความสนใจ และมีการจัดสรรนักลงทุนในหุ้นไม่บาลานซ์ จึงส่งผลให้ราคาหุ้นไม่สามารถยืนได้

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า มีหลายสาเหตุด้วยกัน เรื่องแรกคือ การตั้งราคาของหุ้น IPO ที่มีราคาแพงเกินไป หรือมีการสะท้อนอนาคตข้างหน้าไกลเกินไป ซึ่งหากดูในหุ้น IPO หลายตัวมีความน่าสนใจ แต่ด้วยความที่ราคาตั้งไว้สะท้อนกิจการในวันหน้า พอมาถึงวันนี้เลยทำให้กลายเป็นว่า ราคาแพงไปในระยะสั้น ส่งผลให้หุ้น IPO หลายตัวไม่สามารถยืนได้ในสภาวะ Valuation ของหุ้นในตลาดปรับตัวลดลงมา 

ปัจจัยถัดไป หุ้น IPO บางตัวอาจจะไม่ได้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ธุรกิจมีการเติบโตธรรมดา จึงทำให้ไม่ได้มีความจูงใจนักลงทุนมากนัก และสุดท้าย เกิดจากความผิดพลาดในการจัดสรรหุ้น IPO หากย้อนไปในภาพอดีตที่หุ้น IPO ประสบความสำเร็จดี ส่วนใหญ่จะมีการจัดสรรน้ำหนักของผู้ถือหุ้นที่ค่อนข้างจะเหมาะสม คือ มีนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนระยะยาว มีทั้งนักลงทุนรายใหญ่ และรายย่อย หากมีการจัดสรรได้ค่อนข้างดีจะส่งผลบวกต่อหุ้น IPO ได้ 

แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีหุ้น IPO หลายตัวที่มีการจัดสรรไม่ได้ดีมากนัก ซึ่งอาจจะมีการจัดสรรบางกลุ่มหนักมากเกินไป โดยไม่ได้มีการกระจายอย่างเหมาะสม เช่น สมมติหาก หุ้น IPO ไปอยู่ในกลุ่มผู้ที่ทำกำไรระยะสั้นค่อนข้างมาก โดยที่ไม่มีคนถือเลย หรือไม่มีนักลงทุนที่อยากจะเข้าไปซื้อเพิ่ม จึงทำให้หุ้น IPO ไม่สามารถยืนรับราคาได้

“หุ้น IPO บางครั้งอาจจะ ราคาแพงเกินไป บางตัวอาจจะไม่น่าสนใจ และบางครั้งอาจเกิดจากการผิดพลาดในการกระจายหุ้น หรือการจัดสรรหุ้นได้” 

กิจพณ ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า หุ้นในบางตัวก่อนที่จะเริ่ม IPO บางทีมีการคุยเรื่องของราคา ความต้องการระดมทุนมาก่อนล่วงหน้าอาจจะหลายเดือน และเมื่อตลาดลงมาแรงๆ ในปัจจุบันทำให้ตลาดหุ้นนั้นถูกลงมาพอสมควร แต่ราคาหุ้น IPO ที่มีการตกลงกันก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีการปรับราคาลงตามมา เลยกลายเป็นราคาแพง เมื่อเทียบกับตลาดที่ลงมา จึงทำให้เป็นปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น

“ปัจจัยหลัก ๆ ไม่ได้อยู่ในภาวะตลาดช่วงเข้าเทรดเพียงอย่างเดียว เพราะกลไกการทำงาน การตัดสินใจราคาสุดท้ายมักจะมาจบช่วง 2 เดือนก่อนที่หุ้น IPO จะเข้าตลาด เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า ถึงแม้ว่า ตลาดจะมีการฟื้นขึ้นมาได้ในช่วง 1-2 วันนี้ เป็นการพลิกฟื้นเชิง SentIment ระยะสั้นที่ดูดี แต่ว่า ได้มีการราคาที่ตั้งไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว จึงกลายเป็นว่า ราคาหุ้นอาจจะดูแพงได้ ขณะเดียวกัน เมื่อตลาดฟื้นขึ้นมาใหม่ ๆ นักลงทุนอาจจะมองว่า มีธุรกิจในตลาดหุ้นที่มีความถูกและแพงที่ดูแล้วมีความน่าสนใจมากกว่า” 

ขณะเดียวกันช่วงนี้ค่อนข้างมีกระแสข่าวลือมากพอสมควร ในช่วงที่ผ่านมามีหุ้น IPO บางตัวที่เข้ามาซื้อ-ขาย และมีลักษณะกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เกิดข้อสงสัยหลายกรณี จึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาติดตามความเคลื่อนไหวของหุ้น IPO ใกล้ชิดมากขึ้น จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักลงทุนอาจจะไม่ค่อยชอบ 

ส่วนกรณีข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่อนหนังสือถึงโบรกเกอร์ขอความร่วมมือหุ้นไอพีโอเทรดวันแรก ใช้บัญชีแคชบาลานซ์ หรือวางเงินสดก่อนซื้อขาย เพิ่มเติมเกณฑ์การตั้งราคาเปิดห้ามเกิน 30% ของราคาไอพีโอ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงนั้น ส่วนตัวมองว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น่าที่จะเข้ามาควบคุมเรื่องเกณฑ์แคชบาลานซ์ กับกรณีหุ้นที่จะเข้า IPO ในวันซื้อขาย 

โดยหลักการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะผ่อนคลายในการลงทุนให้ประมาณ 1 สัปดาห์แรก เพราะในทางทฤษฎี 1 สัปดาห์แรกของการซื้อขายสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การค้นพบราคา ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางในการซื้อขายอย่างโปร่งใส ไม่ทำหน้าที่เป็นคนตัดสินราคา เพราะฉะนั้นบนกลไกของการค้นพบราคา จะเห็นว่า สัปดาห์แรกตลาดหลักทรัพย์ฯ จะ relax ให้ ไม่ว่าราคาจะขึ้นหรือลงไปอยู่ ณ จุดใด 

หลังจากนั้นผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อผ่านกลไกการค้นพบราคาเริ่มค่อยๆ ทำงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเริ่มค่อยเข้ามาควบคุมในสัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นหากมาดูหลักปฏิบัติที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ไม่น่าที่จะเป็นไปได้

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ KCS ให้ข้อมูลต่ออีกว่า ความเชื่อมั่นต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทยหายลงไปค่อนข้างมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งตลาดหุ้นมีแรงกดดันเข้ามาหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 66 รวมถึงภาวะสงครามตะวันออกกลาง และประเด็นทางการเมืองที่มีความล่าช้า ส่งผลให้ในบางช่วงที่ควรจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นจึงออกมาเป็นภาพลบไปหมด 

และล่าสุดที่มีการปรับลงมามากในช่วงการประชุมเฟดวันที่ 20 ก.ย.66 ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงค่อนข้างเหวี่ยงมาก สภาพคล่องหดหายลงไป รวมถึงหุ้น IPO ที่เคยคึกคัก บรรยายดีในช่วงก่อนหน้าอาจจะเป็นภาพที่แผ่วลงมา 

ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบันไม่ได้เหมือนช่วงต้นปี 66 ซึ่งปรับตัวลงมา Discount ต่ำลงมากว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 3 เท่ากว่าๆ จึงเป็นหนึ่งจุดที่คิดว่า แม้ SET จะอยู่ในโซน Valuation ที่ถูก หุ้นที่อยู่ในตลาดปรับตัวลงมาหลายๆ ตัว ยังมี Valuation ที่ Discount อยู่ 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนอาจจะไม่ได้โฟกัสที่หุ้น IPO เพียงอย่างเดียว อาจจะรอจังหวะรอหุ้นที่มีการปรับฐานลงมาลึก ในช่วงตลาดปัจจุบันในหุ้นที่มีการเติบโตได้ดีอยู่ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปีหน้า 

ฉะนั้น หุ้น IPO โดยรวมผลงานจึงไม่ค่อยดีนัก ซึ่งนักลงทุนเองจึงต้องค่อยๆ คัดกรองหุ้นให้ดี ว่า หุ้น IPO ตัวใดที่ไม่ได้ขายในราคาพรีเมียมกับในอนาคตมากจนเกินไป เมื่อเทียบกับสภาพกาลปัจจุบันที่อยู่ในโซนค่อนข้างถูก จึงอาจเป็นโอกาสพอที่จะเข้าไปลงทุนได้ 

นอกจากนี้ นักลงทุนควรพิจารณาด้วยว่า หุ้น IPO ดังกล่าวนั้นเป็นเมกะเทรนด์หรือไม่ อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยหลักๆ ที่จะต้องคำนึงก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้น IPO 

“หุ้น IPO การที่จะเซตอัปหรือตั้งราคา ต้องมีการดูสภาพตลาดปัจจุบันประกอบด้วย ซึ่งบางทีการเซตอัปราคาอาจจะก่อน Valuation ตลาดปัจจุบัน ฉะนั้นการตั้งราคาพรีเมียมอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ว่าตอนเปิด IPO ตลาดจะปรับตัวหดลงมาขนาดนี้” 

ขณะเดียวกัน กับกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาชี้แจงถึงการร่อนหนังสือถึงโบรกเกอร์ขอความร่วมมือหุ้นไอพีโอเทรดวันแรก ใช้บัญชีแคชบาลานซ์ หรือวางเงินสดก่อนซื้อขาย เพิ่มเติมเกณฑ์การตั้งราคาเปิดห้ามเกิน 30% ของราคาไอพีโอ ว่าไม่เป็นความจริงนั้น มองว่า ตามหลักการตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้เข้ามาควบคุมอยู่แล้วกับเรื่องนี้ แต่อาจจะต้องไปเพิ่มเติมว่า ประเด็นนั้นออกมาอย่างไรบ้าง 

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหุ้น IPO ช่วงเดือนต.ค. - พ.ย.66 มีด้วยกัน 7 หลักทรัพย์ ที่ราคานั้นต่ำจอง

ผ่า 7 หุ้น IPO น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ห้วง 1 เดือน ร่วงยับดับยกแผง 

1.บริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ MCA

  • ตลาด mai
  • อุตสาหกรรม SERVICE
  • วันแรกที่ซื้อขาย 26 ต.ค.2566
  • ราคาไอพีโอ 3.30 บาท 
  • ราคา ณ 2 พ.ย.66 ที่ 1.64 บาท 
  • เปลี่ยนแปลง -1.66 บาท -50.30%  

2.บริษัท สิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) หรือ SRS

  • ตลาด mai
  • อุตสาหกรรม TECH
  • วันแรกที่ซื้อขาย 10 ต.ค.2566
  • ราคาไอพีโอ 16.00 บาท 
  • ราคา ณ 2 พ.ย.66 ที่ 8.95 บาท 
  • เปลี่ยนแปลง -7.05 บาท -44.06%

3.บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ WINDOW

  • ตลาด SET
  • อุตสาหกรรม PROPCON / CONMAT
  • วันแรกที่ซื้อขาย 25 ต.ค.2566
  • ราคาไอพีโอ 2.10 บาท 
  • ราคา ณ 2 พ.ย.66 ที่ 1.19 บาท 
  • เปลี่ยนแปลง -0.91 บาท -43.33%

4.บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) หรือ ORN

  • ตลาด SET
  • อุตสาหกรรม PROPCON / PROP
  • วันแรกที่ซื้อขาย 30 ต.ค.2566
  • ราคาไอพีโอ 1.49 บาท 
  • ราคา ณ 2 พ.ย.66 ที่ 1.05 บาท 
  • เปลี่ยนแปลง -0.44 บาท -29.53%

5.บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM

  • ตลาด SET
  • อุตสาหกรรม CONSUMP / PERSON
  • วันแรกที่ซื้อขาย 31 ต.ค.2566
  • ราคาไอพีโอ 7.70 บาท 
  • ราคา ณ 2 พ.ย.66 ที่ 6.30 บาท 
  • เปลี่ยนแปลง -1.40 บาท -18.18% 

6.บริษัท เอส.ซี.แอล.มอเตอร์ พาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SCL

  • ตลาด mai
  • อุตสาหกรรม INDUS
  • วันแรกที่ซื้อขาย 1 พ.ย.2566
  • ราคาไอพีโอ 1.54 บาท 
  • ราคา ณ 2 พ.ย.66 ที่ 1.30 บาท 
  • เปลี่ยนแปลง -0.24 บาท -15.58%

7.บริษัท เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SAFE

  • ตลาด SET
  • อุตสาหกรรม SERVICE / HELTH
  • วันแรกที่ซื้อขาย 2 พ.ย.2566
  • ราคาไอพีโอ 21.00 บาท 
  • ราคา ณ 2 พ.ย.66 ที่ 17.80 บาท 
  • เปลี่ยนแปลง -3.20 บาท -15.24%

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์