เปิด ‘6ไฮไลต์’ หุ้น KCG ‘คุกกี้กล่องแดง’ ในตำนานเจ้าตลาดเนย-ชีส

เปิด ‘6ไฮไลต์’ หุ้น KCG ‘คุกกี้กล่องแดง’ ในตำนานเจ้าตลาดเนย-ชีส

“เคซีจี คอร์ปอเรชั่น” หุ้นน้องใหม่ไอพีโอที่กำลังจะนำ “ธุรกิจอาหารและขนมตะวันตก” เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) 3 ส.ค. นี้ ด้วย “จุดขาย” ศักยภาพการเป็น “ผู้นำ” ธุรกิจเนย ชีส ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ และ ผลิตภัณฑ์บิสกิต

อยู่คู่ตลาดมาทุกยุคทุกสมัยยาวนานมากกว่า 60 ปี ! สำหรับแบรนด์ดัง “คุกกี้อิมพีเรียล” ที่รู้จักกันดีว่า “คุกกี้กล่องแดง” ทว่าวันนี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้วยการติดนามสกุล “บริษัทมหาชน” และเป็นหุ้นน้องใหม่อีกหนึ่งตัวที่อยู่ในโฟกัสของนักลงทุน บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและขนมตะวันตก (Western foods) 

KCG หุ้นน้องใหม่กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 155 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 8.50 บาท ด้วยมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 3 ส.ค. 2566 

ณ ปัจจุบัน KCG เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและขนมตะวันตก (Western foods) โดยมี “3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก” ประกอบด้วย “กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม” (Dairy Products) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เนย (Butter) และเนยแข็ง (Cheese) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่แปรรูปมาจากนม เช่น นมพร้อมดื่ม ครีมที่พร้อมจะเอามาตีครีม (Whipping Cream) ครีมชีส และนมเปรี้ยว (Yoghurt)

“กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่” (Food and Bakery Ingredients) และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ส่วนผสมของอาหาร (Food Ingredients) (เช่น น้ำมันมะกอก และมายองเนส เป็นต้น) ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารทะเล (Meat and Seafood) (2) ผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่ (3) ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้น รวมถึง (4) อุปกรณ์ในการทำเบเกอรี่ และอุปกรณ์ประกอบอาหาร ซึ่งบริษัทเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวจากต่างประเทศ มาจัดจำหน่ายในไทย

และ “กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต” (Biscuits) ประกอบด้วย (1) ผลิตภัณฑ์คุกกี้ ซึ่งหมายถึง ขนมอบที่มีลักษณะเป็นชิ้นเล็กๆ รูปร่างแบน มีทั้งแบบอบกรอบและแบบนุ่ม (2) ผลิตภัณฑ์แครกเกอร์ ซึ่งหมายถึง ขนมอบที่มีรูปร่างเป็นแผ่นแบน ลักษณะเนื้อกรอบ แข็ง แยกเป็นชั้น อาจมีไส้หรือไม่มีก็ได้ และ (3) ผลิตภัณฑ์เวเฟอร์ ซึ่งหมายถึง ขนมอบที่มีลักษณะเป็นแผ่นบาง กรอบ โดยส่วนใหญ่เวเฟอร์อาจมี 2 หรือ 3 แผ่นประกบกันสอดไส้ครีม หรือไส้ครีมรสชาติต่างๆ 

เปิด ‘6ไฮไลต์’ หุ้น KCG ‘คุกกี้กล่องแดง’ ในตำนานเจ้าตลาดเนย-ชีส

จุดเด่นสำคัญ ! หุ้น KCG คือ ศักยภาพการเป็น “ผู้นำ” ธุรกิจเนย ชีส ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ และ ผลิตภัณฑ์บิสกิต 

สำหรับ การเข้าระดมทุนในครั้งนี้ ! เงินระดมทุนส่วนแรกใช้เพื่อก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park บริเวณโรงงานที่บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งจะมีทั้งอาคารสำหรับจัดเก็บสินค้าแช่แข็ง (Frozen) 2 อาคาร และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) 3 อาคาร และอาคารจัดเก็บวัตถุดิบในการผลิต จำนวน 1 อาคาร

ขณะที่ เงินระดมทุนส่วนที่สองใช้ลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยวางแผนขยายกำลังการผลิตชีสจากเดิม 2,106 ตัน/ปี เป็น 4,212 ตัน/ปีในปี 66 ส่วนกำลังการผลิตเนยจากเดิม 18,596 ตัน/ปีในปี 64 เพิ่มเป็น 23,261 ตัน/ปีในปี 67

“กรุงเทพธุรกิจ” สรุป Highlight สำคัญหุ้น KCG มาให้ดูก่อนบริษัทติดนามสกุล “มหาชน” ในการตัดสินใจก่อนลงทุน คือ

1. ดำเนินธุรกิจ โดย KCG ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและขนมตะวันตก (Western foods) 2. เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 155 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.4% มูลค่าการเสนอขาย 1,317.50 ล้านบาท 3. เคาะราคา หุ้นละ 8.50 บาท คิดเป็น P/E ที่ประมาณ 17.33 เท่า เข้าเทรดวันแรก 3 ส.ค. นี้ 

4. เงินระดมทุน นำไปสร้างศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า , ขยายกำลังการผลิต-เพิ่มประสิทธิภาพ , ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินและเงินทุนหมุนเวียน 5. มีนโยบายปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ และ 6. ภายหลังขาย IPO “กลุ่มกิมจั๊วกรุ๊ป” ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 52.2%

ขณะที่ “ปัจจัยความเสี่ยง” ของ KCG หลักๆ ประกอบด้วย ความผันผวนของราคาวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ จากการพึ่งพิงผู้จัดจำหน่าย (Supplier) วัตถุดิบหลักของบริษัท การสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ หรือการไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าของบริษัท อาจกระทบต่อผลการดำเนินงาน จากคุณภาพ ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ รวมทั้งความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ การดำเนินงาน โอกาสทางธุรกิจ และผลการดำเนินงาน

“วาทิต ตมะวิโมกษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ KCG เปิดเผยว่า แผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี มีแผนเน้นไปที่ตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยจะใช้ความเก่งด้าน Logistics ที่ส่งสินค้าแบบควบคุณอุณหภูมิได้ มารองรับการขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภท ขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสในตลาดต่างประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรจำนวนมากอย่าง อินโดนีเซีย ที่มีจำนวนการบริโภคเนยและชีสมากที่สุดในอาเซียน หรืออย่างใน อินเดียและจีนเราก็สนใจ

รวมถึงวางแผนออกสินค้าใหม่ ๆ รองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้าไว้ดังนี้ คือ 1) สินค้าที่เน้นความสะดวกให้กับผู้บริโภคต้องใช้ง่าย มีแพ็กเกจจิ้งสะดวกในการใช้งาน 2) สินค้าที่เป็น Ready to Cook- Ready to Eat และ 3) สินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งวัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

นอกจากนี้ต้องการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) หรือการร่วมทุน (JV) โดยมองโอกาสตลอด Supply Chain ของเรา ทั้งธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท