ส่องรีเทิร์น ‘3ไอพีโอ’ เดือนมิ.ย.นี้ รวมมูลค่าระดมทุนกว่า ‘2 พันล้าน’

ส่องรีเทิร์น ‘3ไอพีโอ’ เดือนมิ.ย.นี้  รวมมูลค่าระดมทุนกว่า ‘2 พันล้าน’

เช็กรีเทิร์น “3 ไอพีโอ” ลุยเข้าซื้อขายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา “ทีบีเอ็น - บีแอลซี - ทีพีแอล” รวมมูลค่าระดมทุนกว่า 2 พันล้านบาท แม้บรรยากาศลงทุนอาจไม่เอื้อ แต่หุ้นน้องใหม่ยังสร้างกำไรให้นักลงทุน

แม้ว่าตลาดหุ้นไทยในเดือนมิ.ย. 2566 บรรยากาศอาจจะไม่ “คึกคัก” ! สะท้อนผ่านดัชนี SET INDEX ที่ผันผวนแรง แต่สำหรับตลาดหุ้นน้องใหม่ “ไอพีโอ” (IPO) ยังถือว่ามีเสน่ห์สามารถดึงดูดเจ้าของธุรกิจให้เข้ามาระดมทุนอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าในช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา มีหุ้นไอพีโอที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) จำนวน “3 บริษัทจดทะเบียนไทย” (บจ.) 

ประกอบด้วย บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN , บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC และ บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL รวมมูลค่าระดมทุน 2,081 ล้านบาท !!

“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจ “ผลตอบแทน” (รีเทิร์น) ราคา “3 หุ้นไอพีโอ” ที่เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในเดือนมิ.ย. 2566 พบว่า บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของไทย และเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ซอฟต์แวร์ Low-Code Development Platform (LCDP) โดยเป็นตัวแทนจำหน่าย MENDIX License รายแรก และปัจจุบันเป็นรายเดียวในประเทศไทย

โดย TBN เข้าซื้อขายวันแรกในตลาด MAI เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ด้วยราคาเปิดอยู่ที่ 27.50 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 10.50 บาท หรือ 61.76% เหนือราคาจองที่ 17 บาท ก่อนจะเคลื่อนไหวมาปิดตลาดวันแรกที่ 42.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 150%

อย่างไรก็ตาม การเข้าระดมทุนถือเป็น “ก้าวสำคัญ” ที่จะสนับสนุน TBN สามารถสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และผลการดำเนินงานที่ก้าวกระโดดในอนาคต บ่งชี้ผ่านภายหลังการระดมทุนจะเดินหน้าขยายทีมงานเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับงานโครงการประเภทงานพัฒนาระบบ (Digital Solution Services) ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคตจากการที่หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กรมากขึ้น 

โดยบริษัทจึงได้จัดตั้งแผนก TBN MENDIX Academy เพื่อการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว โดยตั้งเป้าสร้างบุคลากรเพิ่ม 1,000 คน ภายในปี 2569 และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสทางธุรกิจ 

ส่องรีเทิร์น ‘3ไอพีโอ’ เดือนมิ.ย.นี้  รวมมูลค่าระดมทุนกว่า ‘2 พันล้าน’

บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นๆ 

โดย BLC เข้าซื้อขายวันแรกในตลาด SET เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 ด้วยราคาเปิดอยู่ที่ 10.50 บาทต่อหุ้น เท่ากับราคาจองที่ 10.50 บาท ก่อนจะเคลื่อนไหวมาปิดตลาดวันแรกที่ 7.20 บาท หรือลดลง 31.43% 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ BLC มีความน่าสนใจ เนื่องจากอยู่ใน “อุตสาหกรรม” ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และบริษัทกำลังอยู่ในช่วงของการขยายตัวจากการลงทุน เพื่อรองรับการเติบโต ซึ่งคาดกำไรปกติปี ในช่วง 3 ปี เติบโตต่อเนื่อง

โดยบริษัทมีแผนที่จะนำเงินระดมทุนส่วนใหญ่ไปก่อสร้างโรงงานผลิตยาอาคารใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 200% และลงทุนงานวิจัยและพัฒนายาสามัญใหม่ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้เป็น 2,000 ล้านบาทภายในปี 2569

บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง 

โดยหุ้น TPL เป็นหุ้นธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีความ “แตกต่าง” จากผู้ประกอบการทั่วไป โดยได้จัดพอร์ตลูกค้าออกเป็นสามกลุ่มคือ ประเภท B2B , B2C และ C2C เพื่อบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ และที่ “โดดเด่น” คือ มีบริการจัดส่งสินค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก (Overweight) หรือของที่มีขนาดใหญ่ (Oversize) หรือมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป (Odd size)

โดย TPL เข้าซื้อขายวันแรกในตลาด MAI เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ด้วยราคาเปิดอยู่ที่ 5.90 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 2.60 บาท หรือ 78.79 % ยืนเหนือราคาจองที่ 3.30 บาท ก่อนจะเคลื่อนไหวมาปิดตลาดวันแรกที่ 2.22 บาท หรือลดลง 32.73% 

สำหรับการเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญใน “การขยายธุรกิจ” การลงทุนโครงการในอนาคต ผลักดันการเติบโตอย่าง “ก้าวกระโดด” พร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าขนาดใหญ่หลากหลายรูปทรงด้วยระบบ “Green logistics” รวมถึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต 

สะท้อนผ่านเงินระดมทุนใช้ผ่าน 3 ช่องทางสร้างการเติบโตอย่าง “โดดเด่น” คือ 1. ใช้ในการจัดหาที่ดิน และก่อสร้างศูนย์คัดแยก และกระจายสินค้าประจำภูมิภาค รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าในเขต กทม. 2. การซื้อยานพาหนะที่เป็นรถขนส่งแบบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการสร้างสถานีชาร์จไฟ และอุปกรณ์ต่างๆ และ 3.การลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนขยายธุรกิจจะช่วยผลักดันให้รายได้ปีนี้เติบโตได้ไม่น้อยกว่า 15-20% โดยปัจจุบันบริษัทมีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 4 แสนชิ้นต่อเดือน จากความสามารถในการขนส่งถึง 1 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งบริษัทจะทยอยเปลี่ยนรถขนส่งมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังจากได้นำมาทดลองใช้แล้ว ซึ่งสามารถประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้เกือบ 50% อีกทั้งยังมีค่าบำรุงรักษาน้อยกว่ารถยนต์ดีเซล

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์