กูรูการเงิน ชี้‘บาทอ่อนค่า‘ จับตา ‘เงินเฟ้อ-เจรจาการค้าสหรัฐฯ‘

กูรูการเงิน ชี้‘บาทอ่อนค่า‘ จับตา ‘เงินเฟ้อ-เจรจาการค้าสหรัฐฯ‘

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้บาทอ่อนค่า เหตุราคาทองร่วง ดอลลาร์มีแรงหนุนเพิ่มช่วงรอติดตามเจรจาการค้าสหรัฐ- จีน กรุงศรี คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 32.45-33.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลอดช่วงเช้าวันนี้ (9 มิ.ย.68) 'เงินบาทอ่อนค่า'อยู่ที่ระดับประมาณ 32.72-32.74 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าลงตามการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ปรับตัวขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงที่ตลาดรอติดตามการเจรจาการค้าระหว่างผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ และจีนที่ลอนดอนในวันนี้ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.60-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ฟันด์โฟลว์ต่างชาติ สัญญาณเกี่ยวกับการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับจีน  ข้อมูล CPI และ PPI ของจีน รวมถึงตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐฯเดือนพ.ค.

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)  เปิดเผยว่า  กรุงศรีฯ มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้(9-13 มิ.ย.) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.45-33.10 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 32.48-32.75 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยน ขณะที่ยูโรแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนระยะสั้นพุ่งสูงขึ้น หลังธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ 2.00% ตามคาด

กูรูการเงิน ชี้‘บาทอ่อนค่า‘ จับตา ‘เงินเฟ้อ-เจรจาการค้าสหรัฐฯ‘

แต่ระบุว่า นโยบายเหมาะสมที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และกำลังไปถึงจุดสิ้นสุดของวัฏจักรผ่อนคลายทางการเงิน ทำให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้นว่าอีซีบีอาจตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป แม้เงินเฟ้อจะลดลงในระยะสั้น แต่การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในเยอรมันอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 2,377 ล้านบาท และ 163 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ของสหรัฐฯ แม้การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนล่าสุดออกมาดีกว่าคาด แต่ภาพใหญ่ยังคงสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ชะลอตัว นอกจากนี้ ตลาดจะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับคู่ค้าต่างๆ 

อนึ่ง การเปิดเผยรายงานประจำครึ่งปีจากสหรัฐฯเรื่องนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและอัตราแลกเปลี่ยนของคู่ค้าหลักสรุปว่าไม่มีคู่ค้ารายใหญ่ที่บิดเบือนค่าเงินของตัวเองเพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี เรามองว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะยังคงแสดงท่าทีในลักษณะที่บ่งบอกว่าต้องการให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่วนแนวโน้มค่าเงินเยนนั้น เราประเมินว่า แรงขายเงินเยนจากระดับปัจจุบันจะถูกจำกัด โดยแม้ในกรณีที่ตลาดพันธบัตรญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นและการค้าโลกคลายความตึงเครียดต่อเนื่อง ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) อาจอาศัยภาวะดังกล่าวส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงในญี่ปุ่น

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค.ของไทยลดลง 0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.09% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 68 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 0.48% และ 0.95% ตามลำดับ ก.พาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีที่ 0.0-1.0% ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของธปท.