“ธปท.”ผวาเทรดวอร์ฉุด ‘ลงทุน’ สินเชื่อแบงก์ติดลบ 3 ไตรมาสติด

ธปท. ห่วง “เอสเอ็มอี - รายย่อย” หนี้เสียพุ่งต่อเนื่อง “สินเชื่อ” หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ดีมานด์ลงทุน - ขอกู้หด คืนหนี้พุ่ง
KEY
POINTS
- ธปท.เปิดภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสแรก ชี้โดยรวมยังเสถียรภาพ แต่ต้องจับตาภาวะการเงินตึงตัว และกลุ่มเปราะบาง
- สินเชื่อหดตัวต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 3 โดยไตรมาสแรก ปี 2568 ติดลบ 1.3%
- เอสเอ็มอี และสินเชื่อบริโภค หดตัวแรง โดยเฉพาะเช่าซื้อ และบัตรเครดิต
- ธุรกิจใหญ่ยังชำระหนี้สูง ทำให้สินเชื่อสุทธิลด แม้ยังปล่อยสินเชื่อใหม่ระดับสูง
- รับ NPL เพิ่มขึ้นเป็น 2.9% โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และบ้านราคาสูง
- ธปท.กังวลกลุ่มรายย่อย-เอสเอ็มอี เล็ก หวังเตรียมออกมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 ช่วยช้อนกลุ่มที่มีปัญหาได้เพิ่ม
- รับ สั่งแบงก์ใหญ่ทำ Stress Test เตรียมรับมือ จากผลกระทบจากสงครามการค้า
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2568 โดยระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคง และมีเสถียรภาพเงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง
แต่ในภาพรวมน่าห่วงมากขึ้นจากสถานการณ์ความเปราะบางจากเศรษฐกิจ และจากผลกระทบจาก “สงครามการค้า” ที่เป็นตัวฉุดให้ภาพรวมของ “สินเชื่อ” หดตัวต่อเนื่อง ผนวกกับ “หนี้เสีย” ที่อยู่ระดับสูง
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูภาพรวม ของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1ปี 2568 แม้โดยรวมเสถียรภาพของระบบการเงินของธนาคารพาณิชย์จะยังมีเสถียรภาพ
แต่ที่ต้องติดตาม คือ ภาวะการเงินที่ “ตึงตัว” และความสามารถการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง และธุรกิจ รวมถึงครัวเรือนที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจาก นโยบายการค้าโลก
ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปีนี้ ถือว่าภาพยังเป็นการ “หดตัว” ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2567 เป็นต้นมา
หลักๆ ธปท. พบว่ามีการคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัวอยู่ และที่หดตัวค่อนข้างมากคือ สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่ออุปโภคบริโภคตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ระดับสูง
สินเชื่อติดลบต่อเนื่องไตรมาสที่ 3
หากดูภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสนี้สินเชื่อติดลบ 1.3% และติดลบเป็นไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องกัน และคาดว่าสินเชื่อในภาพรวมจะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปี 2568 นี้ด้วย ส่วนภาพรวมสินเชื่อที่ยังคงหดตัวในไตรมาสแรก โดยหลักจากการชำระคืนหนี้ในระดับสูง
ขณะที่ การระดมทุนผ่านตราสารหนี้หดตัวลดลง ส่วนหนึ่ง ธปท. พบว่ามีธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายที่มีการออกตราสารหนี้ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มสาธารณูปโภค พลังงาน ที่มีการออกตราสารหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาไปรีไฟแนนซ์กับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลทำให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง
โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงขยายตัวได้ในอัตรา 1.5% กลุ่มหลักที่มีการขอสินเชื่ออยู่ในกลุ่มภาคอสังหาริมทรัพย์ , กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ส่งออกที่พบว่ามีการเร่งขึ้นจากการเร่งนำเข้าก่อนมาตรการภาษีจะมีผล
ส่วนสินเชื่อที่หดตัวอยู่ในกลุ่มสาธารณูปโภคพลังงาน และสื่อสาร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้มีการออกตราสารหนี้เพื่อมาชำระคืนเงินกู้ของสถาบันการเงิน
สินเชื่อเอสเอ็มอีหดตัวทุกภาคธุรกิจ
สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอี ยังคงหดตัวในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการพาณิชย์ ที่หดตัว 5.5% ส่วนหนึ่งมาจากผลจากการเข้มงวดของการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ธปท.พบว่ากลุ่มที่เป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่ยังมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี และกลุ่มที่มีศักยภาพในการแข่งขันก็ยังคงได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค ภาพรวมหดตัว 2.2% โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ และบัตรเครดิตหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากความระมัดระวังในการให้สินเชื่อเช่าซื้อที่มีมาตลอดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และยังพบว่ายอดใช้จ่ายบัตรเครดิตมีการปรับลดลงหลังจากที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4 แต่ไตรมาสหนึ่งก็มีการชะลอการใช้จ่ายลง
ในส่วนของสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัว แต่อยู่ในอัตราที่ชะลอลง โดยพบว่าในสินเชื่อบ้านชะลอลงมาก ในกลุ่มบ้านที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท
ทั้งนี้ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ ธปท.พบสัญญาณบวกในตลาดเช่าซื้อรถยนต์จากยอดขายรถยนต์ในประเทศในช่วงไตรมาส 1 ที่ปรับตัวดีขึ้น และหากดูสถานการณ์รถมือสองพบว่า การยึดรถในไตรมาสนี้ปรับลดลง ส่วนหนึ่งก็จะมาตรการช่วยเหลือที่ทำให้เกิดมีการชะลอการยึดรถ และทำให้ราคารถมือ 2 มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
“หากถามว่า แบงก์หุบร่มไม่ปล่อยสินเชื่อเลยหรือไม่ สิ่งที่ ธปท.พบสินเชื่อปล่อยใหม่ยังปล่อยอยู่ในระดับสูง 4.4 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 1 แต่ตัวที่เพิ่มขึ้นมากคือ การชำระคืนสินเชื่อ ซึ่งจำนวนมากมาจากสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการชำระเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน”
หนี้เสียพุ่งจากเอสเอ็มอี-รายย่อย
ในด้านคุณภาพหนี้พบว่าโดยรวม หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.78% จากไตรมาสก่อนหน้ามาที่ 2.9% ในไตรมาสนี้ ผลทั้งจากปริมาณเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในบางประเภทสินเชื่อ และจากสินเชื่อที่หดตัวลงในบางประเภทสินเชื่อ
โดยหลักๆ ธปท.พบว่า เอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจที่เป็นเอสเอ็มอีที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกเซกเตอร์ โดยพบว่าหนี้เสียรายใหญ่ที่เป็นหนี้เสียส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เคยได้รับความช่วยเหลือมาแล้ว เช่นเดียวกันกับ สินเชื่ออุปโภคบริโภค เช่นสินเชื่อบ้านที่เอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้น
หากเจาะไปดูรายบัญชีพบว่าในกลุ่มสินเชื่อบ้านต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีที่เป็นเอ็นพีแอลปรับลดลง แต่ยอดหนี้ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าตัวที่เป็นเอ็นพีแอลคือ “กลุ่มบ้านราคาสูงขึ้น”
“ตัวที่เรากังวลคงเป็นเรื่องของตัวสินเชื่อเอสเอ็มอี และรายย่อย ดังนั้น มาตรการที่กำลังจะออกมาคือ คุณสู้เราช่วยเฟส 2 ที่กำลังมา ก็จะมีส่วนช่วยด้วย ซึ่งพวกนี้การแก้หนี้สำคัญ ต้องแก้ปัญหาที่รายได้ด้วยทำยังไงให้รายได้ของครัวเรือน หรือรายได้ของธุรกิจกลับมา ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และแก้ค่อนข้างยาก”
สำหรับ ในกลุ่ม SM หรือ Stage 2 พบว่าภาพรวมปรับลดลงมาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพ สะท้อนความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์ในการที่ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี แต่ในส่วนสินเชื่ออุปโภค และบริโภคปรับเพิ่มขึ้น หลักมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ซึ่งหากมองไปข้างหน้า แนวโน้มคุณภาพหนี้ต่างๆ สถานการณ์ก็อาจแย่ลง จากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังไม่รู้ว่าผลการเจรจาเป็นอย่างไร ดังนั้นถามว่า ธปท.กังวลหรือไม่ “กังวล” โดยกลุ่มที่ ธปท. กังวลก็คงเป็นกลุ่มของรายย่อย และกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก
ทั้งนี้ภายใต้การปล่อยกู้อย่างระมัดระวังของสถาบันการเงิน ในทางกลับกัน ธปท.มองว่าหากภาคธุรกิจหรือครัวเรือนแสดงให้เห็นถึงความสามารถ ในการมีแหล่งเงินในการชำระหนี้ก็มีโอกาสได้เม็ดเงินใหม่ได้ ดังนั้นไม่ใช่มาจากแบงก์ไม่ปล่อยกู้อย่างเดียว และส่วนหนึ่ง ธปท. เห็นว่าความไม่แน่นอนที่สูงทำให้ความต้องการของภาคธุรกิจในการลงทุนขนาดใหญ่ชะลอตัวลง ดังนั้นฝั่งดีมานด์ก็หายไป
แบงก์ชาติสั่ง 6 แบงก์ใหญ่ทำ Stress Test
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่า ในภาพรวมที่มีความท้าทายมาก โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้า ดังนั้นต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และมีการคุยกับสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการต่อเนื่องเพื่อให้ปรับตัวต่อเนื่องในภาวะนี้
ดังนั้น จากผลกระทบนี้ ธปท.ได้มีการให้สถาบันการเงินทำผลทดสอบภาวะวิกฤติ จากผลกระทบสงครามการค้า นโยบายการขึ้นภาษีของทรัมป์ เพราะสถาบันการเงินบางแห่งมีลูกค้าที่ส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้นผลกระทบเหล่านี้อาจกระทบต่อลูกค้าของธนาคาร จึงให้แบงก์ใหญ่ๆ ประเมินผลกระทบซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมาให้ ธปท.รับทราบได้ในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วน ธปท.เองก็มีการหารือกับกระทรวงการคลังต่อเนื่อง ในการออกมาตรการ “คุณสู้เราช่วย” ระยะที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่ากลางหรือปลายเดือนมิ.ย. น่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการ
ซึ่งกรณีที่กระทรวงการคลัง อยากให้ทางธนาคารพาณิชย์มีการ “หั่นกำไร” มาช่วยเหลือลูกหนี้นั้น ธปท. มองว่า โครงการคุณสู้เราช่วยก็ถือเป็นมาตรการที่กระทบต่อกำไรของธนาคารอยู่แล้ว จากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง และต้องชดเชยรายได้ส่วนหนึ่งในโครงการด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.มีการเข้มงวดมาก ในการให้แบงก์เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ หรือโครงการคุณสู้เราช่วย ที่ ธปท.มีการติดตามใกล้ชิดว่าแบงก์ได้มีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เรากำหนดหรือไม่
NIM แบงก์ไทยไม่ได้สูงไป
อย่างไรก็ตาม หากดู NIM หรืออัตรากำไรสุทธิจากดอกเบี้ยนั้น ในภาพใหญ่ของระบบแบงก์ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา
และหากดู NIM ในปัจจุบันหากเทียบกับประเทศในภูมิภาค ถือว่าของไทยอยู่ระดับกลางๆ ไม่สูงเกินไป โดย NIM โดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.8% หากเทียบกับอินโดนีเซียที่สูงกว่าเราที่ 4.6 % หรือฟิลิปปินส์ ปัจจุบันอยู่ที่ราว 4 % เวียดนาม 3.3% ซึ่งที่ต่ำกว่าไทยคือ สิงคโปร์ที่อยู่ราว 2% ดังนั้นของไทยก็ถือว่าอยู่ระดับกลางๆ ของภูมิภาค
ดังนั้น หากถามว่า NIM จะสามารถลดลงได้หรือไม่ มองว่าหากลดลงแล้วทำให้ลูกนี้ได้ประโยชน์มากขึ้น แบงก์มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ NIM ลดลงได้ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แบงก์ชาติเปิดให้ใบอนุญาต หรือไลเซนส์ “Virtual bank” เพิ่มขึ้น เพราะสิ่งที่ ธปท.อยากเห็นคือ การเปิดกว้างสำหรับการแข่งขันให้มากขึ้น
“หากจะให้ NIM ต่ำลงกว่านี้ เราก็ต้องทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างที่เราเห็น แบงก์พยายามลดต้นทุนซึ่งจะเห็นว่าต้นทุนดำเนินงานของแบงก์ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายต่างๆ”
ส่วน กรณีล่าสุด ที่มีการจับกุมผู้จัดการแบงก์ และพนักงานแบงก์ที่ลอบเปิดบัญชีให้กับแก๊งคอลเซนเตอร์นั้น ส่วนนี้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงาน ปปง. ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว และล่าสุดมีการลงโทษพนักงาน และมีการดำเนินคดีแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ ธปท.จะไปดูเพิ่มคือ ช่องโหว่ของกรณีดังกล่าวเพื่อหาแนวทางยกระดับป้องกันต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์