ขายทองแบบไหน ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และคำนวณอย่างไร

ขายทองแบบไหน ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และคำนวณอย่างไร

เปิดหลักเกณฑ์ การจดภาษีมูลค่าเพิ่มของร้านขายทอง พร้อมทำความเข้าใจเมื่อจด VAT แล้ว ร้านขายทองต้องคำนวณ VAT อย่างไร 

ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าทองคำที่จำหน่ายอยู่ตามร้านขายทอง ไม่ว่าจะเป็นทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง ราคาพุ่งสูงขึ้นกว่าครึ่งแสนแล้ว ซึ่งอาจทำให้ผลประกอบการของเจ้าของธุรกิจร้านขายทองสูงเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี และต้องเข้าสู่กระบวนการขอจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่    

​เพราะตามหลักการของผู้ทำธุรกิจเมื่อมีรายได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จะต้องยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่กรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท และในกรณีที่เป็นธุรกิจร้านขายทองจะนับเงินได้ทั้งจำนวนที่ได้รับจากการขายทอง หากเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนที่เข้าใจเรื่องคิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่ากำเหน็จนั้น จะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเจ้าของธุรกิจร้านทองได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ สามารถคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจร้านทองได้ดังนี้

หลังจด VAT แล้ว ร้านขายทองต้องคำนวณ VAT อย่างไร 

​อย่างที่ทราบไปแล้วว่า เจ้าของธุรกิจร้านขายทองเมื่อมีรายได้จากการขายทอง โดยนับรายได้ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะค่ากำเหน็จ หากเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องขอจดภาษีมูลค่าเพิ่ม และหลังจากจดภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว สามารถคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทองรูปแบบต่างๆ เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนแตกต่างกันดังนี้

1.ทองรูปพรรณ

​สำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทองรูปพรรณ ให้นับจากผลต่างระหว่างราคาขายทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จ (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หักด้วยราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศในแต่ละวัน 

สูตรที่ใช้คำนวณ (ราคาขายทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จ – ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ) x 7% = VAT ​

2.ทองคำแท่ง

สำหรับการขายทองคำแท่งจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งสามารถอธิบายเงื่อนไขได้ดังนี้

- ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

- ต้องเป็นการขายทองคำแท่งที่ยังไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณ

- ต้องแจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำต่ออธิบดีกรมสรรพากร (ยื่นแบบ ภ.พ.01.3)

- ทองคำแท่งต้องมีน้ำหนักเนื้อทองไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5

- ผู้ขายต้องเป็นสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้าทองคำ หรืออัญมณี สมาคมใดสมาคมหนึ่ง

3.ขายฝาก

สำหรับรายได้จากการขายฝากทองคำ สามารถคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในการทำสัญญาขายฝาก คือ

​- กรณีมีการกำหนดราคาขายฝากไว้ในสัญญาขายฝาก

สูตรที่ใช้คำนวณ (มูลค่าสินไถ่ตามสัญญา – ราคาขายฝาก) x 7% = VAT

​- กรณีไม่มีกำหนดราคาขายฝากไว้ในสัญญาขายฝาก

สูตรที่ใช้คำนวณ (มูลค่าสินไถ่ตามสัญญา – (มูลค่าสินไถ่ตามสัญญา x 85%)) x 7% = VAT

ที่สำคัญต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการขายฝากทองคำที่ได้รับสิทธิคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างมูลค่าสินไถ่ ดังนี้

- ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

- ต้องมีใบอนุญาตค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า

- ต้องรับขายฝากทองรูปพรรณ

4.ทองรูปพรรณเก่า

สำหรับรายได้จากการขายทองรูปพรรณเก่า ให้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับการขายทองรูปพรรณใหม่

5.ขายสินค้าอื่น และการให้บริการ

สำหรับรายได้จากการขายสินค้าอื่น และการให้บริการ ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีทั่วไป

สูตรที่ใช้คำนวณ ฐานภาษี x 7% = VAT

เก็บ VAT มาแล้ว อย่าลืมทำใบกำกับภาษีทุกครั้ง

​หลังจากมีการซื้อขายและเก็บ VAT 7% จากลูกค้ามาแล้ว เจ้าของธุรกิจร้านขายทอง มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้ง โดยมีสาระสำคัญเพิ่มเติมมากกว่าใบกำกับภาษีของกิจการประเภทอื่น ซึ่งในใบกำกับภาษีสำหรับการขายทอง สามารถทำได้ 2 รูปแบบ และต้องประกอบไปด้วย...

1.ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในใบกำกับภาษี 

​- ราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมรวมค่ากำเหน็จ

​- ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ

​- ผลต่างระว่างราคาขายกับราคารับซื้อคืน

​- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในใบกำกับภาษี 

​- ราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จ

​- ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ

​- ผลต่างระหว่างราคาขายกับราคารับซื้อคืน

​- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยธุรกิจร้านขายทองสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ หากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ซึ่งต้องเป็นกิจการค้าปลีกที่มีลักษณะหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้

- เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดเจนว่าเป็นการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภค หรือใช้สอยโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ

- การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก

- สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป กิจการร้านทองต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี (แบบเต็มรูป) พร้อมทั้งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามที่ร้องขอ

ทั้งนี้ หากมีการออกใบรับด้วยเครื่องบันทึกการเก็บในใบกำกับภาษี จะต้องมีหมายเลขลำดับของใบรับที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน หรือถ้าหากใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีด้วย ไม่ต้องระบุหมายเลขลำดับของใบรับ แต่ต้องมีเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงิน  

สรุป...ร้านขายทองคำแท่งได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

​แม้ว่าร้านขายทอง จะได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายทองคำแท่ง แต่ทองรูปแบบอื่นๆ ยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทองรูปพรรณใหม่ ทองรูปพรรณเก่า การฝากขาย และการขายสินค้าอื่นๆ และบริการ ด้วยเหตุนี้ร้านขายทองจึงควรศึกษาการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มให้ดี เพื่อนำมาลงรายการบัญชีได้ถูกต้อง และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแบบไม่มีผิดพลาด  

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting