หุ้นกู้ไฮยีลด์ กลุ่มอสังหาฯ วูบ นักลงทุนไร้ความเชื่อมั่นธุรกิจ

หุ้นกู้ไฮยีลด์ กลุ่มอสังหาฯ วูบ นักลงทุนไร้ความเชื่อมั่นธุรกิจ

“ไทยบีเอ็มเอ” เผย “หุ้นกู้อสังหาฯ” ตั้งแต่ต้นปี 68 “กลุ่มไฮยีลด์” วูบยอดออกเหลือ 2.8 พันล้าน “บล.กสิกรไทย” นักลงทุนระวังสภาพคล่องหุ้นกู้ “อสังหาฯ -ธุรกิจมีภาระหนี้สูง”

ตลาดตราสารหนี้ไทย” (ตลาดหุ้นกู้) ยังคงเผชิญความกังวลจาก “การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้” ที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดกลางและเล็ก หลังในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนออกเสนอขายหุ้นกู้ โดยเฉพาะใน “กลุ่มไฮยีลด์” แต่ขายไม่หมด เพราะความต้องการซื้อยังไม่กลับมา 

นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทย โดยเฉพาะหุ้นกู้ใน “กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์” พบว่า ขณะนี้ผู้ออกหุ้นกู้กลุ่มนี้ยังเป็นรายเดิมๆ และมูลค่าหุ้นกู้ที่ออกเพิ่มขึ้นมากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นหุ้นกู้ “กลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน” (Investment Grade ) ขณะที่หุ้นกู้ “กลุ่มดอกเบี้ยสูง เรตติ้งต่ำ” (High yield) มีมูลค่าการออก “ลดลงมาก” 

โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้กลุ่มอสังหาฯ ม.ค.-17 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 23,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 22,819 ล้านบาท แต่พบกลุ่ม Investment Grade อยู่ที่ 21,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาก จากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 13,573 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่ม High yield อยู่ที่ 2,817 ล้านบาท ลดลงมาก จากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 9,244 ล้านบาท

“ถือว่า ยังไม่มีประเด็นที่ผิดปกติ โดยสอดคล้องเป็นไปตามภาวะตลาดของ นักลงทุนที่มีความระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้ ทำให้หุ้นกู้กลุ่ม High yield ทั้งภาพรวมและกลุ่มอสังหาฯ ลดลง”

พร้อมกันนี้ ยอดซื้อขายหุ้นกู้กลุ่มอสังหาฯ ขณะนี้ยังไม่น่าจะมีความผิดปกติจากปีก่อน และแนวโน้มในปีนี้น่าจะมี “ทิศทางทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อน” เนื่องจากมองภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในปัจจุบันยังค่อนข้าง “ทรงตัว” จากกลุ่มผู้ออกหุ้นกู้ที่มีการเปลี่ยนไปเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ออกหุ้นกู้ที่ถูกระมัดระวังจากกลุ่มนักลงทุน ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการระดมทุนเลี่ยงการออกหุ้นกู้ ไปใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบอื่น ที่ต้นทุนทางการต่ำกว่าแทน ซึ่งเป็นเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน

“ตลาดยังจับตารอลุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดหวังว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งในปัจจุบันยังทรงตัว ขณะที่ดอกเบี้ยในปีนี้ยังทรงตัวในระดับสูง ยังไม่ปรับลดลง สะท้อนมายังผู้ออกหุ้นกู้อย่างชัดเจนในกลุ่ม High yield ที่มีมูลค่าการออกลดลงต่อเนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านด้วยภาวะตลาดเช่นนี้ มีจังหวะที่กลุ่ม High yield ออกขายแล้วเหลือบ้าง ทำให้ผู้ออกหันไประดมทุนด้วยรูปแบบอื่น”

“อสังหาฯ” หุ้นกู้ครบกำหนดมากสุดแตะ 3.8 หมื่นล้าน 

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ยังคงคาดมูลค่าการออกหุ้นกู้ปี 2568 จะอยู่ที่ 850,000 - 900,000 ล้านบาท เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แต่มีแนวโน้มที่กลุ่ม High Yield อาจลดลง เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญกับคุณภาพของผู้ออกตราสารหนี้มากขึ้น และยังติดตามเฝ้าระวังในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจไทยยังนี้ยังไม่ฟื้นขึ้นชัดเจนจากปีก่อนนัก

ในปีนี้ (ม.ค-11 มี.ค. 2568 ) มียอดการออกหุ้นกู้ทั้งสิ้น 168,428 ล้านบาท โดย TOP 5 Sector ได้แก่ 1.ธุรกิจพลังงาน (ENERGY) 44,150 ล้านบาท 2.ธุรกิจการเงิน (FIN) 24,600 ล้านบาท 3.ธุรกิจอสังหาฯ (PROP ) 21,000 ล้านบาท 4.ธุรกิจอาหาร (FOOD ) 20,100 ล้านบาท และ5.ธุรกิจการเกษตร (AGRI ) 15,150 ล้านบาท

โดยจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดในช่วงเดียวกันทั้งสิ้น 150,902 ล้านบาท โดย TOP 5 Sector ได้แก่ 1.ธุรกิจอสังหาฯ (PROP) 38,709 ล้านบาท2.ธุรกิจการเงิน (FIN) 33,001 ล้านบาท 3.ธุรกิจสื่อสาร (ICT) 21,243 ล้านบาท 4.ธุรกิจพลังงาน (ENERGY) 17,912 ล้านบาท 5.ธุรกิจการเกษตร (AGRI) 13,445 ล้านบาท

จับตาหุ้นกู้ชั่วนิรันด์ ไถ่ถอน 2 รุ่น “แสนสิริ-อันดา”

ทางด้าน หุ้นกู้ชั่วนิรันด์ หรือ “subordinated perpetual bond” ในปี 2568 ยังไม่พบยอดออกใหม่เนื่องจากหุ้นกู้ประเภทนี้ ให้ดอกเบี้ยสูง ทำให้มีความต้องการซื้อของนักลงทุนอยู่แล้ว แต่ดอกเบี้ยยังไม่ลดลงและทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงหุ้นกู้ประเภทนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาวันครบอายุไถ่ถอน

ในภาวะตลาดเช่นนี้ ทำให้ผู้ออกขายถึงเป็นบริษัทที่มีเรตติ้งที่ดี ไม่มีความกังวลผลการดำเนินงาน ต้องยอมรับว่าผู้ออกขายยังคงต้องระมัดระวังอยู่รวมถึงเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่เห็นภาพของการขยายตัวที่ชัดเจน ชะลอการระดมทุน ทำให้ผู้ออกขายอาจยังไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนหุ้นกู้ในรูปแบบนี้ไปด้วย

สำหรับ ในปี 2567 หุ้นกู้ชั่วนิรันด์ มีมูลค่าการออกทั้งสิ้น 189,492 ล้านบาท และในปีนี้จะมี 2 รุ่นคือ

1.บมจ. แสนสิริ (SIRI) ที่จะสามารถเรียกไถ่ถอนคืนในช่วงเดือนมิ.ย.ได้เป็นครั้งแรก มูลค่า 3,000 ล้านบาท คาดจะมีการออกใหม่เสนอขายแก่นักลงทุนในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

2. บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ที่จะสามารถเรียกไถ่ถอนในช่วงเดือนส.ค.ได้เป็นครั้งแรก มูลค่าราว 1,000 ล้านบาท คาดว่า สถานการณ์ยังเป็นเช่นเดิมจากรุ่นก่อนหน้าที่สามารถไถ่ถอนได้ แต่ยังไม่ดำเนินการไถ่ถอน ยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นเล็กน้อยให้กับนักลงทุน

“หุ้นกู้ประเภทนี้ ผู้ออกมีสิทธิที่จะไม่ดำเนินการไถ่ถอนได้ ไม่ถือว่า เป็นการผิดนัดชำระ โดยจะผิดนัดชำระ ก็ต่อเมื่อ บริษัทอยู่ในสถานะล้มละลาย ปิดกิจการ ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับนักลงทุน ดังนั้น แนวทางของ ANAN นับว่าสอดคล้องกับสถานะของบริษัทขณะนี้กำลังประคับประคองให้ผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆในตลาดอสังหาฯ ที่เข้ามากระทบไปได้ อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่จะครบกำหนดชำระหนี้ได้อยู่”

“บล.กสิกรไทย” มองตลาดหุ้นกู้ยังเผชิญแรงกดดัน 

นายกรกฏ กมลเนตรพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นกู้ในปีนี้ยังคงได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัยสำคัญ ทั้งเศรษฐกิจโลก นโยบายการเงินของธนาคารกลาง และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการออกและการลงทุนในหุ้นกู้

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออุตสาหกรรมตราสารหนี้ไทยโดยเฉพาะหุ้นกู้ ได้แก่

1.อัตราดอกเบี้ยขาลง หรือคงที่ โดยห้องค้ากสิกรไทยคาดว่า กนง. ลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งสู่ระดับ 1.75% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 2.25% ต่อปี ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ออกตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับสูง และส่งผลให้หุ้นกู้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงยังต้องเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจในระดับสูง

2 สภาพคล่องของระบบการเงินนักลงทุนยังคงมีความระมัดระวังในการลงทุนโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของผู้ออกตราสารหนี้มากขึ้นโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจที่มีภาระหนี้สูง

3.การผิดนัดชำระหนี้ ปัญหาหุ้นกู้บางบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้นในการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ ส่งผลให้หุ้นกู้เครดิตเรตติ้งต่ำอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยลง

ด้านผลกระทบต่อการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ์คล้ายทุน (Subordinated Perpetual Bonds) สำคัญมี 4 เรื่อง ดังนี้

1.ต้นทุนการเงินสูงขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับสูงทำให้ตราสารหนี้ประเภท Perpetual Bonds ต้องเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการเงินของบริษัทสูงขึ้นมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป และผู้ออกตราสารหนี้ต้องพิจารณาถึงภาระการจ่ายดอกเบี้ยระยะยาว และความสามารถในการรีไฟแนนซ์ในอนาคต

2. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงในปีที่ผ่านมามีกรณีการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มหุ้นกู้ทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้น และต้องการความโปร่งใสจากผู้ออกตราสารหนี้ อีกทั้งบริษัทที่ไม่มีอันดับเครดิตสูง (ต่ำกว่า BBB-) อาจต้องเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นมากเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะกระทบต้นทุนการเงินของบริษัทในระยะยาว

3. การแข่งขันกับตราสารหนี้เอกชนประเภทอื่นในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับสูงนักลงทุนอาจเลือกลงทุนตราสารหนี้ระยะเวลาสั้นกว่า (เช่น 3-5 ปี) ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า แทนที่จะลงทุนใน Perpetual Bonds ที่มีความไม่แน่นอนระยะยาว 

4. โอกาสในกลุ่มผู้ออกตราสารหนี้ที่มีเครดิตดี(Investment Grade Issuers) บริษัทที่มีอันดับเครดิตสูง (A- ขึ้นไป) จะมีโอกาสระดมทุนได้ง่ายขึ้น แม้อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น เพราะยังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนสถาบันที่มองหาการลงทุนระยะยาว ซึ่งบริษัทที่มีประวัติทางการเงินแข็งแกร่ง อาจสามารถเสนอ Perpetual Bonds ที่มีเงื่อนไขดีกว่า