ประกันสังคมลุย ‘ขุมทรัพย์ใหม่’ ขยายพอร์ตลงทุน 'สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น'

ประกันสังคมลุย ‘ขุมทรัพย์ใหม่’ ขยายพอร์ตลงทุน 'สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น'

“กองทุนประกันสังคม” ปรับยุทธศาสตร์พอร์ตลงทุนครั้งใหญ่ เพิ่มลงทุน “สินทรัพย์เสี่ยง” หลังผลตอบแทนพุ่ง สัดส่วนต่างประเทศเป็น 40% ในไทย 60% ตั้งเป้ารีเทิร์นปีนี้แตะ 5% รับสนใจลงทุนตลาด “สหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น” หวังหนีจุดวิกฤติกองทุนอาจ “เซต ซีโร่” ในอีก 30 ปี

“กองทุนประกันสังคม” หนึ่งในกองทุนขนาดใหญ่ของประเทศไทย กำลังถูกจับตามอง และเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมากว่า กองทุนนี้กำลังจะ “ถังแตก” และคาดว่าในอนาคตจะเกิด “ความเสี่ยง” ว่าเงินในกองทุนประกันสังคมจะไม่พอจ่ายให้กับ “ผู้ประกันตน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเงินชราภาพ

ประเด็นดังกล่าวสอดรับสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging society) ดังนั้น แนวโน้มที่วัยแรงงานจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกัน “คนอายุยืน” มากขึ้น ซึ่งประกันสังคมต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานวัยเกษียณมากขึ้น เหมือนกับว่ารับเข้ากระเป๋าน้อย แต่ต้องควักจ่ายมากขึ้นทุกๆ วัน

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ หาก “กองทุนประกันสังคม” ยังคงยึดติดกับบริบทเดิมๆ ในพอร์ตการลงทุนที่มีมูลค่ากว่า 2.6 ล้านล้านบาท โดยโอกาสสร้าง “ผลตอบแทน” (รีเทิร์น) ที่เพิ่มขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนคง “ยากขึ้น”

ยืนยันกองทุนประกันสังคม “ไม่ล้ม”

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวในรายการ “DEEP Talk กรุงเทพธุรกิจ” ว่า “ยืนยันกองทุนประกันสังคมไม่ล้ม” เพียงแต่หากยังอยู่ในบริบทแบบเดิมๆ ในอีก 30 ปี หรือในปี 2597 กองทุนประกันสังคมจะเข้าสู่การเริ่มต้นใหม่ หรือ “Set Zero” หมายถึงมีเงินเข้า 100 ก็ออก 100 และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ถัดไปจำนวนเงินเข้า 100 แต่เงินออกจะเพิ่มเป็น 200 ด้วยภาพของสังคมคนไทยเข้าสู่ผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงขึ้น

ดังนั้น เมื่อต้นปี 2567 เพื่อรักษาความมั่นคง และเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม จึงได้ทบทวน “แผนยุทธศาสตร์ใหม่” (ปี 2568-2570) ด้วยวางเป้าหมายพอร์ตการลงทุนต้องสร้าง “ผลตอบแทน” หรือ “Return Income” เพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านการพิจารณาการลงทุนใน “สินทรัพย์เสี่ยงสูง” เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 40% จากเดิม 30% ส่วนอีก 60% เป็นสินทรัพย์มั่นคง (เสี่ยงต่ำ) 

อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมลงทุนใน “สินทรัพย์ทุกประเภท” แต่กลยุทธ์การลงทุนจะอยู่ที่ “เสี่ยงสูง” หรือ “เสี่ยงต่ำ” แต่กองทุนประกันสังคมจะยึดหลักการลงทุนในจุดหรือทุนที่เสี่ยงต่ำไม่มาก ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ดังนั้น “หากไม่กล้าเสี่ยงเราก็ไม่ได้ผลตอบแทนที่สูง และจะไม่สามารถมีผลตอบแทนกลับมาให้บริการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนได้” 

ขณะที่ ปรับสัดส่วนการลงทุนใน “ต่างประเทศ” ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศเป็น 40% และในประเทศ 60% โดยในปี 2566 ผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 3% หรือ 73,000 ล้านบาท ปี 2567 ผลตอบแทนอยู่ที่ 4% หรือ 60,000 ล้านบาท และในปี 2568 ตั้งเป้าผลตอบแทนของกองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 5% หรือ 70,000 ล้านบาท และในปี 2569 ผลตอบแทนอยู่ที่ 6% หรือ 70,000 ล้านบาท 

สะท้อนภาพจากที่กองทุนประกันสังคมเริ่มปรับกลยุทธ์การลงทุนออกไปลงทุนใน “สินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก” ไม่ยึดติดกับการลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว ด้วยการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ต้องยอมรับว่าปีก่อน “ผันผวน” สูงมาก และ “ไม่มีความเสถียร” รวมทั้งกำลังพิจารณาเข้าลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ อาทิ สินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่สินทรัพย์ลงทุนดิจิทัล อย่าง “คริปโทเคอร์เรนซี” กองทุนประกันสังคมไม่สนใจลงทุน เนื่องจากมองว่าเป็นสิทรัพย์ที่เสี่ยงสูงมากเกินไป และยังมีความผันผวนในด้านราคาค่อนข้างมากอีกด้วย 

หันลงทุนนอก แต่ยืนยันไม่ทิ้งหุ้นไทย 

ทั้งนี้ ปี 2568 กองทุนประกันสังคมยังเน้นการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากผลตอบแทนระดับสูง สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนใน “ตลาดหุ้นสหรัฐ” ซึ่งกองทุนประกันสังคมมีมูลค่าพอร์ตลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีผลตอบแทนจากช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องมาปี 2567 รีเทิร์นสูงถึงระดับ 20% 

โดยในปีนี้ตลาดหุ้นที่กองทุนประกันสังคมสนใจที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุน ต้องยกให้ “ตลาดยุโรป” เนื่องจากมองว่ายุโรปเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว หลังจากที่ “ซบเซา” ต่อเนื่องมา ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐมองว่ายังลงทุนได้อยู่ และอีกหนึ่งตลาดที่กองทุนประกันสังคมกำลังสนใจ และมองว่ามีเสถียรภาพคือ “ตลาดญี่ปุ่น” เนื่องจากญี่ปุ่นหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นรัฐบาลจะเข้ามาดูแลทันที ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่มีความปลอดภัย 

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แต่ยังต้องขอรอดูผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนี้ก่อนตัดสินใจ ซึ่งกองทุนประกันสังคมสามารถปรับแผนการลงทุนได้ตลอด แต่เบื้องต้นตั้งเป้าสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ 40% และในประเทศ 60% ไว้ก่อน 

ขณะที่ การลงทุนใน “ตลาดหุ้นไทย” ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันไม่ทิ้งการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพียงแต่ปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่คือ หุ้นตัวไหนที่ “ทำกำไร” ได้ กองทุนประกันสังคมอาจจะมีการทบทวนขายไป และซื้อเข้าใหม่ได้ เนื่องจากเพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีสำหรับผู้ประกันตน ดังนั้น ยืนยันว่าหุ้นตัวไหนที่กองทุนประกันสังคมลงทุนไว้อยู่แล้ว “ไม่ขาย” แต่หุ้นตัวไหนที่มีกำไรที่ดีก็อาจจะมีการขายออกมาบ้าง “การลงทุนต้องมีกำไร ไม่ใช่ลงทุนเพื่อให้ขาดทุน” 

โดยปัจจุบันจะเห็นว่ากองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ทั้งพอร์ตการลงทุนสิทรัพย์มั่นคงยังมีสัดส่วนใหญ่ที่ 60% และสินทรัพย์เสี่ยง 40% หากจะมีการเปลี่ยนแปลงจะรอดูผลตอบแทนปีนี้ก่อน หลังจากมีการตัดสินในวางยุทธศาสตร์ใหม่ จะมีรีเทิร์นกลับมาดีขึ้นไหม หากดีก็มีโอกาสเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นอีก 

และอีกอย่างการลงทุนที่อยู่ในประเทศไทยอย่างเดียว มีข้อจำกัดในการลงทุน เช่น หากกองทุนประกันสังคมเข้าลงทุนในหุ้นตัวไหนในสัดส่วนสูงเกินไป หุ้นตัวนั้นจะกลายเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจทันที ซึ่งหุ้นที่กองทุนประกันสังคมลงทุนมีกว่า 200-300 บริษัท แต่กองทุนประกันสังคมไม่สามารถเข้าไปถือหุ้นได้มาก ดังนั้น เฉลี่ยการถือหุ้นสัดส่วนประมาณ 5-30% เท่านั้น ดังนั้น ในปีนี้พอร์ตลงทุนหุ้นไทยอาจจะไม่ใส่เงินลงทุนเข้าไปเพิ่มแล้ว 

รวมทั้ง ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมยังมีแผนศึกษาการเข้าไปลงทุนใน “หุ้นขนาดเล็ก” ในตลาดหุ้นไทยอีกด้วย เนื่องจากมองว่าหุ้นเล็กในตลาดหุ้นไทยบางตัวเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เพียงแต่ไม่มีเงินทุนที่จะสร้างการเติบโตได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้กองทุนประกันสังคมจะมีแนวคิดดังกล่าว แต่การลงทุนก็ยังยึดกฎเกณฑ์การลงทุนเหมือนเดิมคือ ต้องผ่านคณะกรรมการลงทุนทุกฝ่าย และความเสี่ยงการลงทุนต้องไม่สูงมาก  

ดังนั้น เมื่อกองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นเข้ามาสูงขึ้น ก็ทำให้การจ่ายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

มีผู้เชี่ยวชาญพิจารณาก่อนลงทุน 80 คน 

ขณะที่ การเลือกสินทรัพย์การลงทุนของกองทุนประกันสังคม ทางกองทุนฯ มีคณะกรรมการลงทุน , อนุกรรมการเสี่ยง และอนุกรรมการนอกตลาด เป็นผู้พิจารณาซึ่งก่อนที่กองทุนฯ จะลงทุนจะมีเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุนนั้นๆ หลังจากนำเข้าที่ประชุมดังกล่าวเพื่อที่จะพิจารณาว่าควรจะลงทุนในบริษัทหรือหลักทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ 

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศนั้น กองทุนประกันสังคมมีรูปแบบการลงทุนทั้งลงทุนทางตรง (ลงทุนเอง) และลงทุนผ่านกองทุน ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนลงทุนส่วนใหญ่ กองทุนฯ จะลงทุนผ่านกองทุนเป็นหลัก ซึ่งนโยบายการลงทุนทั้งใน และต่างประเทศลงทุนในบริบทของหุ้นใน SET 50 หรือ SET 100 

สะท้อนจากกองทุนประกันสังคมมีทีมงานที่คอย “มอนิเตอร์” และวิเคราะห์เรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกประมาณ 80 คน โดยจะมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เรื่องการลงทุนทั้งที่เป็นนักวิเคราะห์ , กองทุน เป็นต้น ซึ่งเป็นพนักงาน และเป็นข้าราชการของกองทุนประกันสังคมบางส่วนด้วย 

สำหรับตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมไม่เคยลงทุนแล้ว “ขาดทุน” มีเพียงแค่ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ปรับตัว “ลดลง” ไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์ (หุ้น) หรือแม้แต่สินทรัพย์อื่น ๆ ที่มูลค่าปรับลดลง อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่หลังพ้นจากนั้นราคาหุ้นหรือมูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวก็ทยอยปรับตัวขึ้นมาเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิม 

ประกันสังคมลุย ‘ขุมทรัพย์ใหม่’ ขยายพอร์ตลงทุน \'สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น\'

ปรับพอร์ตซบหุ้นนอก หวังรีเทิร์นสูง

ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ณ วันที่ 30 ม.ค.2568 พบว่า ประกันสังคมเข้าไปลงทุนในหุ้น และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมจำนวน 90 หลักทรัพย์ โดยแบ่งลงทุนในหุ้น SET50 จำนวน 36 หลักทรัพย์ ซึ่งผลตอบแทนราคา 1 ปี ใน SET50 ที่ประกันสังคมเข้าไปลงทุน “ติดลบ” กว่า 24 หลักทรัพย์ 

โดย 10 อันดับแรกที่ “ติดลบมากสุด” ได้แก่ หุ้น TOP -52.73% หุ้น SCGP -45.63% หุ้น BGRIM -44.50% หุ้น SCC -41.82% หุ้น LH -39.35% หุ้น PTTGC -36.06% หุ้น GPSC -35.86% หุ้น OR -35.16% หุ้น BH -27.07% และหุ้น GLOBAL -26.62%

ขณะที่หุ้นใน SET50 ที่ให้ “ผลตอบแทน” เป็นบวกมี 12 หลักทรัพย์ และที่ให้ผลตอบสูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่ หุ้น GULF +36.57% หุ้น INTUCH +34.46% หุ้น KBANK +32.92% หุ้น ADVANC +30.59% หุ้น CPF +21.28% หุ้น SCB +20.67% หุ้น BBL +9.47% หุ้น CPALL +7.62% หุ้น MTC +3.51% และ หุ้น BTS +2.48%

ลงทุนนอกพอร์ตประกันสังคม “ยั่งยืน”

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมพอร์ตหุ้นไทยของประกันสังคม ปัจจุบันถือว่า ผลตอบแทนยังไม่ดีนัก จึงปรับเปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และถ้าสังเกตจะเห็นว่าประกันสังคมยังเพิ่มเงินสมทบด้วยในอัตราสูงสุด 17,500 บาท และเพิ่มเป็น 20,000 บาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และเพิ่มสูงสุดที่ 25,000 บาท จากเดิมอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้ประชาชน หรือคนที่อยู่ในระบบจ่ายเงินสมทบเข้าไปมากขึ้นเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เพราะหากลงทุนในหุ้นไทยเพียงอย่างเดียวยังไม่ได้ไปไหน จึงต้องมีการเข้าไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สามารถมีผลประโยชน์ชดเชยกับสิ่งที่จ่ายไปได้ ถือว่าเป็นวิธีการหาเงินของประกันสังคม เพื่อความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในอนาคต

ทั้งนี้ ทำให้ภาพรวมกองทุนประกันสังคมมีความยั่งยืน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราไม่สามารถอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ได้ หากประกันสังคมล่มจะทำให้ประชาชนแย่ไปด้วย ขณะที่ตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยดี มีเม็ดเงินไหลเข้าน้อยลง และถ้ารัฐบาลมุ่งทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้นตลาดหุ้นจะกลับมาดี ทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถจัดสรรเงินลงทุนใหม่ได้ เพราะหากมีโอกาสเข้ามาในระยะสั้นอาจกระทบ แต่ทว่ารัฐบาลมีการมุ่งเน้นทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น บริษัทจดทะเบียนมีการเจริญเติบโตได้ ส่วนตัวมองว่า จะมีเม็ดเงินอื่นเข้ามาได้

ประกันสังคมปรับพอร์ตเป็นลบต่อหุ้นไทย 

นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า การที่ประกันสังคมจะมีการปรับพอร์ตมองเป็นลบต่อตลาดหุ้น สัดส่วนที่เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้จะถูกกลืนจากตราสารทุนไปในระดับหนึ่งส่งผลให้สถาบันในประเทศเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้น้อยลง เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ไตรมาส 1 ปี 2568 หุ้นไทยยังคงขึ้นไปเป็นทรงไม่ได้

ขณะเดียวกัน หากประกันสังคมปรับพอร์ตไปยังหุ้นต่างประเทศมากขึ้น หรือเข้าไปลงทุนในหุ้นขนาดเล็กมากขึ้น มองว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งประกันสังคมอาจมองว่าการเติบโตของต่างประเทศดีกว่าหุ้นไทยขนาดใหญ่ เพราะหุ้นใหญ่ปัจจุบันเหลือไม่กี่กลุ่ม

ส่วนการที่ประกันสังคมจะเลือกเข้ามาลงทุนในหุ้นเล็ก เพราะมีการเติบโตดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ แต่ยังคงละเอียดอ่อน เพราะหุ้นเล็กของไทยมีประเด็นเฉพาะตัวเรื่องการวางหลักประกัน หรือ ESG ซึ่งการลงทุนหุ้นเล็กของประกันสังคมต้องคัดเลือกหุ้นที่ดี

ลงทุนหุ้นเล็ก ต้องดูถูกหลักการหรือไม่ 

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากที่กองทุนประกันสังคมมีการปรับพอร์ตจากหุ้นที่มีอยู่เดิม และไปลงทุนในหุ้นขนาดที่เล็กนั้นมองว่าจะถูกหลักการหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ต้องเป็นการลงทุนในหุ้นตัวเล็ก และเขยิบขึ้นมาหุ้นตัวใหญ่ ซึ่งมีผลจาก Governance หุ้นตัวใหญ่จะดีกว่าหุ้นตัวเล็ก 

ขณะที่ปัญหาของบ้านเราคือ เรื่อง Governance ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน เพราะผลประกอบการไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เนื่องจากจีดีพีค่อยๆ ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม อาจต้องรอดูหรือติดตามต่อไป เพราะอาจเป็นแนวทางของกระทรวงแรงงานที่อยากให้ประกันสังคมมีการปรับพอร์ต เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น ปัจจุบันการลงทุนในหุ้นไทยพอร์ตโดยรวมของประกันสังคมส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ และคาดว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการปรับพอร์ตมากนัก แต่ทว่าเงินประกันสังคมก้อนใหม่ใหม่ที่จะเข้ามา อาจจะไปลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นแทน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์