หุ้นกู้ไฮยีลด์สะเทือนตลาด ยอดออกดิ่ง 50% นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น - ระดมทุนยาก

หุ้นกู้ไฮยีลด์สะเทือนตลาด ยอดออกดิ่ง 50% นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น - ระดมทุนยาก

“ไทยบีเอ็มเอ” คาดแนวโน้มปี 2568 ยอดหุ้นกู้ใหม่ 8.5 - 9 แสนล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อน จับตา “หุ้นกู้ไฮยีลด์” เหตุปีก่อนยอดออกวูบ 50% เหตุนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น - เศรษฐกิจซบเซา ตลาดอยู่ในโหมดซึมลง พบบริษัทถูกดาวน์เกรดหุ้นกู้เพิ่มเป็น 46 บริษัทในปี 67

ภายใต้ตลาด “หุ้นกู้” หรือ ตราสารหนี้ ที่เป็นช่องทางในการเข้ามา “ระดมทุน” ของบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกการสร้างสภาพคล่องสนับสนุนธุรกิจ ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง แม้ยอดการออกหุ้นกู้ในปี 2567 จะลดลงมาอยู่ที่ 9.1 แสนล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ยอดออกหุ้นกู้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท

แต่การออกหุ้นกู้ก็ยังได้รับการยอมรับจากนักลงทุน และธุรกิจส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเครดิตเรตติ้งสูงๆ ยังคงโรลโอเวอร์ได้ต่อเนื่อง

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ในปี 2567 มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวไป 913,141 ล้านบาท ในปี 2568 คาดออกหุ้นกู้เท่ากับ 850,000-900,000 ล้านบาท 

ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ จะยังสามารถโรลโอเวอร์ หรือออกหุ้นกู้เพิ่มเติม เมื่อครบกำหนดหุ้นกู้เดิมได้ค่อนข้างมาก หรือมากกว่าเดิม สำหรับธุรกิจที่มีเรตติ้งเครดิตที่ดี หรือเรตติ้งค่อนข้างสูง

 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีบริษัทจำนวนหนึ่ง ที่กลับถูกปรับลดเครดิตหุ้นกู้ลง (Downgrade)ลง เช่น จากระดับ BBB+ เป็นต่ำกว่าระดับดังกล่าวหลายบริษัท โดยรวม บริษัทที่ถูกปรับลดเครดิตเพิ่มขึ้น 11 บริษัทเป็น 46 บริษัท จากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 35 บริษัทเท่านั้น เหล่านี้สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ ทำให้ธุรกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตาม อีกด้านก็พบว่า มี 13 บริษัท ที่ได้รับการปรับเครดิตเรตติ้งเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากดูทิศทางการออกหุ้นกู้ในช่วงปีที่ผ่านมาที่ลดลง หลักๆ มาจาก กลุ่มไฮยีลด์ (ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ) หรือเรตติ้งต่ำ ที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้ลดลงถึง 50% มาอยู่เพียง 5.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่กลุ่มไฮยีลด์ออกหุ้นกู้สูงถึง 1 แสนล้านบาท ต่างกับอินเวสเม้นท์เกรส ที่มูลค่าการออกหุ้นกู้ลดลงเพียง 10% เท่านั้น

ส่วนหนึ่งที่ การออกหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ปรับลดลงมาจากความระมัดระวังของนักลงทุน ในการเข้ามาซื้อหุ้นกู้ลดลง จากกระแสข่าวหุ้นกู้ต่างๆ รวมถึงหลายบริษัทมีการชะลอการออกหุ้นกู้ลดลง จากเซนทิเมนต์ตลาดที่ไม่เอื้อ และหลายบริษัท มีศักยภาพในการออกหุ้นกู้น้อยลง ทำให้ต้องกลับไปพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ แทน

โดยจากพบกระทบดังกล่าว พบว่า ทำให้ทั้งจำนวนการออกหุ้นกู้ต่อรายของบริษัทลดลงเช่นกัน รวมถึงระยะเวลาการออกหุ้นกู้ด้วย เช่น หากเป็นกลุ่มไฮยีลด์ จะเห็นว่ามูลค่าออกต่อรุ่นจะเหลือไม่ถึง 500 ล้านบาทต่อรุ่น และมีอายุเฉลี่ยลดลงเหลือ 2 ปีเท่านั้น จากปีที่ผ่านมา ที่การออกหุ้นกู้ต่อรุ่นอยู่ที่ 700 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 2.7 ปีต่อรุ่น

นอกจากนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดทั้งสิ้น 5 ราย คิดเป็นเงิน 3,172 ล้านบาท อาทิ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่อีก 4 บริษัทอยู่นอกตลาด

ทั้งนี้ ยังมีบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ขอเลื่อนการกำหนดชำระในปี 2567 สูงขึ้นเป็น 17 ราย เป็นบริษัทเดียวในจำนวน 5 รายดังกล่าวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เหลือเป็นบริษัทนอกตลาด ขณะเดียวกันหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระในปี 2567 มีมูลค่ารวม 37,963 ล้านบาท จากผู้ออก 17 ราย ในจำนวนนี้มี 12 บริษัทรายใหม่ที่เข้ามาในปีที่ผ่านมา โดยบางรายเป็นบริษัทขนาดเล็ก ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยบริษัทที่เลื่อนกำหนดชำระหุ้นกู้ อาทิ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ,บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) โดย EA มองว่าจะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 4 รุ่น โดยมูลค่ารวม 6,200 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณการผิดนัดชำระ และเชื่อว่า EA น่าจะมีรายได้ในการมาชำระคืนหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นได้ จากรายได้หลักจากการขายไฟฟ้า หลังจากมีการเลื่อนการชำระมาโดยเฉพาะ 2 รุ่นที่จะครบกำหนดในช่วงส.ค.นี้ โดยรุ่นแรกคือ เรตติ้งระดับ BBB+ มูลค่ารวม 700 ล้านบาท ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เป็นเจ้าหนี้ทั้งหมด และอีกรุ่นคือ มูลค่ารวม 5.5 พันล้านบาท ที่มีทั้งเจ้าหนี้มีทั้ง บลจ. และนักลงทุนทั่วไป

“เรายังไม่พบสัญญาณผิดนัด หรือสัญญาณผิดปกติ ที่นำมาสู่การชำระคืนไม่ได้ ดังนั้นคาดว่า EA จะยังมีรายได้มาชำระคืนผู้ถือหุ้นได้ ทั้งที่จะครบกำหนด 700 ล้านบาท และ 5.5 พันล้านบาท ในกลางๆ ปีนี้ เนื่องจากยังมีรายได้ที่ดีจากการขายไฟฟ้า แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์การชำระหนี้ต่อเนื่อง”

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์