ค่าเงินบาทวันนี้ 23 พ.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ หลังดอลลาร์แข็งค่า - กังวลดอกเบี้ยเฟด

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 พ.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ หลังดอลลาร์แข็งค่า - กังวลดอกเบี้ยเฟด

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 พ.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า” ที่ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามจังหวะดอลลาร์แข็งค่า กลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.35 - 3 6.30 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.50 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.33 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567) มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35 - 36.65 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันอังคารที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.26 - 36.51 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง (ล่าสุดตลาดให้โอกาสเฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ราว 51% ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่เคยสูงถึงเกือบ 70%) หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย 

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 พ.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ หลังดอลลาร์แข็งค่า - กังวลดอกเบี้ยเฟด

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณว่า ECB มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน หากแนวโน้มเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดหวัง ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์ก็ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 156.70 เยนต่อดอลลาร์ และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงที่ผ่านมา

ประกอบกับการย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาท (JPYTHB) ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวในช่วงราคาย่อตัวลง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบ และเงินเยนก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้เช่นกัน

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้เงินบาทหมดโอกาสที่จะกลับไปแข็งค่าขึ้นชัดเจนในระยะสั้น (สอดคล้องกับมุมมองที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า) และเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน (โซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์) อีกครั้ง โดยเงินบาทยังคงเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ ทั้งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ (อาจเหลือไม่มากแล้ว) โฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น และน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็ยังมีความผันผวน โดยเราเริ่มเห็นการทยอยขายหุ้นไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติออกมาบ้าง อย่างไรก็ดี เรามองว่า แรงขายหุ้นไทยอาจชะลอลงบ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาสดใสขึ้น จากรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้โดยรวม เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.65 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในอดีต เราพบว่า  ในกรณีที่รายงานดัชนี PMI สหรัฐ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ราว +0.15% และเงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ในกรณีที่รายงานดัชนี PMI ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง -0.16% ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ 36.40 - 36.65 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทแกว่งตัวแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงก่อนรับรู้ข้อมูลดังกล่าว

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia (ซึ่งผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด ทำให้ราคาหุ้น Nvidia พุ่งขึ้น +6% ในช่วง After Close) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.27% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อลง -0.34% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Total Energies -1.9% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ล่าสุด ที่ออกมาสูงกว่าคาดก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งภาพดังกล่าวก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรปบ้าง แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังได้แรงหนุนจากความหวังว่า ECB อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงเดือนมิถุนายน อีกทั้งหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยรวมปรับตัวขึ้นบ้าง ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของ Nvidia อาจออกมาดีกว่าคาด  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ยังคงแกว่งตัว sideways ในกรอบ 4.40% - 4.50% ทยอยปรับตัวขึ้น โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิต และการบริการ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐอาจผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาดีกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้ง ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเน้นรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของทั้งเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินยูโร (EUR) ที่ล่าสุดพลิกกลับมาอ่อนค่าลง จากการที่ประธาน ECB ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเป็นการเริ่มลดดอกเบี้ยที่เร็วกว่าเฟดพอสมควร ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.5 - 105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย และการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม และภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินโอกาสที่เฟดอาจยังสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ชะลอตัวลงมากขึ้น (ออกมาแย่กว่าคาด)

นอกจากนี้ ในฝั่งสหรัฐ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอลุ้นรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของตลาดแรงงานสหรัฐ มากขึ้น

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์