S&P ฟันธง คลื่น ‘ดีฟอลต์’ หุ้นกู้จีนอีกระลอก ส่อถล่มศก. โลกเร็วสุดปี 2568

S&P ฟันธง คลื่น ‘ดีฟอลต์’ หุ้นกู้จีนอีกระลอก ส่อถล่มศก. โลกเร็วสุดปี 2568

“เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์” เผย คลื่นการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จีนส่อถล่มเศรษฐกิจโลกอีกระลอกปีหน้า หลังนักวิเคราะห์เชื่อสาเหตุที่ช่วงนี้ผิดนัดชำระน้อยลงเพราะรัฐบาลคุมเข้ม

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานบทวิเคราะห์ของเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P Global Ratings) ที่เผยแพร่ในวันอังคารว่า เศรษฐกิจจีนที่อยู่ภายใต้การชี้นำของรัฐบาลอาจกำลังสร้าง “เงื่อนไข” สำหรับการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รอบใหม่ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในปีหน้า

รายงานนี้ระบุว่า เหตุการณ์ทั้งหมดอาจเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจครั้งที่ 3 ในรอบ 10 ปี  ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ปกติที่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้เพียงเล็กน้อย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

“สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องจับตาดูจริงๆ คือแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน กำลังสร้างแรงจูงใจที่บิดเบี้ยวในเศรษฐกิจหรือไม่” ชาร์ลส ชาง หัวหน้าฝ่ายจีน ของเอสแอนด์พีกล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันพุธ

โดยอัตราการผิดนัดชำระพันธบัตรของบริษัทในจีน ลดลงเหลือ 0.2% ในปี 2023 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี และต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ประมาณ 2.6% อย่างมาก

“ในระดับหนึ่ง นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะเราเห็นความแตกต่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากกลไกการทำงานของตลาด” ชางกล่าว “เราเห็นแนวทางหรือคำแนะนำจากรัฐบาลในปีที่ผ่านมาในการทำให้ไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดพันธบัตร

“คำถามก็คือ เมื่อคำแนะนำให้งดเว้นการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดพันธบัตร [สิ้นสุดลง] อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?” เขากล่าว  โดยแนะนำให้สังเกตว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูในปีหน้า

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน "แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่รุนแรง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิด

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของซีเอ็นบีซี ระบุว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัวลงหลังจากที่กรุงปักกิ่งดำเนินการเด็ดขาดกับการกู้ยืมหนี้สินของผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปริมาณมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยภาคส่วนดังกล่าวฉุดรั้งเศรษฐกิจอย่างมาก ท่ามกลางสถานะที่ยังไม่แสดงสัญญาณการฟื้นตัว"

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเอสแอนด์พียังชี้ว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นผู้นำในคลื่นการผิดนัดชำระหนี้ล่าสุดระหว่างปี 2020 ถึง 2024 ขณะที่ในปี 2015 ถึง 2019 เป็นบริษัทอุตสาหกรรมและบริษัทสินค้าโภคภัณฑ์

“ประเด็นที่ใหญ่กว่าสำหรับรัฐบาล คือตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถพยุงตัวได้หรือไม่ และราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวเป็นอย่างไรต่อไป” ชางกล่าว “ซึ่งอาจช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบต่อความมั่งคั่งบางส่วนที่เราเห็นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว”

ทรัพย์สินของครัวเรือนในจีนส่วนใหญ่ อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ มากกว่าสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ เช่น หุ้น"

ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

บทวิเคราะห์ของเอสแอนด์พี พบว่า เมื่อปีที่แล้ว อัตราการผิดนัดชำระพันธบัตรลดลงในเกือบทุกภาคส่วน ยกเว้นบริการด้านเทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภค และค้าปลีก

“นั่นสะท้อนถึงจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งเรากำลังเห็นอยู่ในขณะนี้” ชางกล่าว

เศรษฐกิจจีนเติบโต 5.2% เมื่อปีที่แล้ว และกรุงปักกิ่งตั้งเป้าหมายการเติบโตของ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ประมาณ 5% สำหรับปี 2024 บทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดการณ์ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าเป้าหมายนั้น โดยคาดว่าจะมีการชะลอตัวลงอีกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากการเติบโตแบบสองหลักในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะ หนี้เอกชน และหนี้แฝงจำนวนมากในจีน สร้างความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเงินระบบมานาน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สินของจีน ไม่เร่งด่วนเท่ากับความจำเป็นที่กรุงปักกิ่งจะต้องแก้ไขปัญหาอสังหาริมทรัพย์ใน “กลยุทธ์ที่ครอบคลุม” ที่กว้างขึ้น วิตอร์ กัสปาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการคลัง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (IMF) กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เขากล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่งของกลยุทธ์นี้ คือการที่จีนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการเติบโตของผลผลิต รวมถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างระบบสวัสดิการสังคม เพื่อให้ครัวเรือนมีความเต็มใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งยังคงต้องติดตามดูว่า ภาคส่วนอื่น ๆ จะสามารถชดเชยผลกระทบที่ภาคอสังหาริมทรัพย์มีต่อเศรษฐกิจ และกระตุ้นการเติบโตโดยรวมได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยูบีเอส (UBS) กลับปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนของดัชนี เอ็มเอสซีไอ (MSCI) ไปสู่ระดับ “Overweight” เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จีนที่แข็งแกร่งขึ้น และคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์

“หุ้นขนาดใหญ่ที่สุดในดัชนีจีนโดยทั่วไปมีผลกำไร/พื้นฐานที่ดี ดังนั้น ภาวะด้อยกว่าของจีนเกิดขึ้นจากการลดลงของมูลค่าเพียงอย่างเดียว” สุนิล ธีรุมาลัย หัวหน้านักกลยุทธ์หุ้น จีอีเอ็ม (GEM) ของยูบีเอสกล่าวในบันทึก

“สิ่งที่ทำให้เรามีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับผลกำไรในขณะนี้คือสัญญาณเบื้องต้นของการฟื้นตัวของการบริโภค” โดยธนาคารยังได้ปรับเพิ่มมุมมองต่อหุ้นฮ่องกงอีกด้วย

“การมองเห็นผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่สูงขึ้นนี้อาจเป็นประโยชน์หากตลาดโลกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ และในสถานการณ์ที่สูงขึ้นสำหรับการลงทุนระยะยาว เราจะคอยจับตาดูการปฏิรูปตลาดในลำดับต่อไป” เขากล่าวเสริม