‘ภากร’ หวังภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบ ดันศก.ฟื้น ดึงฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้า

‘ภากร’ หวังภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบ ดันศก.ฟื้น ดึงฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้า

ตลท. หวังภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน เรียกความ เชื่ิอมั่น หนุนธุรกิจกลับมาแข่งขันเพิ่ม เป็นจุดดึงตลาดหุ้นไทยฟื้น หนุนฟันด์โฟลด์ต่างชาติไหลเข้า

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมในเดือนมี.ค. ที่ปรับตัวลดลง 30.2% ถือว่ายังใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลมาจากต่างชาติกลับมาขายสุทธิ หลังนักลงทุนมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีการชะลอการลดดอกเบี้ยออกไป ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า และมีเงินลงทุนไหลออกจากตลาดทุน

อย่างไรก็ตาม มองว่าจากการเบิกจ่ายรัฐที่ออกมามากขึ้นหลังจากนี้ ที่น่าจะส่งผลให้นโยบายต่างๆ รวมถึงการบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น

 

 

เหล่านี้มีส่วนหนุนให้ธุรกิจกลับมาแข่งขันได้มากขึ้น ทำให้ปีนี้น่าจะเห็น turning point หรือจุดเปลี่ยนในตลาดหุ้นไทยได้ ดังนั้น คาดภาพตลาดหุ้นไทยปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา

“ปีที่แล้วเป็นปีที่เหนื่อยมาก แม้มองความเสี่ยงต่างๆ น่าจะน้อยลง แต่ก็มีความเสี่ยงใหม่ๆ มาเสมอ แต่ปีนี้ค่อนข้างเชื่อน่าจะเห็น turning point เพราะเป็นปีที่ภาครัฐใช้เงินค่อนข้างมากกว่าปีอื่น มีส่วนหนุนให้ธุรกิจกลับมาเข้มแข็ง แข่งขันได้มากขึ้น ดังนั้น หากไม่มีอะไรที่ผิดจากคาดหมายหุ้นไทยน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว”

ทั้งนี้ การที่จะเห็นเม็ดเงินต่างชาติ หรือฟันด์โฟลว์ กลับมาได้เชื่อว่าขึ้นอยู่กับทั้งภาวะเศรษฐกิจไทย อัตราดอกเบี้ย และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่จะดึงฟันด์โฟลว์ต่างชาติให้กลับมาได้

‘ภากร’ หวังภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบ ดันศก.ฟื้น ดึงฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้า นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในเดือนมีนาคม 2567 การประชุมสองสภาของจีนได้ตั้งเป้าการเติบโต GDP ในปี 2567 อยู่ที่ 5% อีกทั้งทางการจีนเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน มี.ค. เพิ่มเป็น 50.8จากระดับ 49.1 ในเดือน ก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงหลังยกเลิกมาตรการคุมเข้ม Covid-19 ซึ่งการกลับมาเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะยิ่งสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าและบริการของไทย

รวมถึงการบริโภคภายในประเทศให้ฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น โดยนักวิเคราะห์เริ่มปรับประมาณการกำไรของบริษัทในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ราคาหลักทรัพย์กลุ่มดังกล่าวให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

• ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,377.94จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปรับลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า

• ในเดือนมีนาคม 2567 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ กลุ่มการเงิน และ กลุ่มทรัพยากร

• ในเดือนมีนาคม 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 42,782 ล้านบาท ลดลง 30.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหลังจากซื้อสุทธิในเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมีนาคม 2567ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 41,238 ล้านบาท ทำให้ใน 3 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 68,862 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23

• ในเดือนมีนาคม 2567 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น (BKGI) 

• Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.7 เท่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า

• อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567อยู่ที่ระดับ 3.30% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.23%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

• ในเดือนมีนาคม 2567 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 499,897สัญญา เพิ่มขึ้น 26.9% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในไตรมาส 1/2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 432,895 สัญญา ลดลง 27.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures