จับตากนง.หั่นดอกเบี้ย กดดัน‘เงินบาท’อ่อนค่า

จับตากนง.หั่นดอกเบี้ย  กดดัน‘เงินบาท’อ่อนค่า

“เงินบาท” ทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบ 6 เดือนครั้งใหม่ที่ระดับ 36.81 บาทต่อดอลลาร์ รอผลประชุมกนง. 10 เม.ย. 67 “กรุงศรี” คาดคงดอกเบี้ย มองเงินบาททรงตัว หากหั่นดดอกเบี้ย นำเฟดกดดันบาทอ่อนค่าต่อ แต่สิ้นปีนี้พลิกแข็งค่าแตะ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” คาดกนง. ยังคงดอกเบี้ยรอบนี้

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา “เงินบาท” ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครั้งใหม่ที่ระดับ 36.81 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก และการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาค ตรงข้ามกับ “สกุลเงินดอลลาร์” ที่มีการฟื้นตัวขึ้นประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมบางส่วนจากแรงซื้อในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน

ข้ามมาที่ประเทศไทยทุกฝ่ายกำลังจับจ้องไปที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 เม.ย. 2567 ว่า คณะกรรมการกนง. ตัดสินใจอย่างไรจะ “ลด” หรือ “คง” ดอกเบี้ย โดยผลการสื่อสารของ กนง. ที่จะออกมานั้นถือว่ามีความ “สำคัญและมีความท้าทายอย่างมาก”

โดยที่ผ่านมาตลาดเริ่มประเมินแนวโน้มโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปีนี้แล้ว สอดคล้องไปกับประมาณการของเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะออกมาอ่อนแอลงในรอบนี้ด้วย ดังนั้น หาก กนง. “คง” หรือ “ลด” ดอกเบี้ยรอบนี้ ไม่ว่าจะในทิศทางใดจะส่งผลทิศทางของ “ค่าเงินบาท” อย่างแน่นอน  

คาด กนง. ลดดอกเบี้ย ‘เงินบาท’ อ่อน 

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากในกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 เม.ย. 2567 กนง. ตัดสินใจดำเนินนโยบาย “คงดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ระดับ 2.50% มองว่า “ค่าเงินบาทจะทรงตัวและมีผลกระทบจำกัด” แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูสัญญาณว่า กนง. ปรับโทนการสื่อสารเพื่อเตรียมลดดอกเบี้ยในรอบต่อไปด้วยหรือไม่

แต่หาก กนง. ตัดสินใจปรับ “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” จากระดับ 2.50% เป็นระดับ 2.25% คาดว่า “ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง” โดยแม้ว่าตลาดจะคาดไว้แล้วว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ แต่หากช่วยเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก จะส่งผลให้กระแสเงินทุนมีโอกาสไหลออกต่อเนื่อง

สำหรับ แนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2567 คาดว่า เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากการโอนเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนกลับต่างประเทศตามฤดูกาล อีกทั้ง ราคาทองคำที่พุ่งไม่หยุดอาจเพิ่มความต้องการนำเข้าเพื่อเก็งกำไรแทนที่จะขาย (ส่งออก)

ทั้งนี้ สำหรับช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ มองเงินบาทแนวโน้มกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย โดยให้กรอบค่าเงินบาทในช่วงปลายปีนี้อยู่ที่ 34.75-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมีปัจจัยชี้นำสำคัญคือ การลดดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากเฟดมีพื้นที่ให้ลดดอกเบี้ยลงได้มากกว่าของไทย และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

จับตากนง.หั่นดอกเบี้ย  กดดัน‘เงินบาท’อ่อนค่า

‘กรุงไทย’ คาด กนง. คงดอกเบี้ยระดับ 2.50%  

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ประเมินว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กนง. รอบนี้ จะยัง “คงดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ระดับ 2.50% ก่อน (ผลโหวตอาจเป็นมติ 4-3 ให้คงอัตราดอกเบี้ย หรือ 4-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ย โดยมีคณะกรรมการ 1 ท่านอาจลาประชุม)

แต่อาจจะเริ่มมีการส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงได้บ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวลดลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม (Neutral rate) อาจลดลงจากที่ กนง. เคยประเมินไว้ได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนเม.ย. นี้ เร็วกว่าที่เราประเมินไว้แต่ตราบใดที่ กนง. ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจน ว่า จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม มากกว่า 2 ครั้ง ในวัฏจักรดอกเบี้ยรอบนี้ เราคาดว่าผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะค่าเงินบาทอาจมีไม่มากนัก 

แต่หาก กนง. ได้ส่งสัญญาณที่ทำให้เชื่อได้ว่า อาจมีการลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง หรือมากกว่าในรอบนี้ ก็อาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนและเงินบาทอ่อนค่าลงต่อได้

ในทางกลับกัน หาก กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด พร้อมส่งสัญญาณว่า อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยในปีนี้ ก็จะช่วยหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง

ปลายปีนี้คาด ‘เงินบาท’ แข็งค่าขึ้น 

นายพูน กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทระยะสั้น จนไปถึงช่วงการประชุมเฟดเดือนมิ.ย. 2567 มองว่าทิศทางเงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยมองว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวต้านแถว 37-37.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยคาดว่าจุดอ่อนค่าสุดในปีนี้ก็ไม่น่าจะเกินระดับดังกล่าว และเมื่อเฟดเริ่มทยอยลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม มองว่า เงินบาทก็มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34.50-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายปีนี้ได้ ซึ่งในช่วงก่อน และหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ต้องระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินที่อาจอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มเงินบาทในระยะสั้นก็อาจขึ้นกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน