จับสัญญาณท่องเที่ยวปี 2567… เมื่ออนาคตการท่องเที่ยวไทยเริ่มถึงจุดอิ่มตัว

จับสัญญาณท่องเที่ยวปี 2567… เมื่ออนาคตการท่องเที่ยวไทยเริ่มถึงจุดอิ่มตัว

ปี 2567 รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นพระเอกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีอยู่ที่ 33.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบจากปีก่อน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อย โดยในปี 2562 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเคยทำสถิติสูงสุดที่ประมาณ 40 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.93 ล้านล้านบาท แต่ในปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 6.7 ล้านคน สร้างรายได้เพียง 3.3 แสนล้านบาท เท่ากับว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนั้นหายไป 83% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ ในปี 2566 ภาพรวมการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจำนวน 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 154% เมื่อเทียบกับปี 2565 หรือฟื้นตัวได้ราว 71% และเมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 ที่มีการฟื้นตัวใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน (เวียดนามและสิงคโปร์ 70%) ด้วยอานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน ยุโรป อินเดีย และรัสเซียที่ฟื้นตัวกลับมาได้ดี สวนทางกับนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มหลักฟื้นตัวได้ช้า ด้านมิติของรายได้ที่มาจากทั้งนอกเที่ยวไทยและไทยเที่ยวไทยก็ฟื้นตัวได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดเมืองรอง ขณะที่จังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักฟื้นตัวประมาณ 60-80% ส่วนอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ของธุรกิจโรงแรมโดยเฉลี่ยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่เกือบ 70% ใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

สำหรับปี 2567 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะยังเป็นพระเอกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะอยู่ที่ 33.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบจากปีก่อน หากลองนึกดูว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติทุก 1 ล้านคน จะเกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท หรือราว ๆ 0.2-0.3% ของจีดีพี นั่นหมายความว่า หากประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 5 ล้านคน ก็จะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นนั้นช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ถึง 1-1.5% ของจีดีพีเลยทีเดียว

ทว่า การพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างสูงประมาณ 12% ของจีดีพี ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางสูงเช่นกัน อย่างแรกเลย ไทยพึ่งพาตลาดบางกลุ่มค่อนข้างสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งคิดเป็น 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด รองลงมาคือ มาเลเซีย 11% และอินเดีย 5% ทำให้ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 3 ชาติหลักมีสัดส่วนรวมสูงถึง 44% ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ๆ อย่างมัลดีฟส์และกาตาร์ที่สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาจาก 3 ชาติรวมกันเพียง 35% และ 30% ตามลำดับ ทำให้เมื่อจีนเจอประเด็นด้านเศรษฐกิจและปัจจัยภายในประเทศ รวมถึงการตั้งเงื่อนไขในการอนุมัติหนังสือเดินทางของชาวจีนที่มีความยุ่งยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนหน้าใหม่ (First-time Outbound Traveler) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่ออกเดินทางเยือนประเทศไทย จึงไม่แปลกที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่จากการพึ่งพากำลังซื้อจากชาวจีนมากเกินไป

นอกจากนี้ ไทยยังขาดศักยภาพในการดึงเม็ดเงินจากกลุ่มกำลังซื้อสูง โดยรายได้จากการท่องเที่ยว (Tourism Receipt) ของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ฟื้นตัวได้เพียง 62% เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ฟื้นตัวได้ในระดับ 80-90% อีกทั้งยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียงอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวระดับ 121% และ 102% ยิ่งกว่านั้น การใช้จ่ายที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อทริป (Spending per Head) ของไทยยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเคยอยู่ที่ 4.8 หมื่นบาทในปี 2562 เหลือเพียง 4.3 หมื่นบาทในปี 2566 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่นักท่องเที่ยวฝั่งอาเซียนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่สูงนักประมาณ 3-4 พันบาทต่อคนต่อทริป มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2562 เป็น 35% ในปี 2566 ที่สำคัญ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย โดยเกือบ 25% ของการใช้จ่ายมาจากค่าอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่เม็ดเงินที่มาจากการชอปปิงซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มสูงกลับมีสัดส่วนเพียง 19% ของการใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อเทียบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่มากกว่า 1 ใน 4 เป็นการใช้จ่ายเพื่อการชอปปิง ซึ่งมีส่วนทำให้ค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปของทั้งสองประเทศสูงถึง 6.6 หมื่นบาท และ 5.3 หมื่นบาท ตามลำดับ กล่าวเป็นนัยคือ ศักยภาพในการดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทำได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศฝั่งเอเชียด้วยกัน 

ยิ่งกว่านั้น การกระจายตัวของรายได้กำลังเผชิญข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากประเด็นเรื่องความล่าช้าในการกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างไทยและเมืองเป้าหมายหลัก รวมถึงข้อจำกัดจากขีดความสามารถในการรองรับจำนวนเที่ยวบินของสนามบินไทยจากการปิดปรับปรุงพื้นที่สนามบินบางแห่ง ซึ่งทำให้ไทยต้องเผชิญปัญหาเที่ยวบินล่าช้าและยังไม่สามารถรับเที่ยวบินเพิ่มได้ในระยะสั้นแล้ว ประเด็นเรื่องข้อจำกัดของระบบขนส่งสาธารณะที่ยังกระจุกอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 80% กระจุกอยู่ในเมืองหลักเพียง 22 จังหวัด สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐที่ลงไปยังพื้นที่เมืองหลักสูงอย่างมีนัย แน่นอนว่า หากโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งสาธารณะยังไม่กระจายทั่วถึงในทุกพื้นที่ การสร้างการกระจายรายได้และการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวของไทยอย่างยั่งยืนก็คงจะไม่ง่ายนัก

ต้องยอมรับว่าที่การท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา เกิดจากการฟื้นตัวช่วงหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 หากแต่การท่องเที่ยวของไทยนับจากนี้จะมีแนวโน้มเติบโตได้ช้าลงเรื่อย ๆ และเข้าสู่จุดอิ่มตัวที่สุดแล้ว เราจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การวางรากฐานในวงกว้าง เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง การบูรณาการแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ และการคำนึงถึงการอนุรักษ์และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness) ซึ่งได้รับความนิยมและสร้างชื่อเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติอื่น ๆ