ThaiBMA เผยยอดออกหุ้นกู้ไตรมาส1/67 วูบ 24% เหตุบ.ใหญ่หันระดมทุนแหล่งอื่น

ThaiBMA เผยยอดออกหุ้นกู้ไตรมาส1/67 วูบ 24% เหตุบ.ใหญ่หันระดมทุนแหล่งอื่น

สมาคมตลาดตราสารหนี้ฯ เผยไตรมาส 1/67 ยอดออกหุ้นกู้ 2.7แสนล้านบาท หดตัว 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง บริษัทใหญ่หันระดมทุนช่องทางอื่นต้นทุนถูกกว่าตามภาวะตลาด แต่กว่า 93% เป็นกลุ่ม Investment grade ด้านมูลค่าคงค้าง 17 ล้านล้านขยายตัว 3% จากสิ้นปีก่อน

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17ล้านล้านบาท ขยายตัว 3%จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและ ธปท.เป็นหลัก ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 207,126 ล้านบาท ลดลง  24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สาเหตุจากบริษัทขนาดใหญ่ เรตติ้งA  ยังมีเงินสดในมือค่อนข้างมาก  และหากแหล่งระดมเงินในช่องทางอื่น เช่น  ยังมีวงเงินกู้แบงก์เหลืออยู่ ที่ยังมีต้นทุนดอกเบี้ยถูกกว่าออกหุ้นกู้ แม้จะมีแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ย แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เห็นกลุ่มนี้ชะลอการออกหุ้นกู้ระยะยาว รอดอกเบี้ยปรับลดลง ก่อน

"เรามองว่า การปรับลดลงสมเหตุสมผลกับการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับภาวะตลาด และ หุ้นกู้ที่ออกส่วนใหญ่กว่า 93% อยู่ในกลุ่ม Investment gradeกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ และอาหารและเครื่องดื่ม  อีกทั้งเชื่อว่า เมื่อดอกเบี้ยลดลงแล้ว จะกลับมาสนับสนุนตลาดหุ้นกู้ ดังนั้นเรายังคงยอดออกหุ้นกู้ปีนี้ไว้ที่ 900,000 ล้านบาท ถึง1 ล้านล้านบาท ตามเป้าหมายเดิม"

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yieldcurve) ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีการปรับตัวลดลงในรุ่นอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยBond yield รุ่นอายุ 2 ปี ปรับลดลง 19 bps. 5 ปี ลดลง 21 bps. และ 10 ปี ลดลง 19 bps. จากสิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ 2.15% 2.24% และ 2.51% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 

อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2567 อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ5 ปี กลุ่มอันดับเครดิต AAA ถึง A ปรับลดลง 15-21 bps. จากสิ้นปี 2566 โดยอันดับเครดิต AAA ปรับลงมาอยู่ที่ 2.90% AA ที่ 3.17% และ A ที่ 3.44% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 ขณะที่หุ้นกู้อันดับเครดิต BBB+ และ BBB มีการปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.68% และ 5.46% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรม Flight to quality ของผู้ลงทุนที่มีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow)ของนักลงทุนต่างชาติในไตรมาส 1 ของปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 34,305 ล้านบาท ทำให้มีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1

ปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 5.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.8 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปี เมื่อสิ้นปี 2566

นายสมจินต์ กล่าวถึง ผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2567 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้ง รวม 0.5% ในปี 2567

โดยมีโอกาสสูงที่ กนง.จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนนี้

สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าในปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี อาจปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5-10 bps. จากสิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 

มาอยู่ที่ 2.13% และ 2.44% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อ Bond yield ในอนาคตคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และสภาวะเศรษฐกิจของไทย