จับตาทิศทางดอกเบี้ยในประเทศอย่างมีนัย

จับตาทิศทางดอกเบี้ยในประเทศอย่างมีนัย

พอร์ตการลงทุน ในเดือนเมษายนผมยังคงให้น้ำหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงรอความชัดเจน แต่ทั้งหมดนี้ก็จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ พอร์ตการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงมีมุมมองที่เป็นระยะยาว

ไตรมาสแรกของตลาดหุ้นไทย โดยภาพสรุปภาวะการลงทุนไม่ว่าจะเป็น หุ้น หรือ ตราสารหนี้ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวแบบมีนัยมากนัก นักลงทุนต่างชาติ ยังคงเดินหน้าขายทุกสินทรัพย์ออกอย่างหนัก ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อมาจนถึงตอนนี้ โดยหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ถูกขายมากที่สุดสาเหตุอาจมาจาก 2 ปัจจัยคือ การอ่อนค่าของค่าเงินบาท หรือ การแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งค่า แต่ถ้าตามตรรกะแล้วเงินลงทุนก็มักจะวิ่งไปหาที่ที่มีโอกาศเติบโตสูงหรือมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าที่เดิมครับ 

สำหรับ SET Index ของเดือนมีนาคม แกว่งตัว Sideways กรอบแคบ โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดัชนีมีลุ้นทดสอบระดับ 1400 จุด แต่ปรากฏว่าด้วยระดับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นมาอย่างมากในเดือนมีนาคม (ส่วนหนึ่งจากการอ่อนค่าของเงินเยนภายหลังการประชุม BoJ) ทำให้ ดัชนี SET ไม่สามารถไปได้ต่อ ส่วนปัจจัยสำคัญในเดือนมีนาคม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC รอบล่าสุด Fed ปรับเพิ่มประมาณ GDP ปีนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 2.1% สะท้อนมุมมองของ Fed ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงถัดไปที่ดีขึ้น และอาจยังไม่ได้มองถึงการปรับตัว Soft landing ด้วยซ้ำ นอกจากนั้น ค่ากลาง Dot plots ปีนี้ที่ยังคงเดิมอยู่ที่ระดับ 4.50-4.75% บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของการลดดอกเบี้ย

ทั้งหมด 3 ครั้งหรือ 0.75% ในปีนี้ตามเดิม ตามมาด้วยประเด็นสำคัญที่สุดในเดือนนี้คือผลการประชุม BoJ ที่มีมติให้ยุติการใช้มาตรการ Yield Curve Control (YCC), ยุติโครงการการเข้าซื้อ ETF/JREITs และยกเลิกการใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบติดลบ หลังการประชุม พบค่าเงิน JPY อ่อนค่าทันที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ BoJ ไม่ได้มีการพูดถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในช่วงถัดไป กลับมาที่บ้านเราครับ ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยปีนี้สิ้นสุดวันที่ 17 มีนาคม มีการเดินทางเข้ามาแล้ว 8.07 ล้านราย 

โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 1.5 ล้านราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการฟรี-วีซ่าระหว่างไทยจีนที่เริ่มต้นขึ้น ทั้งนี้ มียอดรายรับจากนักท่องเที่ยวล่าสุดอยู่ที่ 390.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นยอดเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 48,000 บาทต่อทริป ยอดการส่งออกไทยในเดือนก.พ. ถือว่ามีสัญญาณไม่ดีนัก โดยขยายตัวได้เพียง 3.6% แม้จะมีผลของฐานต่ำในปีก่อน โดยตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 4.2% 

สำหรับภาวะการลงทุนในเดือนเมษายน ตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวออกด้านข้างต่อไป ท่ามกลางวอลุ่มการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลหยุดยาว ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ ยังคงผันผวนไปมาโดยมีปัจจัยสำคัญคือการประชุม กนง.ที่รออยู่ในวันที่ 10 เมษายน สำหรับการขึ้นทูลเกล้าร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท มองการออกกฎหมายฉบับนี้จะทำให้การเบิกจ่ายภาครัฐเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสที่ 2 นี้ เป็นบวกต่อภาพเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยสำคัญในเดือน เมษายน คือ การประชุม กนง.ในวันที่ 10 เมษายน คาดว่า กนง.จะมีมติคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ต่อไป แต่จำนวนเสียงที่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะมีสูงขึ้น สอดคล้องไปกับประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะออกมาอ่อนแอลงในรอบนี้ 

ทั้งนี้ หาก กนง. มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้ทันที น่าจะเป็นผลลบต่อตลาดหุ้นไทย อันเนื่องมาจากเงินทุนจะไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มากขึ้นและเร็วขึ้น ทั้งนี้อาจจะทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสปรับตัวอ่อนค่าลงจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างมากขึ้น ส่วนการประชุม FOMC ในวันที่ 30 เมษายนต่อเนื่องถึงวันที่ 1 พฤษภาคม คาดว่า Fed จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแต่อย่างใด

พอร์ตการลงทุน ในเดือนเมษายนผมยังคงให้น้ำหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงรอความชัดเจน แต่ทั้งหมดนี้ก็จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ พอร์ตการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงมีมุมมองที่เป็นระยะยาว 

ดังนั้น การจัดพอร์ตในรอบนี้ก็จะยังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยและต่างประเทศ 50% จัดเป็น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมกันไม่เกิน 25% ญี่ปุ่น และ เวียดนาม รวมกันไม่เกิน 15% ประเทศไทย 10% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% ตลาดเงิน 10% ลงทุนใน ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันเป็น 10% โดยยังคงเน้นไปที่ REIT