‘เศรษฐพุฒิ’ ปัดเศรษฐกิจไทยวิกฤติ กนง.ห่วงลดดอกเบี้ยยิ่งกระตุ้นหนี้เพิ่ม

‘เศรษฐพุฒิ’ ปัดเศรษฐกิจไทยวิกฤติ กนง.ห่วงลดดอกเบี้ยยิ่งกระตุ้นหนี้เพิ่ม

“เศรษฐพุฒิ” ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ระบุ ธปท. “ไม่ได้ดันทุรัง” เรื่องอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่สูงสุดในรอบทศวรรษ เผยปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาตามวัฏจักรที่กระทบเศรษฐกิจไทย ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการกลับลำนโยบายการเงิน ด้าน “กนง.” ชี้ลดดอกเบี้ย เพิ่มแรงส่งต่อเศรษฐกิจไม่มาก ห่วงยิ่งลดดอกเบี้ยยิ่งกระตุ้นสร้างหนี้เพิ่ม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ นิกเคอิเอเชีย เมื่อวันพุธ (21 ก.พ.67) ว่า ธปท. “ไม่ได้ดันทุรัง” เรื่องอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่สูงสุดในรอบทศวรรษ แต่ขอให้ดูเบื้องหลังของตัวเลขล่าสุดที่ชี้ว่า เศรษฐกิจเติบโตซบเซา และเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% ผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากงบประมาณปี 2567 ต้องล่าช้าเพราะการเมืองตกลงกันไม่ได้ 

“ถ้าเราลดดอกเบี้ย ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลกระจายงบประมาณเร็วขึ้น นี่คือ 3 ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจชะลอตัว” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นิกเคอิรายงานว่า แรงกดดันทางการเมืองกำลังประเดประดังเข้าใส่ ธปท. เมื่อเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน เป็นผลจากรัฐบาลอุดหนุนราคาพลังงาน รายได้จากท่องเที่ยวอ่อนแอ ส่งออกหดตัว แต่ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 7 ก.พ.67 ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ไม่ฟังเสียงเรียกร้องลดดอกเบี้ยจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายกฯ เรียกร้องอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (19 ก.พ.67) หลังตัวเลขจีดีพีไทยอ่อนแอ ขอให้ ธปท. จัดประชุมฉุกเฉินก่อนการประชุมปกติรอบหน้าในวันที่ 10 เม.ย.67

ยัน ศก.ไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ

ในประเด็นนี้ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับนายกรัฐมนตรีที่ควบตำแหน่ง รมว.คลังด้วย เป็นไปแบบ “มืออาชีพ” และ “จริงใจ” แต่ปฏิเสธว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะ “วิกฤติ” อย่างที่นายกฯ เศรษฐาชี้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจซบเซาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติแล้ว เพื่อผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ถือเป็นนโยบายระดับซิกเนเจอร์ของเขา

“การฟื้นตัวอ่อนแอ แต่ก็ฟื้น และกำลังฟื้นต่อ” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติย้ำ 

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติที่รัฐบาลมีต่อ ธปท. ก่อให้เกิดความกังวลถึงความเป็นอิสระของ ธปท. ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นายเศรษฐพุฒิ จะหมดวาระในปี 2568 และไม่ได้ต่ออายุเนื่องจากเกษียณพอดี

“ความตึงเครียดอย่างสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติมีอยู่เสมอ เพราะเราสวมหมวกคนละใบ ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะทำงานร่วมกันไม่ได้ คุณแค่ต้องเข้าใจว่าเราแสดงบทบาทแตกต่างกันตามกฎหมาย”

ก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติเคยทัดทานเสียงเรียกร้องให้ยอมถอยเรื่องนโยบายดอกเบี้ย โดยชี้ถึงเสียงวิจารณ์ที่ว่าแบงก์ชาติตามไม่ทันเทรนด์โลกที่เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2565

“เราบอกว่าไม่ นั่นไม่เหมาะสมกับไทย เพราะการฟื้นตัวของเรายังช้ากว่าประเทศอื่นๆ”

สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน ประกอบด้วยบุคคลภายนอกสี่คน มีคนจาก ธปท.เพียง 3 คน นายเศรษฐพุฒิ ระบุ “ไม่ใช่สถานการณ์ที่คิดตรงกันทั้งหมด”

การประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ.67 สมาชิก 2 คนเห็นชอบลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า สมาชิกเสียงข้างน้อยเหล่านี้ “กังวลว่าแรงต้านเชิงโครงสร้างรุนแรงมาก จึงอาจสมเหตุสมผลถ้าปรับดอกเบี้ยนโยบายให้ใกล้กับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นภาวะปกติใหม่”

นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมานาน เช่น ประชากร และผลิตภาพแรงงานลด คณะกรรมการยังเห็นเหตุผลที่ควรกังวลกับการที่ไทยพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยวมากเกินไป ซึ่งการท่องเที่ยวว่าจ้างแรงงานไทยราว 1 ใน 5 และคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของจีดีพี

“สิ่งที่เราเห็นคือ จีนใช้วิธีผลิตทดแทนนำเข้า นั่นไม่ได้สะท้อนแค่ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่วัฏจักรความอ่อนแอ แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่จีนกำลังผลิตสินค้ามากขึ้นแล้วไม่นำเข้า”

การที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยสั้นลงใช้จ่ายน้อยลงเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล นายเศรษฐพุฒิไม่แน่ใจว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 40 ล้านคนเหมือนอย่างที่เคยทำได้ในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

“ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดผลจากโควิด มันออกจะเสี่ยงถ้าไปทึกทักว่าทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิมโดยอัตโนมัติ คุณต้องทำอะไรสักอย่างถ้าอยากได้ตัวเลขนั้น”

ส่วนการที่นายกฯเศรษฐา บอกว่า จะไม่แทรกแซงแบงก์ชาติ แต่จะเดินหน้าชักจูงให้แบงก์ชาติ “เห็นใจประชาชนผู้กำลังเดือดร้อน”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวกับนิกเคอิ “พวกเขากำลังลำบากอย่างมากเมื่อรายได้เพิ่มไม่เร็วอย่างที่เราต้องการ แต่เรารู้สึกว่า วิธีการที่ดีกว่าเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นคือ ต้องทำผ่านมาตรการที่มีเป้าหมาย มันไม่เหมาะสมที่จะให้ทุกคนใช้เครื่องช่วยชีวิตต่อไป”

ผู้ว่าฯ ยอมรับว่า ดอกเบี้ยสูงกระทบกับผู้กู้ แต่การลดดอกเบี้ยก่อนเวลาอันสมควรก็เสี่ยงกับเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงสูงเกิน 90% ของจีดีพี

“ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นเวลานานมาก กระตุ้นให้ผู้คนกู้ยืม และถ้าดอกเบี้ยลดลงอีก ผมว่าจะเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ในการแก้หนี้ครัวเรือนด้วยวิธีที่ยั่งยืนมากขึ้น” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวทิ้งท้าย

กนง. แจง 4 เหตุผล “คงดอกเบี้ย”

สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ และ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา กนง.โดยคณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50%

คณะกรรมการ ส่วนใหญ่เห็นว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ (neutral interest rate) จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยการรักษา เสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสําคัญ โดยเห็นว่า

(1) เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลง และผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

(2) การลดอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มแรงส่งต่อเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก ในบริบทที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง และไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทําให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้ policy space ที่มีจํากัดอย่างไม่คุ้มค่า

(3) ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจมีนัยต่อ neutral interest rate ขึ้นกับศักยภาพ การขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบดังกล่าวประเมินว่ามีไม่มาก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ความชัดเจนมากขึ้น

(4) ต้นทุนการดําเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เกินไป คือ การกระตุ้นสร้างหนี้ใหม่ให้ระบบเศรษฐกิจที่ปัจจุบันอยู่ในที่ระดับสูงมากอยู่แล้ว และอาจทําให้กระบวนการลดหนี้ (deleveraging) ที่กําลังคืบหน้าหยุดชะงัก นอกจากนี้ อาจเพิ่มพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่เสี่ยงมากขึ้น (search for yield) ลดทอนแรงจูงใจการพัฒนาด้านศักยภาพการ ผลิต ส่งผลลบต่อประสิทธิภาพจัดสรรทรัพยากรรวมทั้งเพิ่มการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ คณะกรรมการมองว่า ภาวการณ์เงินปัจจุบัน ไม่เป็นข้อจํากัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม สะท้อนจากธุรกิจภาพรวมยังชําระหนี้ได้ตามปกติ บวกกับสินเชื่อปล่อยใหม่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกําหนดไถ่ถอน (rollover) ได้ไม่เต็มจํานวน ที่มาจากปัจจัยเฉพาะของ บริษัท และไม่ได้มีปัญหาเชิงระบบ

อย่างไรก็ดี กรรมการฯ มีความยืดหยุ่น และพร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากพัฒนาการ เศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสําคัญ

ขณะที่ กรรมการฯ 2 ท่าน ที่เห็นควรให้ลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเห็นว่า (1) ระดับ neutral interest rate อาจต่ำกว่าที่ประเมินอย่างมีนัย จากศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุนแรง และชัดเจน

(2) การผ่อนคลาย ภาวะการเงินลงระดับหนึ่ง แม้อาจไม่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากนักในระยะสั้น แต่เป็น การลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอลงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า 

โดยเฉพาะหากภาคการส่งออกและการ ผลิตฟื้นตัวช้ามากกว่าที่คาด จนส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการจ้างงาน ซึ่งมีนัยสําคัญต่อความยั่งยืนในการ ขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนการดําเนินนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปี 2567 จากการชะลอลงในภาคส่งออกและการผลิต ผลจากอุปสงค์โลก และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศที่เป็นเครื่องยนต์หลักยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอโดยราคา สินค้าที่ปรับลดลงมากจํากัดอยู่ในบางกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเฉพาะด้านอุปทาน และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง ล่าสุดมีเพียง 25% ของรายการสินค้า และบริการในตะกร้าเงินเฟ้อทั่วไปที่ราคาปรับลดลง ขณะที่เงินเฟ้อในระยะปานกลาง ยังทรงตัว

 

อ้างอิง: Nikkei

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์