ธปท. บนเวทีโลก ในสายตา ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’

ธปท. บนเวทีโลก ในสายตา ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’

พระสยาม BOT MAGAZINE เปิดมุมมอง ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าฯ ธปท. สำหรับบทบาทของ ธปท. บนเวทีโลก เพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ และวิถีการทำงานของ ธปท. ได้มากขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความผันผวน และความเปลี่ยนแปลงของโลกนับเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึง
มากที่สุดในด้านเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศเป็นผู้หนึ่งที่มีคนนำบทวิเคราะห์ และความเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย และแนวนโยบายของ ธปท. ในภาพใหญ่ไปอ้างอิงเป็นการทั่วไป แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่ผู้ว่าการจะพูดถึงแนวทางการดำเนินงานด้านต่างประเทศของ ธปท. 

ล่าสุด พระสยาม BOT MAGAZINE ได้เปิด บทสัมภาษณ์พิเศษ 'เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้เห็นถึง แนวทางการทำงาน และยุทธศาสตร์ของ ธปท. บนเวทีโลก

ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ และวิถีการทำงานของ ธปท. ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องมีความเชื่อมโยงสอดประสานกับต่างประเทศ  ธปท. บนเวทีโลก ในสายตา ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’

ในหน้าสื่อ คนมักมองเห็นหน้างานของ ธปท. เป็นเรื่องของการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก และมองไม่ค่อยเห็นมิติด้านต่างประเทศของ ธปท. นัก ในการทำงานจริง ธปท. ต้องทำงานด้านต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน และงานนี้สำคัญอย่างไร

การทำงานด้านต่างประเทศเป็นโจทย์ที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพราะเราเป็นประเทศที่ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (small and open economy) จึงมักได้รับผลกระทบค่อนข้างมาจากปัจจัยต่างประเทศ

เราทราบกันดีว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงภาคต่างประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว 

ในขณะที่ ธปท. มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งเสถียรภาพราคาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เสถียรภาพของระบบชำระเงิน ไปจนถึงการดูแลค่าเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ลองนึกภาพจะเห็นว่า ประเด็นเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งหมด ดังนั้น งานด้านต่างประเทศจึงจำเป็นมากในการทำให้ ธปท. บรรลุพันธกิจเหล่านี้ได้

การที่ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก ธปท. ตีโจทย์งานด้านต่างประเทศอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลและทรัพยากรของเราค่อนข้างน้อย เมื่อดูจากขนาดเศรษฐกิจ

ปัจจัยพื้นฐานในการทำงานด้านต่างประเทศไม่ได้ต่างจากการทำงานในประเทศ นั่นคือ ความไว้วางใจ (trust) และความน่าเชื่อถือ(credibility) การมีสองสิ่งนี้ทำให้ ธปท. ยังสามารถทำหน้าที่ได้ ลองนึกภาพในทางกลับกันว่า หากเราไม่ได้รับความไว้วางใจ หรือไม่น่าเชื่อถือในสายตาประชาคมระหว่างประเทศ ผลจะเป็นอย่างไร

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ซึ่ง trust และcredibility ของเราในการดำเนินนโยบายถูกบั่นทอนลง เห็นได้จากเงินทุนที่ไหลออก และเงินบาทที่อ่อนค่า จนทำให้เราไม่สามารถบรรลุพันธกิจในการรักษาเสถียรภาพได้

อีกตัวอย่าง หนึ่งที่ผมพูดถึงบ่อยคือ ประเทศอังกฤษซึ่งตอนนั้นรัฐบาลประกาศนโยบายการคลังที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีแผนงบประมาณรองรับที่ชัดเจน ความเชื่อมั่นจึงหายไปตลาดก็ตอบสนองอย่างรุนแรง ลองนึกภาพว่านั่นคือ ประเทศอังกฤษ เศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยมาก ความน่าเชื่อถือที่ผ่านมาก็ค่อนข้างสูง และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย ยังโดนหนักขนาดนี้ ดังนั้น

 สำหรับธนาคารกลาง การสร้าง และรักษาไว้ ซึ่งความไว้วางใจ และความมั่นใจเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ธปท. บนเวทีโลก ในสายตา ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’

ธปท. ทำอย่างไรในการสร้างความไว้วางใจ และความมั่นใจให้กับประชาคมเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ 

เมื่อต้องออกไปทำงานด้านต่างประเทศ ธปท. ต้องทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ ลองนึกถึงการไปหาหมอที่เราไว้ใจ จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถทั้งในเชิงทฤษฎี และประสบการณ์ทำงานจริง ซึ่งสำหรับคนทำงานนโยบายก็เหมือนกันคือ เราต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่ทำอย่างแท้จริง ตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งเรื่องนี้รวมถึงการยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่องด้วย เรื่องไหนที่ไม่รู้ เราก็พร้อมเรียนรู้ และปรับตัว

แต่แค่ความเป็นมืออาชีพยังไม่เพียงพอความไว้วางใจต้องเกิดจากธรรมาภิบาล(governance) ด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ หมอที่เราไปหาต้องไม่ใช่แค่เก่งอย่างเดียว แต่ต้องได้รับความเชื่อมั่นด้วยว่าเป็นหมอที่ดี
มีจรรยาบรรณ ไม่จ่ายยาผิดพลาด หรือต้องการแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว ธปท. ก็เช่นกันคนของเราเก่ง และมีหลักการอย่างเดียวไม่พอแต่จำเป็นต้องมี governance และ integrity ควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้คนไว้ใจเราได้

บนเวทีโลก ธปท. ได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหนในแง่ของ “ความเป็นมืออาชีพ” 

ผมมองว่าค่อนข้างมาก เพราะกลับมาที่หลักการของเราว่า การทำงานระหว่างประเทศของ ธปท. ไม่ใช่เรื่องของการเข้าไปในที่ประชุมแล้วกดไมค์พูดทุกเรื่อง หรือต้องพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษสวยหรู สิ่งที่สำคัญกว่าคือ  ความเข้าใจในหัวข้อนั้นอย่างแท้จริง มีหลักการและสื่อสารออกมาได้ เราจึงเน้นการพูดแชร์ในเรื่องที่เรารู้จริง มีข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะมีสิ่งเหล่านี้ได้ต้องเกิดจากประสบการณ์จริง และเรามีตัวอย่างในเรื่องเหล่านี้อยู่พอสมควร

ผมกล้าพูดว่า ธปท. เป็นผู้นำทางความคิดในการผลักดันวาระสำคัญด้านนโยบายที่เหมาะกับบริบทของเรา ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากลหลายเวที ซึ่งเราเป็นทั้งผู้นำทางความคิด และในทางปฏิบัติจริงด้วย เช่น กรอบความคิดเรื่องนโยบายการเงินแบบผสมผสานเครื่องมือ(Integrated Policy Framework: IPF) ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูภาพรวม ไม่ได้แยกดูเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ย แต่คำนึงถึงการใช้เครื่องมืออื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยตามความเหมาะสม ทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย และนโยบายดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน(macroprudential) 

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำ IPF ไปปฏิบัติจริงคือ เรามีการใช้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้อย่างสอดประสานกัน เพราะใช้เครื่องมือเดียวไม่เพียงพอเช่น ถ้าเป็นห่วงเรื่องเงินเฟ้อแล้วใช้ดอกเบี้ยมาดูแล บางทีอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้นก็ต้องมีเครื่องมืออื่นที่มาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย หรือการที่ ธปท. ประกาศขึ้นดอกเบี้ย อาจทำให้ลูกหนี้มีปัญหา ธปท. ก็ต้องมีมาตรการอื่นมารองรับผลกระทบจากนโยบายด้านดอกเบี้ยด้วย

แนวทางนี้ ไม่ใช่ ธปท. ทำเพียงแห่งเดียวแต่เรายังร่วมผลักดันกับหลายประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) โดยเฉพาะในอาเซียน จนเป็นที่ยอมรับในสายตาขององค์กรระหว่างประเทศ จากเดิมที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศมักจะยึดหลักการของกลไกตลาด จึงไม่ค่อยยอมรับการเข้าไปแทรกแซงตลาด โดยเฉพาะการเข้าไปบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน แต่สิ่งที่เราพยายามอธิบายคือ เศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิดนั้นได้รับผลกระทบจากการไหลเวียนของเงินทุน และความผันผวนของค่าเงินมาก ซึ่งเราไม่มีศักยภาพในการรับมือความผันผวนแบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงต้องมีเครื่องมืออื่นมาเสริม จนในปัจจุบันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ยอมรับ IPF แล้ว และ ธปท. มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันเรื่องนี้

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ ธปท. สามารถเป็นผู้นำทางความคิด และทำงานอย่างเป็นมืออาชีพบนเวทีโลกได้

เราแสดงให้คนเห็นได้ว่า กรอบความคิดในการทำงานไม่ใช่แค่เรื่องทฤษฎี แต่เมื่อนำไปใช้จริงแล้วต้องมีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เข้มแข็งสนับสนุนด้วย เพียงแต่ข้อจำกัดสำคัญของประเทศขนาดเล็กก็คือ เราไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ ต้องหาพันธมิตร ซึ่งที่ผ่านมาประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ก็ทำงานร่วมกับเราอย่างแข็งขัน

ธปท. ไม่ใช่แค่ผู้นำทางความคิดที่ผลักดันนโยบายแบบผสมผสาน แต่ยังเป็นผู้นำในด้านการปฏิบัติ (practice leadership) ด้วย มีหลายเรื่องที่ประเทศไทยถือว่าอยู่ระดับแถวหน้าของโลก โดยเฉพาะเรื่องระบบการชำระเงิน อย่างระบบพร้อมเพย์ที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 70 ล้านหมายเลข และใช้กันมากถึง 50 ล้านรายการต่อวัน ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีคนใช้mobile banking เป็นลำดับต้นๆ ของโลก 

อีกทั้งการเชื่อมโยงระหว่างระบบพร้อมเพย์กับเพย์นาว ของสิงคโปร์ยังเป็นโครงการแรกของโลกที่เชื่อมต่อระบบการโอนเงินแบบทันทีระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน และยังมีศักยภาพที่จะเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนต่อไปในอนาคตด้วย จะเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าที่อื่นเลย ต่างประเทศก็ให้ความสนใจตรงนี้มาก และอยากฟังประสบการณ์ของเรา

นอกจากนี้ ในเรื่องการทดลองทำนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เราทำได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะการทำสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ซึ่งเราเป็นประเทศต้นๆ ของโลกที่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากโครงการในประเทศที่ศึกษาการโอน CBDC ระหว่างสถาบันการเงินในประเทศ และต่อยอดมาเป็นโครงการ Multiple Currency CBDC Bridge (mBridge) ซึ่งเป็นการทดลองนำเงินสกุลดิจิทัลมาใช้สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(CBUAE) ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC) และ BIS ซึ่งก็ได้รับผลที่น่าพึงพอใจมาก เพราะจากเดิมการโอนเงินไปยังต่างประเทศที่ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 3-5 วัน ตอนหลังก็เหลือแค่หลักวินาที ทั้งต้นทุนก็ลดลงมากด้วย เป็นตัวอย่างที่ทุกประเทศให้ความสนใจ

แล้วในแง่ธรรมาภิบาล ต่างประเทศมอง ธปท. อย่างไร

ธปท. ได้รับเกียรติให้ไปอยู่ใน Central Bank Governance Group ของ BIS ซึ่งเป็นเวทีที่พูดเรื่องธรรมาภิบาลกันโดยเฉพาะ ซึ่งหลังจากไปร่วมหารือมาแล้วหลายครั้ง สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า ธรรมาภิบาลของ ธปท. ไม่ได้ด้อยกว่าต่างประเทศเลย มีหลายประเด็นที่เราไปแชร์กับต่างประเทศ และเป็นแนวปฏิบัติที่เขาสนใจ แลกเปลี่ยน เรียนรู้กันว่า ของใครมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

แม้โมเดลของแต่ละประเทศจะมีหลายอย่างต่างกัน แต่แก่นธรรมาภิบาลของธนาคารกลางคือ ความเป็นอิสระ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดด้วยว่าคุณมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ สำหรับ ธปท. การออกแบบการกำกับดูแลถือว่าทำได้ค่อนข้างดีคณะกรรมการหลัก ทั้ง 4 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการ ธปท. ที่กำกับดูแลกิจการทั่วไป คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ถูกออกแบบให้เป็นอิสระต่อกัน แต่ก็ทำงานร่วมกันได้ดี

การออกแบบคณะกรรมการ ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีกรรมการทั้งหมด 7 คน ก็เป็นคนใน ธปท. 3 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน ขณะที่โมเดลของต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นคนในมากกว่าคนนอกเสียอีก สะท้อนให้เห็นว่า เราค่อนข้างเปิดกว้างและรับฟังมากเลยทีเดียว และในแง่ของกระบวนการสรรหานั้น เราก็คัดเลือกกันค่อนข้างเข้มข้น ยากมากที่จะมีใครเข้ามาแทรกแซง ตรงนี้ก็ช่วยรับประกันความเป็นอิสระของ ธปท. ได้

 

เวลาพูดถึงความเป็นอิสระ สิ่งที่คนมักถามหาด้วยคือ การรับผิดรับชอบ ธปท. ออกแบบเรื่องนี้อย่างไร

โดยหลักการ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น(flexible inflation targeting) ซึ่งกำหนดชัดเจนว่า เงินเฟ้อต้องอยู่ที่ 1-3% เมื่อไหร่ที่หลุดจากกรอบนี้ ธปท. ต้องทำรายงานไปที่กระทรวงการคลัง และมีจดหมายชี้แจงถึงเหตุและผล ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดเผย และโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม ธปท. ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร และชี้แจงต่อสาธารณะด้วย เราพยายามทำให้กระบวนการทำงานโปร่งใสที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระบวนการทำงานของ กนง. เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ตั้งแต่การมีทีมเลขานุการที่เตรียมข้อมูลต่างๆ ให้กรรมการ และการมีกำหนดการประชุมชัดเจน ภายหลังการประชุมก็มีแถลงการณ์ด้วยว่าตัดสินใจอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร และยังเปิดเผยบันทึกการประชุมอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีรายงานนโยบายการเงินที่อธิบายในเชิงวิชาการอย่างละเอียดออกมาด้วย ในแง่ความโปร่งใส โมเดลแบบที่เราใช้นี้ก็ไม่ได้ด้อยกว่าที่อื่นเลย

อะไรคือ ความท้าทายหรือความยากของการทำงานด้านต่างประเทศ

ความไว้ใจ และความน่าเชื่อถือ มักเป็นสิ่งที่เราคิดว่า “เป็นของตาย” จนอาจมองข้ามความสำคัญไป หรือไม่รู้สึกจนกระทั่งมันหายไป แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้น มันจะหายไปเร็วมาก และต้องใช้ความพยายาม และเวลาอย่างมากในการรื้อฟื้นกลับมา บทเรียนจากวิกฤติ 2540 สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีมาก

อีกเรื่องคือ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก และเป็นประเทศกำลังพัฒนาเราต้องให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วเสียอีก เพราะโดยธรรมชาติคนก็มองว่า เศรษฐกิจของประเทศลักษณะนี้มีความเสี่ยงมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว พูดง่ายๆ คือ ต่างชาติค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพของเรามาก เป๋เมื่อไหร่ เขาก็พร้อมตอบสนองทันที

ว่ากันตามจริง เรื่องเหล่านี้มักจะถูกพิสูจน์ยามเกิดวิกฤติ หรือเกิดช็อก ธปท. มีวิธีการอย่างไรที่ทำให้โลกเห็นว่า เรามีเครดิตมากพอในการรับมือปัญหาใหม่ๆ

คงต้องทำหลายอย่าง แต่หนึ่งในนั้นคือ การทำสิ่งที่แม้จะไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่มีความจำเป็นต้องทำ ยกตัวอย่างเช่น ความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ในมุมหนึ่ง ธปท. รู้และตระหนักดีว่า การขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่นโยบายที่คนชอบ และอาจส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ แต่ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแล้ว ไม่ทำอะไรเลย ความน่าเชื่อถือในแง่ของการดูแลเสถียรภาพก็จะเสียไป ซึ่งถ้าเสียไปแล้วจะเสียหายกว่ามาก นี่เป็นตัวอย่างของความจำเป็นในการรักษาความน่าเชื่อถือ

ขอยกตัวอย่างในด้านกลับกันบ้าง เมื่อปีที่แล้วที่เงินเฟ้อโลกสูงมาก และมีผลกระทบมายังประเทศไทยด้วย ตอนนั้นธนาคารกลางใหญ่ๆ ต่างพากันขึ้นดอกเบี้ยแรงกันหมด แต่ ธปท. เลือกขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยไปค่อยไป และก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าขึ้นดอกเบี้ยช้า และขึ้นไม่แรงพอ ซึ่งตอนนั้นเราก็ได้อธิบายไปว่าการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมาะกับบริบทไทยมากกว่า

ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นคือ ในฐานะธนาคารกลางของประเทศ ธปท. มีหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจไทย จึงต้องติดตามว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลก และโลกคิดอย่างไร เรื่องพวกนี้เราต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ แต่เสร็จแล้วต้องกลับมาวิเคราะห์ว่าเราอยู่ตรงไหน ต้องชั่งน้ำหนัก และตัดสินใจให้เหมาะกับเศรษฐกิจเรา

มองเห็นช่องว่างที่ ธปท. จะยกระดับในงานต่างประเทศได้อีกไหม

อันดับแรกคือ เรื่อง “คน” คน ธปท. มีความรู้ ความสามารถ แต่มักจะกังวลกับเรื่องภาษาอังกฤษ กลัวว่าสำเนียงไม่ดี ซึ่งน่าเสียดายเพราะจริงๆ แล้ว เวลาเราไปเวทีระหว่างประเทศ คนประเทศอื่นๆ ก็พูดภาษาอังกฤษสำเนียงแบบของเขา ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลยอย่างที่บอกไปแล้วว่า สิ่งที่สำคัญกว่าคือ “ข้อมูล
เชิงลึก” อะไรที่เราทำมากับมือ เราไปแชร์กับโลกได้สบาย อันนี้เป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งผมอยากเชียร์ให้คน ธปท. กล้าออกไปพูดมากขึ้น และยึดติดกับความสมบูรณ์ของภาษาน้อยลง

อีกเรื่องที่ คน ธปท. ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่อยากบันทึกไว้คือ เวลาออกไปข้างนอก เราต้องฟังด้วย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากของงานต่างประเทศ ต้องฟังให้เยอะ ไม่เป็นน้ำเต็มแก้วเพราะหลายเรื่องพอเราทำมาเยอะ คนมองว่าเราเชี่ยวชาญ ก็อาจเผลอคิดว่าตัวเองรู้เยอะ และลืมที่จะฟัง

อีกเรื่องคือ ระบบของ ธปท. ที่ยังทำงานกันแบบแยกส่วนกันอยู่ เวลาที่เราส่งคนไปต่างประเทศ ได้ความรู้ และประสบการณ์กลับมา ก็อยากให้ความรู้เหล่านี้ถูกแชร์ไปทั้งองค์กร และกลายเป็นองค์ความรู้ของส่วนรวม ไม่ผูกติดอยู่กับคนใดคนหนึ่ง ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ การจัดการความรู้ภายในของ ธปท. ยังต้องดีกว่านี้แม้ที่ผ่านมา เราพยายามปรับให้เป็น One BOT มากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่ายังมีช่องว่างให้ยกระดับอีกมาก

ธปท. มีองค์ความรู้สะสมอยู่มาก แต่การจะมีระบบที่ทำให้คน 3,000 คน เข้าถึงความรู้ที่สะสมมานี้
ก็เป็นโจทย์ที่หินมาก

นอกจากความสัมพันธ์แบบมืออาชีพแล้ว เราถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารกลางอื่นๆ ไหม

ดีมากที่ชวนคุยเรื่องนี้ เพราะผมเตรียมมาแต่ลืมเหมือนกัน 

ด้านซอฟต์ไซด์เป็นด้านที่ คน ธปท. เก่งนะเรียกว่าอยู่ในดีเอ็นเอของเราเลย ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยคือ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่เราจัดงานสัมมนาร่วมกับ BIS เนื่องในวาระครบรอบ 80 ปี ของ ธปท. เราได้รับเกียรติจากตัวแทนธนาคารกลางระดับสูงมาจากทั่วโลก มันสะท้อนให้เห็นว่า เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ และหลายคนก็ประทับใจกับการต้อนรับขับสู้ของเรา 

ทั้งในเวทีทวิภาคี และพหุภาคี ทำให้เราได้ทำงานกับธนาคารกลางอื่นๆ อย่างใกล้ชิด และก็ได้ประโยชน์มาก เวลาร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกัน ประเทศต่างๆ ก็แชร์เรื่องอินไซด์กันซึ่งดีมาก โดยเฉพาะธนาคารกลางจากประเทศที่มีบริบทคล้ายกับเรา เวลาแชร์ปัญหา เล่าปัญหา ก็จะเจอคล้ายๆ กัน หลายครั้งคุยกันไม่ได้คำตอบ ก็ถือว่าเป็นการปรับทุกข์กันไป เป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ 

จริงๆ ความร่วมมือระหว่างประเทศไม่ได้มีแค่เรื่องวิชาการเท่านั้น ในระดับพนักงานก็มีการจัดงานกระชับมิตรกันอยู่เรื่อยๆ เช่น การแข่งกีฬา งานเลี้ยงต่างๆ ก็ผลัดกันเป็นเจ้าภาพในแง่หนึ่ง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนหวาน เฟรนด์ลี่แบบคนไทยก็ทำให้เราเป็นที่รักซึ่งฟีดแบ็กจากเพื่อนๆ พันธมิตรประเทศต่างๆ ตรงนี้ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าดีใจมาก

​จากเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานด้านต่างประเทศของ ธปท. ที่ ดร.เศรษฐพุฒิ เล่าให้ฟังด้วยตัวเองนั้น ทำให้รู้สึกว่า เมื่อต้องอยู่บนเวทีโลกแล้ว ธปท. จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้เลย แต่ต้องใช้ทั้งความเป็นมืออาชีพ ที่มีทั้งความรู้จริง ข้อมูลเชิงลึก และผ่านประสบการณ์จริง เพื่อที่จะได้นำไปแบ่งปันให้กับธนาคารกลางอื่น และเพื่อที่จะได้รับความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจกลับมา ขณะเดียวกัน การบริหารงานที่โปร่งใส เป็นอิสระ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงการสร้างมิตรภาพที่ดีกับธนาคารกลางต่างๆ ก็มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งถือว่า ธปท. สามารถทำได้อย่างดีในการผลักดันทั้งโจทย์ของประเทศ และโจทย์ร่วมของส่วนรวมให้สำเร็จลุล่วง

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์  ธปท. บนเวทีโลก ในสายตา ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’