ธปท.ชี้ ยอดลูกหนี้ ขอรับความช่วยเหลือจากแบงก์ของไทย มากที่สุดเทียบ 6 ประเทศ

ธปท.ชี้ ยอดลูกหนี้ ขอรับความช่วยเหลือจากแบงก์ของไทย มากที่สุดเทียบ 6 ประเทศ

ธปท.ชี้ ลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ปัจจุบัน อยู่ที่ 3.52 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 6.37 ล้านบัญชี ซึ่งคิดเป็น 11% ของสินเชื่อทั้งหมด เป็นระดับสูงสุด หากเทียบกับ 6 ประเทศ

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ปัจจุบัน อยู่ที่ 3.52 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 6.37 ล้านบัญชี ซึ่งคิดเป็น 11% ของสินเชื่อทั้งหมด ถือเป็นระดับสูงสุด หากเทียบกับ 6 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การช่วยเหลือราว 1% ขณะที่ อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย อินเดีย อยู่ที่ราว 1-5%

ทั้งนี้ ลูกหนี้ภายใต้การช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก การเข้าถึงสินเชื่อครัวเรือนของไทยอยู่ระหว่างสูงอย่างต่อเนื่อง และยังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ยิ่งทำให้ลูกหนี้มีความเปราะบางมากขึ้น บวกกับ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย อาจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนในระยะข้างหน้า ในไตรมาส 4 ที่จะออกมา น่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับเกิน 91% จากระดับ 90.9% จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งมาจาก การชำระหนี้ของครัวเรือนที่ด้อยลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะครัวเรือนที่เปราะบาง จากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า

 

กรณีที่มีข้อเรียกร้องจาก สภาพัฒน์ เพื่อให้ทบทวนการปรับอัตราขั้นต่ำบัตรเครดิตลดลงเหลือ 5% จาก 8% เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ส่วนนี้ ธปท.จะรับข้อเสนอไป และจะนำไปหารือร่วมกับสภาพัฒน์ร่วมกันในระยะข้างหน้า เพื่อข้อดี และข้อเสียของการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว โดยลดผ่อนอัตราการจ่ายขั้นต่ำลดลง ดีต่อลูกหนี้ ระยะสั้น และทำให้ลูกหนี้มีภาระผ่อนลดลง แต่ระยะยาวลูกหนี้อาจต้องเผชิญกับภาระผ่อนที่มากขึ้น และยาวนานขึ้นไม่สามารถปิดจบหนี้ได้โดยเร็ว

ยกตัวอย่าง วงเงินบัตรเครดิตที่ 80,000 บาท ดอกเบี้ยที่ 16% หากลูกหนี้ผ่อนต่อเดือนเกิน 500 บาท จะใช้ระยะเวลาปิดหนี้ ถึง 8 ปี 6 เดือน ขณะเดียวกันหากลูกหนี้จ่ายขั้นต่ำไม่เกิน 500 บาท หรือต่ำกว่า 5% อาจต้องใช้เวลาในการปิดหนี้ถึง 10 ปี 3 เดือน ดังนั้น จะเห็นว่า การจ่ายขั้นต่ำ แม้จะมีผลดีระยะสั้น แต่เป็นการสร้างหนี้ระยะยาวต่อลูกหนี้ ในขณะที่แบงก์จะได้รับประโยชน์มากขึ้น จากการที่ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยยาวนานขึ้น

“การปรับอัตราขั้นต่ำของบัตรเครดิตมาอยู่ที่ 8% ในปัจจุบัน จาก 5% เป็นการทยอยปรับ ไม่ได้ปรับรวดเร็วจาก 5% เป็น 10% ทีเดียว เพราะเราตระหนักดีกว่า จะมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ไหว ดังนั้นจึงให้ธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้ง 11ราย มีการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับลูกหนี้ที่ไม่ไหว โดยให้ปรับจากบัตรเครดิต เป็นสินเชื่อผ่อนชำระ เพื่อลดภาระลูกหนี้ และให้ลูกหนี้มีระยะเวลา ปิดจบหนี้ได้ในอนาคต”

จับตาหนี้เสียไหลไม่หยุดในเอสเอ็มอี-ครัวเรือน

ส่วนทิศทางหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 4 ที่ 4.92 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเอ็นพีแอลที่ระดับ 2.66% แม้ภาพรวมลดลง แต่สัญญาณหนี้ด้อยคุณภาพยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และสินเชื่อครัวเรือน หรือสินเชื่ออุปโภคบริโภค จากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น และครัวเรือนบางกลุ่มยังมีฐานะเปราะบาง จากรายได้ที่ฟื้นตัวช้าภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่

อย่างไรก็ตาม หากดูหนี้เสียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีสินเชื่อต่ำกว่า 500 ล้านบาท ที่หนี้เสียมาอยู่ที่ 6.66% จาก 6.64% ขณะที่ สินเชื่ออุปโภคบริโภค หนี้เสียเพิ่มขึ้นทุกพอร์ต โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท

โดยสินเชื่อบ้านเป็นหนี้เสียเพิ่มเป็น 3.33% จาก 3.24% ส่วนสินเชื่อรถยนต์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13% จาก 2.10% สินเชื่อส่วนบุคคล 2.48% จาก 2.58% และ สินเชื่อบัตรเครดิต 3.57% จาก 3.34%

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ธปท. เห็นสัญญาณของการเพิ่มขึ้นของ SM ที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ 5.86% จาก 5.84% ดังนั้นแม้ว่าจะหมดมาตรการฟ้าส้ม หรือการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการของ ธปท. แต่ธปท.ยังให้แบงก์ช่วยลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอการไหล จากกลุ่มลูกหนี้ SM ไปเป็น หนี้เสีย

“หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ยังไม่เกิด NPL Cliff หรือหน้าผาเอ็นพีแอล และหากดูตัวเลข หนี้เสียของระบบแบงก์พาณิชย์ อาจไม่ได้เปราะบางเท่าลูกค้าแบงก์รัฐ หรือนอนแบงก์ แม้ว่าจะหมดมาตรการฟ้าส้ม แต่การช่วยเหลือของแบงก์ก็จะไม่หมดไป ยังให้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง เพื่อชะลอการเกิดขึ้นของเอ็นพีแอล ทั้งก่อนที่จะเป็นเอ็นพีแอล หรือหลังเป็นหนี้เสียก่อนที่จะส่งฟ้องลูกหนี้”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์